ศาลยกฟ้องแกนนำ พธม.ไม่ผิด พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ชุมนุมค้านเขาพระวิหาร
ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้อง 10 แกนนำพันธมิตรฯ ชุมนุมไม่ผิด พ.ร.บ.มั่นคงฯ กรณีคัดค้านกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกปี 53
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2560 ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่ อ.607/2548 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 (ดุสิต) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายประพันธ์ คูณมี, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สมณะโพธิรักษ์, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายเทิดภูมิ ใจดี, นายพิภพ ธงไชย, นายรัชต์ยุตม์ หรืออมร ศิรโยธินภักดี, นายทศพล แก้วทิมา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนประกาศ และข้อกำหนดห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ หรือสถานที่ที่กำหนด ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ซึ่งอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2558 กรณีเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2554 กลุ่ม พธม. และกลุ่มที่ใช้ชื่อ “เครือข่ายประชาชนคนไทยหัวใจรักชาติ” ได้ตั้งเวทีชุมนุมที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งแกนนำได้สลับกันขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีการบริหารประเทศของรัฐบาลกรณีความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่มีเหตุการณ์กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
โดย น.ส.อัจฉรา แสงขาว ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าการประกาศพื้นที่ห้ามตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 2 มี.ค. 2554 หลังจากที่พวกจำเลยร่วมกันชุมนุม ทางข้อกฎหมายจึงไม่อาจบังคับโทษได้
ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กล่าวว่า คดีนี้กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องแผ่นดินและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ร่วมชุมนุมเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียวและกรณีนำคดีปราสาทเขาพระวิหารและพื้นที่โดยรอบไปตีความที่ศาลโลก รวมทั้งการขึ้นทะเบียนทะเบียนมรดกโลกเมื่อปี 2553-2554 ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ศ.2551 พร้อมประกาศพื้นที่ห้ามชุมนุม ซึ่งเราได้ต่อสู้คดีในหลายประเด็น หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ การออกประกาศที่เป็นโทษกับประชาชนจะต้องลงประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาก่อน แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้เอาผิดกับประชาชนก่อนที่จะประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา กรณีดังกล่าวกฎหมายจึงไม่สามารถบังคับใช้ได้และผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 10 คน จึงไม่มีความผิด ดังนั้นศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งถือเป็นคดีแรกในรอบหลายปี ที่ได้มีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม แล้วศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิด เพราะเห็นว่ามีการกระทำผิดขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอุธาหรณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าการจับกุมลักษณะเช่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
“ที่จริงแล้วบทลงโทษในคดีนี้อาจจะไม่มาก เนื่องจากเป็นความผิดพ.ร.บ.ความมั่นคง แต่เราตัดสินใจต่อสู้คดีโดยใช้เวลาถึง 6 ปีเต็ม เพื่อหวังว่าสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะต้องถูกต่อสู้ทางคดีความจากประชาชน เพื่อหวังจะสร้างบรรทัดฐานในเรื่องการชุมนุมกับการบังคับใช้กฎหมายโดยมิชอบให้ได้รับความเป็นธรรมกับประชาชน” นายปานเทพ กล่าว