เบื้องหลัง!อผศ.ร่วมเอกชนลงทุน‘โซลาร์เซลล์’ -เปิด 21 บริษัท ก่อนถูกร้องปมเรียกเงิน?
“…มีเสียงซุบซินกันในหมู่เจ้าหน้าที่ อผศ. จนถึงชั้นผู้บริหารระดับสูงบางรายว่า มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลของทหารยศนายพล เรียกกันว่า ‘เสธ.จ.’ ที่เป็น ‘คนสนิท’ ของผู้บริหารระดับสูงใน อผศ. บางราย เข้ามา ‘ยุ่มย่าม’ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการนี้ โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้เรียกรับเงินจากบรรดาเอกชนที่วิ่งเต้นเพื่อให้รับคัดเลือกร่วมทุน รายละ 1 ล้านบาท…”
องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ได้รับการจับตาจากสาธารณชนอีกครั้ง!
เมื่อถูกกลุ่มธรรมาภิบาล ยื่นเรื่องถึง ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมกับกระทรวงกลาโหม ให้ตรวจสอบ การคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2560 จำนวน 100 เมกะวัตต์ ของ อผศ.
เบื้องต้น มีข้อกล่าวหาว่า กลุ่มผู้มีอิทธิพล นำโดย ‘เสธ.จ.’ อ้างชื่อ คสช. และ พล.อ.ประวิตร เรียกรับเงินผลประโยชน์จากเอกชนที่เข้ามาวิ่งเต้นในโครงการดังกล่าว โดยเรียกหัวคิวรายละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการนี้
อย่างไรก็ดี พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ผอ.อผศ. คนปัจจุบัน ออกโรงโต้ทันควันยืนยันว่า การคัดเลือกเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ บริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรวจสอบได้ ส่วนกรณีการเรียกเงินหัวคิวนั้น ให้ยื่นพยานหลักฐานแก่ อผศ. เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทันที
(อ่านประกอบ : ปูดชื่อ‘เสธ.จ.’คนอ้าง คสช.-ประวิตร เรียกเงิน ‘โซลาร์เซลล์’ อผศ.-ร้อง‘บิ๊กตู่-กห.’สอบ, ส่งหลักฐานได้ทุกช่องทาง!ผอ.อผศ.ลั่นเอาผิดคนอ้างชื่อคสช.-ประวิตรรับปย.โซลาร์เซลล์)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปข้อเท็จจริงเบื้องต้นให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้
โครงการนี้เกิดขึ้นช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2560 ตามประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้ส่วนราชการ และสหกรณ์ เข้ามาดำเนินการดังกล่าว หลังจากนั้นให้หาเอกชนมาร่วมทุนเพื่อทำโครงการ
ในส่วนราชการที่เข้าร่วมโครงการนี้นั้น รายงานข่าวแจ้งว่า มีอยู่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี ของกองทัพเรือ และ อผศ. อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยรัฐแห่งดังกล่าว และฐานทัพเรือสัตหีบ ไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากขัด พ.ร.บ.ร่วมลงทุนเอกชนฯ
ส่งผลให้ อผศ. ‘คว้าชัย’ ได้โครงการดังกล่าวไป
ต่อมา อผศ. จ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อช่วยคัดเลือกเอกชนให้มาร่วมลงทุน โดยใช้หลักเกณฑ์แบบ ‘วัดคะแนน’ โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเอกชนแต่ละแห่ง โดยเอกชนที่คะแนนเกินกว่า 60 (เต็ม 100) จะมีโอกาสได้สิทธิในการร่วมลงทุน
กระทั่งคัดเหลือเบื้องต้น 21 บริษัท (แต่ท้ายที่สุดจะคัดเลือกเหลือประมาณ 10-15 บริษัท แต่ปัจจุบันยังไม่ดำเนินการ)
สำหรับเอกชน 21 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นของ อผศ. ได้แก่ 1.บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท บางจาก โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี (ปราจีนบุรี) จำกัด 3.บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ 1 จำกัด 5.บริษัท ยันฮี โซล่า เพาเวอร์ จำกัด 6.บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด 7.บริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด 8.บริษัท มีเดียมาร์ค จำกัด 9.บริษัท อีเลคตริก้า เอเชีย เพาเวอร์ จำกัด 10.บริษัท ซี ออน ท๊อป จำกัด
11.บริษัท เอส ที เอฟ อี โซล่า จำกัด 12.บริษัท ไพร์ม โรด กรุ๊ป จำกัด 13.บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อินดัสตรี จำกัด 14.บริษัท เสริมสร้าง โซลาร์ จำกัด 15.บริษัท เพียวไลท์ พลังงานทางเลือก จำกัด 16.บริษัท อินทิเกรทเต็ดโซล่าร์ จำกัด 17.บริษัท อัพเดท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 18.บริษัท กันกุล โซลาร์ พาวเวอร์ 5 จำกัด 19.บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด 20.บริษัท แสงสะอาดพลังงานแสงอาทิตย์ จำกัด 21.บริษัท เบทเทนเนอร์ยี่ จำกัด
(ดูเอกสารประกอบ : http://energywvo.blogspot.com/2017/05/2560.html)
อย่างไรก็ดีมีเงื่อนปมที่น่าสงสัยหลายประการ ?
หนึ่ง การคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าไปดำเนินการร่วมลงทุนซ้ำ 2 ครั้ง
ก่อนหน้าที่ อผศ. จะจ้างบริษัทที่ปรึกษา และทำเกณฑ์คะแนนคัดเลือกเอกชนจนเหลือ 21 ราย ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2560 นั้น เมื่อปลายปี 2559 สำนักงานกิจการพลังงาน อผศ. ดำเนินการขึ้นทะเบียนเอกชนที่ทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเอกชนแต่ละแห่งต้องจ่ายเงินแห่งละ 50,000 บาท เพื่อเป็นค่าเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติ มีเอกชนประมาณ 230 แห่ง ผ่านการขึ้นทะเบียน (รวมวงเงินที่ต้องจ่าย อผศ. ประมาณ 11.5 ล้านบาท) โดยเงิน 50,000 บาท ดังกล่าว หากไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้าย จะไม่ได้เงินคืน
ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า อผศ. ทราบได้อย่างไรว่า ต่อมาในต้นปี 2560 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะดำเนินการให้ส่วนราชการเข้าร่วมในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว ถึงได้มีการขึ้นทะเบียนเอกชนไว้ตั้งแต่ต้น ?
สอง การจ้างบริษัทที่ปรึกษา
กรณีนี้ถูกตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า ในช่วงปลายปี 2559 สำนักงานกิจการพลังงาน อผศ. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติเอกชนเพื่อขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ทำไม อผศ. จึงต้องจ้างบริษัทเอกชนเพื่อดำเนินการคัดเลือกซ้ำอีก และทำไมถึงกำหนดเกณฑ์เป็น ‘คะแนน’ ทั้งที่หากเปิดให้เอกชนทั้ง 230 แห่ง (ตอนแรก) ประมูลงานแข่งขันกัน จะทำให้ อผศ. และราชการได้รับประโยชน์มากกว่า
และบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าว คือบริษัทอะไร มีตัวตนจริงหรือไม่ด้วย ?
สาม ปมเรียกรับหัวคิว
มีเสียงซุบซินกันในหมู่เจ้าหน้าที่ อผศ. จนถึงชั้นผู้บริหารระดับสูงบางรายว่า มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลของทหารยศนายพล เรียกกันว่า ‘เสธ.จ.’ ที่เป็น ‘คนสนิท’ ของผู้บริหารระดับสูงใน อผศ. บางราย เข้ามา ‘ยุ่มย่าม’ เกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการนี้ โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้เรียกรับเงินจากบรรดาเอกชนที่วิ่งเต้นเพื่อให้รับคัดเลือกร่วมทุน รายละ 1 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ (จาก 100 เมกะวัตต์ ที่ อผศ. ได้งานมา)
นี่คือข้อสังเกตเบื้องต้นของการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งภายหลังเกิดข้อครหาขึ้น มีเอกชนหลายราย เข้าชื่อยื่นเรื่องให้ อผศ. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง แต่เรื่องยังเงียบอยู่ กระทั่งมีเอกชนบางราย ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองชั่วคราว ระงับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในขั้นตอนสุดท้ายไว้ก่อนแล้ว
ท้ายสุดข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ‘เสธ.จ.’ คือใคร คงต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป !