ปรับโครงสร้างทางการเงินของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
วันที่ 30 พ.ค.2560 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
3. รับทราบการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในส่วนที่ไม่ใช่ลูกค้ามุสลิม พร้อมหลักประกันให้บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) ที่ราคาโอนในราคามูลค่าตามบัญชีสุทธิ (Net Book Value)ณ วันโอนสินทรัพย์ส่วนการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยต้นเงิน ดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และสำรองเพื่อการดำเนินงานในส่วนที่เกินจากรายรับในแต่ละปีให้กับ IAM ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยให้ IAM จัดทำประมาณการทางการเงินและแผนการขอใช้งบประมาณเพื่อชดเชยผลการดำเนินงานเป็นรายปีเสนอสำนักงบประมาณต่อไป
4. เพื่อให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) สามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินได้ตามแผน ที่กำหนดไว้ ให้กค. โดย ธอท. ดำเนินการ ดังนี้
4.1 พิจารณาสรรหาพันธมิตรที่มีศักยภาพและเชี่ยวชาญในการให้บริการทางการเงิน แก่ประชาชนและผู้ประกอบการตามหลักศาสนาอิสลาม โดยอาจพิจารณาสรรหาพันธมิตรจากทั้งในและต่างประเทศ
4.2 จัดทำแผนปฏิบัติการของแผนปรับโครงสร้างทางธุรกิจของ ธอท. และตัวชี้วัดในการประเมินผลให้ชัดเจน ตลอดจนพิจารณาจัดทำแผนรองรับในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่เสนอมาในครั้งนี้ได้ โดยให้เสนอแผนดังกล่าว คนร. พิจารณาต่อไป รวมทั้งเห็นควรให้กค. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) คนร. และธนาคารแห่งประเทศได้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินการตามแผนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาหาแนวทางเพิ่มความเข้มงวดในการประเมินผลการดำเนินงานของ ธอท. เช่น กำหนดให้ตัวชี้วัดการดำเนินงานของ ธอท. มีผลต่อการประเมินผู้บริหาร ทั้งในด้านการประเมินผลงาน การประเมินผลตอบแทน ตลอดจนสภาพการจ้าง
4.3 เร่งรัดดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำให้ ธอท. และภาครัฐได้รับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการด้วย
4.4 เร่งรัดดำเนินการเสนอกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของ IAM ให้ คนร. พิจารณา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 และให้จัดทำแผนการดำเนินงานของ IAM ให้ชัดเจน ซึ่งประกอบด้วย แผนการขอใช้งบประมาณเพื่อชดเชยผลการดำเนินงาน แผนการขอใช้บุคลากรจาก ธอท. และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5. สำหรับการดำเนินการตามแผนการเพิ่มรายได้ของ ธอท. โดยการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อขนาดใหญ่ที่มีวงเงินมากกว่า 200 ล้านบาท นั้น ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาการทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นรายกรณีอย่างรอบคอบและรัดกุม โดยต้องคำนึงถึงระดับความเสี่ยงด้านเครดิตที่เหมาะสมและต้องไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและการดำเนินงานในภาพรวมของ ธอท.
ทั้งนี้ การดำเนินการในทุกขั้นตอนจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย