ภาคประชาชนหวั่นแก้ กม.บัตรทอง ไม่เปิดรับฟังอย่างแพร่หลาย
อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแนะ ประชาชนที่มีสิทธิ์พูดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนก่อนเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นแต่ไม่อยากลงทะเบียนกลับต้องรอ ทั้งนี้ การจัดการหรือเตรียมการก่อนทำประชาพิจารณ์เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ควรเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางให้แสดงความเห็นด้วย
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงการเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์พิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ .. พ.ศ. .... ) รวม 5 เวที ที่จะดำเนินการภายในเดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับประชาพิจารณ์ คือ ประชาชนที่มีสิทธิ์พูดเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนก่อนเท่านั้น ขณะที่ผู้ที่ต้องการแสดงความเห็นแต่ไม่อยากลงทะเบียนกลับต้องรอ ทั้งนี้ การจัดการหรือเตรียมการก่อนทำประชาพิจารณ์เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ควรเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางให้แสดงความเห็นด้วย
“เท่าที่ทราบมา คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายจะรับฟังและบันทึกเฉพาะประเด็นที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขเท่านั้น ขณะที่ประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในความกังวลของภาคประชาชนจะไม่มีการบันทึกไว้ ซึ่งหากกรณีนี้เป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าเป็นเวทีประชาพิจารณ์ที่น่าผิดหวัง” นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า กระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพในประเด็นการเปิดรับฟังอย่างแพร่หลายยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่ประชาชนต้องการให้เกิดการแก้ไข แต่ขณะเดียวกันหากคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายไม่รับฟัง ก็ถือว่าเป็นความคับแคบอย่างมาก ทั้งๆ ที่การแก้ไขกฎหมายควรจะมาจากการที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมด้วย เพราะเป็นการแก้ไขเพื่อส่วนรวมอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
“กระบวนการมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญในกฎหมายหลักประกันสุขภาพ แต่กระบวนการแก้ไขครั้งนี้กลับละเลยภาคประชาชน ทั้งที่ รัฐบาลออกมาตรา 44 เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว และให้ใช้เป็นแนวทางสำคัญสำหรับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพครั้งนี้ แต่เท่าที่ดูคณะกรรมการกำลังจะละเลยที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายนี้” นายนิมิตร์ กล่าว
อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า อีกเรื่องที่ค่อนข้างกังวลคือการเพิ่มสัดส่วนจำนวนกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้น้ำหนักกับฝั่งผู้ให้บริการมากเกินไป และลดทอนในสัดส่วนอื่นๆ ตรงนี้อาจเสียสมดุลและอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมตามมาได้ในอนาคต