QS จัดอันดับจุฬาฯ ติด TOP 150 ของโลก สาขา Accounting & Finance
จุฬาฯ คว้าอันดับ 1 ของไทยประจำปี 2017 ในสาขา Accounting & Finance และ สาขา Business & Management ด้วยการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า QS จากประเทศอังกฤษ เป็นหน่วยงานในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยปี 2017 QS World University Rankings by Subject ในสาขาการบัญชีและการเงิน (Accounting & Finance) ในประเทศไทยมีเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงสถาบันเดียวที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 150 อันดับแรกของโลก และในสาขาการบริหารจัดการบริหารธุรกิจ (Business & Management) นั้น มีเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงสถาบันเดียว ที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 200 อันดับแรกของโลก และถือเป็นอันดับ 1 ของไทย ตามด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กลุ่มอันดับที่ 201-250 ของโลก) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (กลุ่มอันดับที่ 251-300 ของโลก)
นอกจากนี้ จุฬาฯ ยังติด 1 ใน 5 อันดับมหาวิทยาลัยในอาเซียน มีเพียงมหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ 3 แห่ง ที่มีอันดับดีกว่าจุฬาฯ ได้แก่ National University of Singapore, Nanyang Technology University, Singapore Management University และมหาวิทยาลัยของมาเลเซีย
รองศาสตราจารย์ ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวถึงการจัด QS World University Rankings by Subject นั้น ทาง QS ได้จัดอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2014 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่ 4 ประการด้วยกันได้แก่
1. ชื่อเสียง (Academic reputation) ซึ่งทาง QS จะมีการสำรวจนักวิชาการทั่วโลกกว่า 70,000 ท่าน เพื่อสอบถามว่าในแวดวงวิชาการของแต่ละสาขาแล้ว มหาวิทยาลัยใดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในมุมมองของนักวิชาการ
2. ชื่อเสียงกับผู้จ้างงาน (Employer reputation) ทาง QS จะมีการสอบถามองค์กรหรือนายจ้างต่างๆ กว่า 40,000 รายทั่วโลก เพื่อสอบถามถึงมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศของตนเองและในต่างประเทศ ว่าเป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากที่สุด
3. จำนวนการอ้างอิง (Research citations per paper) เป็นการวัดว่าผลงานทางวิชาการของคณาจารย์ในสถาบันต่างๆ ได้รับการยอมรับและมีการอ้างถึงมากน้อยเพียงใด โดยเป็นการวัดในรูปแบบของจำนวนการอ้างอิงถึงทางวิชาการ (citation) ต่อผลงาน
4. การอ้างอิงและผลกระทบ ( H-index) เป็นการวัดว่าผลงานทางวิชาการที่ได้มีการตีพิมพ์นั้น มีอิทธิพลหรือผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากผลงานทางวิชาการที่มีการอ้างอิงมากที่สุด และจำนวนครั้งที่ได้รับการอ้างอิง
รศ.ดร.พสุ กล่าวถึงปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการบริหารคณะฯ ให้สำเร็จเป็นสถาบันอันดับหนึ่งของไทยได้นั้น เกิดจากพันธกิจของคณะที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การผลิตบัณฑิตเพื่อออกไปเป็นผู้นำทางธุรกิจในสังคม หรือ การผลิตผลงานทางวิชาการที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ แต่ยังเป็นการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่สังคมไทยที่มีความยั่งยืน หรือ Sustainable Thai Society ดังนั้นที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จึงได้นำเป้าหมายหลายข้อของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดไว้มาเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการดำเนินงาน
"คณะฯ ได้ใช้ SDGs สี่ข้อคือ No Poverty, Quality Education, Decent Work and Economic Growth , Industry, Innovation, and Infrastructure เป็นแนวทางในการกำหนดกิจกรรมในด้านต่างๆ ของคณะ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน โดยในปี 2559 กิจกรรมต่างๆ ของคณะ ได้มีการดำเนินงานที่เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสี่ประการอยู่แล้ว การกำหนดเพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น ทำให้คณะฯ มีเป้าหมายและกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น ที่ไม่ใช่เรื่องของการผลิตผลงานวิชาการ หรือ การผลิตบัณฑิต แต่ยังครอบคลุมถึงการส่งผลทำให้สังคมไทยมีความยั่งยืนและน่าอยู่ขึ้นด้วย"
รศ.ดร.พสุ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้คณะเป็นตัวแบบขององค์กรไทยในการนำ UN SDGs มาเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน องค์กรธุรกิจทั่วไปนั้นใช่ว่าจะทำให้ธุรกิจละเลยโอกาสในการแสวงหากำไรแบบเดิมๆ ไป แต่องค์กรที่คิดเร็วและคิดทัน กลับนำ SDGs นั้นเข้ามาผสมผสานกับ Business model และกลยุทธ์ขององค์กร ทำให้สุดท้ายแล้วเป็นการสร้างสรรค์โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นตามเป้า SDGs อีกด้วย ในปัจจุบันองค์กรชั้นนำของโลกหลายแห่งอาทิเช่น IBM, UPS, GSK, Google, Chevron, SAP, PwC, Pfizer ก็ได้นำ SDGs มาใช้ในการตั้งเป้าหมายขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”