เปิดหนังสือสตง.ไขปมสนามบินพะงันทำลายป่าชายเลนปท.? ชงรมว.ทส.ทบทวนสร้าง!
"..ป่าชายเลน ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากป่าชายเลนมีประโยชน์หลายประการ เช่น เป็นแหล่งพลังงาน อาหาร และที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ หรือเป็นแหล่งที่จะเสริมสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเป็นแหล่งประมงใกล้ชายฝั่ง ...ดังนั้น อนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว เนื้อที่ 1,915 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หากเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงกว้างทั้งระบบนิเวศป่าชายเลน และความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดพังงาซึ่งไม่อาจประมูลค่าความเสียหายได้..."
จากกรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวว่า ก่อนหน้าที่ นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้สั่งดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับที่ดินจุดก่อสร้างท่าอากาศยานบนเกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากพบว่าไม่มีเอกสารสิทธิหรือทำเกินกว่าเอกสารสิทธิที่นำมาแสดง และเป็นการกระทำผิดยึดถือครองที่ดินและทำประการหนึ่งประการใดให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่าสงวน นั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือแจ้งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทบทวนการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ก่อสร้างสนามบินบนเกาะพะงันของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่ขออนุญาตเป็นพื้นที่ป่าชายเลน หากปล่อยให้มีการก่อสร้างจะทำให้เกิดผลกระทบในเชิงกว้าง นอกจากเป็นการทำลายป่าชายเลนของประเทศซึ่งไม่อาจประมาณมูลค่าความเสียหายได้ ยังกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดพังงา
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า หนังสือสตง. ที่ทำถึง รมว.ทส ฉบับดังกล่าว ลงวันที่ 11 พ.ค. 2560 ระบุรายละเอียด ดังนี้
เรื่อง การขออนุญาตก่อสร้างสนามบินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว จังหวัดพังงา ของบริษัทการบินกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน)
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบกรณีบริษัทการบินกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) ยื่นใบคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 (แบบ ป.ส.21) เพื่อสร้างสนามบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยให้เครื่องบินของทางภาครัฐใช้ในราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กำหนดเวลา 30 ปี ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเมือง จังหวัดพังงา เนื้อที่ 2,000 ไร่ พร้อมเสียค่าธรรมเนียมใบคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1 บาท ตามใบเสร็จรับเงินของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เล่มที่ 28 เลขที่ 21040 ฉบับลงรับเงินวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 พบข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้
1. วันที่ 14 มิถุนายน2559 - วันที่ 7 สิงหาคม 2559 คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และผู้นำตรวจบริษัทฯ เข้าทำการตรวจสอบสภาพป่าและได้ลงชื่อร่วมกันในรายงานการตรวจสอบสภาพป่าที่ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ (ป.ส.22) โดยมีข้อมูลที่สำคัญในรายงานการตรวจสอบสภาพป่าฯ ดังนี้
1.1 อาณาเขตและเขตติดต่อ
นอกจากนั้น ได้รายงานการตรวจสอบสภาพป่าเพิ่มเติมว่า พื้นที่ข้างเคียงทิศตะวันตก, ตะวันตกเฉียงใต้, และทิศใต้ เป็นพื้นที่อยู่อาศัย มัสยิด โรงเรียน เกษตรกรรม ฯลฯ ของชุมชนที่บุกรุกยึดถือครอบครอง พื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นป่าชายเลน ส่วนทิศตะวันออกส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน โดยมีคูน้ำของกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งเป็นแนวเขตในพื้นที่เกือบตลอด บางส่วนเป็นเกษตรกร
1.2 การบุกรุกพื้นที่ที่ขออนุญาต ตามรายงานการตรวจสอบสภาพป่า บันทึกว่า พื้นที่ป่านี้มีชุมชนตั้งอยู่กลางป่าสงวน ง่ายต่อการการบุกรุกยึดครอบครองที่ดิน หากมีการอนุญาตให้บริษัทการบินกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) ขอใช้ประโยชน์สร้างสนามบินฯ จะช่วยยับยั้งการบุกรุกยึดครอบครองพื้นที่ป่าชายเลนที่เหลืออยู่เกือบโดยรอบพื้นที่ที่ขออนุญาต
1.3 พื้นที่ที่ขออนุญาตบางส่วน เนื้อที่ 55 ไร่ เคยมีการให้อนุญาตบุคคลทำการดูดทรายจำหน่าย และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดพังงา ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1590/2558 แต่บริษัทการบินกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) ขอใช้ประโยชน์ให้ข้อมูลว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงการขอใช้พื้นที่ในจุดนี้ได้เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นของทางขึ้นลงของเครื่องบิน (Run Way)
2. คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และผู้นำตรวจคือกรรมการซึ่งมีอำนาจลงลายชื่อแทนบริษัทฯ ได้ร่วมกันตรวจสอบสภาพป่าขออนุญาตฯ ผลการตรวจสอบและรายงานสภาพป่าเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 สรุปว่าพื้นที่ที่ขออนุญาตตั้งในพื้นที่ บ้านดินแดง หมู่ที่ 4 ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเมือง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าวทั้งแปลง เนื้อที่ 1,915 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา พื้นที่ไม่มีสภาพป่าแล้ว เห็นควรอนุญาตให้ใช้พื้นที่
3. คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่บริษัทฯ ขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ตามคำสั่งจังหวัดพังงา ที่ 2684/2559 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ประชุมวันที่ 7 กันยายน 2559 มีมติให้อนุญาตตามที่เสนอ โดยไม่เห็นว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมของกรมป่าไม้
4. กรมป่าไม้ จำทำหนังสือถึงจังหวัดพังงาให้แจ้งบริษัทการบินกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการก่อสร้างสนามบินเพื่อพาณิชย์ที่มีขนาดความยาวของทางวิ่งตั้งแต่ 1,100 เมตร ตามหนังสือกรมป่าไม้ที่ ทส 1602.3/17507 วันที่ 31 ตุลาคม 2559 ติดตามถึงปัจจุบันได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่ายังไม่ได้รับรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาตามข้อมูลข้างต้นพบข้อสังเกต ดังนี้
1. อาณาเขตที่คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้เสนอรายงานว่า พื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นป่าชายเลน ส่วนทิศตะวันออกส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลน ประกอบกับที่เสนอเรื่องอันตรายที่มีต่อป่าไม้ รายงานว่าหากสร้างสนามบินฯ จะช่วยยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนที่เหลืออยู่เกือบโดยรอบพื้นที่ที่ขออนุญาตได้จึงพิจารณาในเบื้องต้นว่าพื้นที่ที่ขออนุญาต น่าจะเป็นพื้นที่ป่าชายเลน
2. ข้อมูลตามบันทึกการตรวจสอบสภาพป่า ที่ลงนามร่วมคณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกรรมการบริษัทการบินกรุเทพฯ จำกัด (มหาชน) วันที่ 17 สิงหาคม 2559 บันทึกข้อมูลว่า พื้นที่ที่ขออนุญาตไม่อยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543
ผลการตรวจสอบเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 โดยเปรียบเทียบข้อมูลกับรายงานของอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เดือนกุมภาพันธ์ 2555 พบว่า พื้นที่ในตำบลลำแก่น มีป่าชายเลนและการกระจายป่าชายเลนตามมติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม และวันที่ 17 ตุลาคม 2553 จำนวน 9,895.25 ไร่ และพื้นที่สภาพป่าชายเลน อีกจำนวน 6,910.98 ไร่ จึงยังไม่ชัดเจนว่ารายงานผลการตรวจสอบของคณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้และกรรมการบริษัทฯ เป็นไปตามข้อเท็จจริงหรือไม่ ข้อมูลเปรียบเทียบดังนี้
สำหรับเรื่องป่าชายเลน ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากป่าชายเลนมีประโยชน์หลายประการ เช่น เป็นแหล่งพลังงาน อาหาร และที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ หรือเป็นแหล่งที่จะเสริมสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเป็นแหล่งประมงใกล้ชายฝั่ง จึงมีมติคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับป่าชายเลนหลายครั้ง เช่น มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 มอบหมายให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรับมาตรการเด็ดขาดที่จะหยุดยั้งการทำลายป่าชายเลนของประเทศ เป็นต้น ดังนั้น อนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว เนื้อที่ 1,915 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา ของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หากเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้เกิดผลกระทบในเชิงกว้างทั้งระบบนิเวศป่าชายเลน และความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดพังงาซึ่งไม่อาจประมูลค่าความเสียหายได้
3. งานก่อสร้างสนามบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว เป็นโครงการขนาดใหญ่ อาจเข้าข่ายตามพระราชบัญญัติ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ตามหลักฐานเบื้องต้นไม่ปรากฏข้อมูลการนำกฎหมายฉบับนี้ ประกอบการพิจารณาการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าว อาจทำให้ราชการเสียประโยชน์
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรทบทวนและพิจารณาการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองทุ่งมะพร้าวของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกชนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้มีการทำลายป่าชายเลนของประเทศ แต่หากพิจารณาว่า มีความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า และเกิดประโยชน์ในภาพรวมการดำเนินการต้องเปิดกว้างเพื่อให้เอกชนอื่นที่สนใจเข้าร่วมคัดเลือกด้วย เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด
นอกจากนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีความห่วงใยกรณีที่คณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ บันทึกในรายงานว่า พื้นที่ที่ขออนุญาตฯ เป็นป่าเสื่อมโทรม หากให้เปิดบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ใช้พื้นที่ทำสนามบินจะช่วยยับยั้งการบุกรุกยึดครอบครองพื้นที่ป่าชายเลนที่เหลืออยู่เกือบโดยรอบได้ ซึ่งความเห็นของคณะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ข้างต้นนี้ น่าจะขัดกับอำนาจหน้าที่ของกรมป่าไม้ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันรักษาป่า ควบคุมดูแล ป้องกันการบุกรุกทำลายป่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่าควรปลูกฝังให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตระหนักถึงภารหน้าที่อย่างเคร่งครัด ประกอบกับหากมีป่าเสื่อมโทรม ควรต้องมีการวิเคราะห์ว่าเกิดตามธรรมชาติ หรือขาดความเข้มงวดในการปฏิบัติหน้าที่รักษาป่า หรือที่สำคัญเกิดจากความตั้งใจให้เป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่ ประการใด และควรมีมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันรักษาป่าทุกประเภทให้เป็นสมบัติของแผ่นดินต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินประกอบการตรวจสอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทั้งนี้ นอกเหนือจากหนังสือ สตง. ที่แจ้งถึงรมว.ทส.แล้ว สตง.ยังได้ทำหนังสืออีกฉบับ ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อสังเกตการก่อสร้างสนามบินว่า น่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 แต่ไม่ปรากฎหลักฐานการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตสร้างสนามบินแต่อย่างใด
เบื้องต้น สตง.ได้ขอให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาว่าการดำเนินการก่อสร้างสนามบิน มีเหตุผลความจำเป็น ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐหรือไม่ รวมทั้งมีมาตรการเพิ่มเติมประการใดเพื่อป้องกันมิให้เอกชนรายหนึ่งรายใด ใช้ประโยชน์จากการอ้างอิงการพัฒนาขนส่งและการเจรจรเพื่อประโยชน์เฉพาะตนเป็นการเจาะจง
ส่วนผลตอบรับจากรมว.ทั้ง 2 กระทรวง จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องคอยจับตาดูกันต่อไป