แนะชุมชนต้องใช้สื่อให้เป็น สร้างกระบอกเสียงพัฒนาท้องถิ่น
นักวิชาการบอกชุมชนต้องฝึกทักษะการสื่อสารเพื่อบอกเล่าปัญหาสู่สาธารณะ ผอ.สถาบันอิศราแนะออกแบบการสื่อสารที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ผู้ช่วย ผจก.ช่อง 7 เสริมชุมชนใช้สื่อเป็นกระบอกเสียงได้โดยให้ข้อมูลที่ชัดเจน ผจก.สถานีวิทยุจุฬาฯเผยเห็นประโยชน์ชัดถ้าชาวบ้านใช้สื่อถูกทาง
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสารของผู้นำชุมชนบ้านมั่นคง” โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวเปิดงานว่า ในฐานะองค์กรผู้ออกแบบหลักสูตรเพิ่มขีดความสามารถการสื่อสารของผู้นำชุมชน ได้ตั้งโจทย์ใหญ่ไว้ 2 ข้อคือ 1.ให้ชุมชนรู้จักการสื่อสารกันเองในระดับพื้นที่ 2.การสื่อสารจากชุมชนสู่สาธารณชนผ่านสื่อมวลชน
“ปัญหาอย่างหนึ่งคือชุมชนไม่เข้าใจไม่รู้วิธีการเข้าถึงสื่อ หลักสูตรที่วางไว้จะเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจในกระบวนการทำงานของสื่อ และให้ชุมชนสร้างเครื่องมือการสื่อสารเพื่อพัฒนาชุมชน ออกแบบการสื่อสารกันเอง และหาวิธีการเพื่อให้สื่อชุมชนไปสู่สื่อสารมวลชนได้”
จากนั้นมีการอภิปราย “ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชน” โดย นายคธาทร อัศวจิรัฐติกรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าวช่อง 7 กล่าวว่า ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของสังคมไทยคือการสื่อสารที่มีความหมายเพี้ยน ตั้งแต่การสื่อสารระหว่างบุคคลทั่วไปจนถึงสื่อมวลชน แต่สื่อที่แท้จริงจะมีหลักการทำงานบนความเที่ยงตรงแม่นยำถูกต้อง ไม่มีวัตถุประสงค์บิดเบือนสร้างข้อมูลเท็จก่อความแตกแยก แต่ชาวบ้านมักคิดว่านักข่าวเป็นพหูสูตรู้ทุกเรื่องซึ่งไม่จริง คืออาจมีความรู้เฉพาะด้านตามสายข่าวที่รับผิดชอบ หรือรู้ภาพรวม หรือบางเรื่องก็ไม่ได้รู้ลึก และแต่ละวันมีข่าวมหาศาลมากกว่าเวลาออกอากาศทีวีวิทยุหรือพื้นที่หนังสือพิมพ์ ดังนั้นหากชาวบ้านสามารถให้ข้อมูลที่ดี ก็จะช่วยให้สื่อทำหน้าที่ในการนำเสนอปัญหาชุมชนได้มากขึ้น
“การรู้ประเภทสื่อก็จะทำให้ชาวบ้านเข้าช่องทางการสื่อสารได้ถูก เช่น ทีวีไทยเป็นทีวีสาธารณะเพื่อ
กระจายข้อมูลข่าวสารให้ประชาชน ชุมชนอยู่แล้ว ส่วนช่อง 3-5-7 เป็นสื่อพาณิชย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีพื้นที่ให้ชาวบ้าน มันก็มีพื้นที่ข่าว และมีบางรายรายที่ไปใช้บริการได้ เช่น รายการชาวบ้าน”
นายชาย ปถะคามินทร์ บรรณาธิการข่าวประจำวัน นสพ.เดลินิวส์ กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆ เกิดสื่อที่หลากหลายและมากมาย คนสามารถเลือกบริโภคสื่อที่ถูกใจ ขณะเดียวกันมีเรื่องที่จริงและไม่จริงมากมายในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนบริโภคสื่อมากกว่าหนึ่งอย่างเพื่อตรวจสอบ แต่ข่าวต้องมีมุมมองการนำเสนอที่เด่น มีประเด็น ไม่ใช่พูดเรื่อยเปื่อย ดังนั้นชาวบ้านต้องฝึกฝนการไกด์หรือแนะนำประเด็นให้นักข่าว เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์งานพัฒนาชุมชน
สุวรรณา สมบัติรักษากุล ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสื่อสารในสังคมไทยมุ่งเน้นข่าวมากเกินไป ทั้งที่ชีวิตคนมีอะไรมากกว่าข่าว ยังมีเรื่องเล่าที่น่ารู้ วิทยุมีคุณสมบัติพิเศษเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้ฟังมากที่สุด เข้าถึงผู้คนได้ง่ายและรวดเร็ว และสามารถสร้างจินตนาการ สื่อวิทยุยังผลิตง่าย มีค่าใช้จ่ายต่ำ วันนี้ไม่ได้มีแค่วิทยุกระจายเสียงแต่ยังมีวิทยุทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งนอกจากฟังสดยังเก็บข้อมูลฟังย้อนหลังได้ วิทยุยังแบ่งเป็นประเภทที่แตกต่างกันไป เช่น ร่วมด้วยช่วยกัน และ จส.100 เป็นวิทยุเพื่อสาธารณะ ส่วนวิทยุจุฬาฯ มีความหลากหลายทั้งข่าว เพลง สาระบันเทิง
“งานวิจัยพบว่าผู้นำชุมชนสามารถใช้วิทยุชุมชนสื่อสารถึงคนภายในชุมชนได้มากขึ้น ชุมชนยังใช้วิทยุภายนอกต่างๆเป็นช่องทางสื่อสารเรื่องราวสู่สาธารณะได้ เพียงแต่ชาวบ้านต้องเลือกให้ถูกสถานี”
ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ ประธานโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวถึงความจำเป็นของการสื่อสารเพื่อพัฒนาชุมชนว่า ชุมชนเป็นต้นกำเนิดและปลายทางของนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งแง่เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ดังนั้นการสื่อสารของชุมชนกับสังคมจึงมีความจำเป็นเพื่อสะท้อนปัญหาหรือความต้องการให้สาธารณะหรือรัฐบาลรับรู้
“จุดเด่นของบ้านมั่นคงคือมีลักษณะเป็นองค์กรที่มีกระบวนการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว การจัดการสื่อสารจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่สำคัญคือต้องเน้นการสื่อสารที่มีความสมบูรณ์และมีส่วนร่วมของชาวบ้าน แต่ต้องระวังอย่ามุ่งเป้าไปที่การประชาสัมพันธ์มากนัก”
ผศ.สุรสิทธิ์ ยังกล่าวว่า การสื่อสารเรื่องบ้านมั่นคงไปยังสังคมภายนอก ทำได้โดยวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและภัยคุกคามของปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย อาจล้อมวงคุยในพื้นที่ระหว่างกำนันผู้ใหญ่บ้าน แกนนำเครือข่าย และชาวบ้าน เพื่อร่วมกันหายุทธศาสตร์ วิธีการ กำหนดภาระงานให้ชัดเจน แล้วดูว่ามีเครื่องมือสื่อสารอะไรในชุมชนที่นำมาใช้ได้ เช่น วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เสียงตามสาย นอกจากนี้ชุมชนต้องสร้างพื้นที่ประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม อาทิ สอดแทรกเนื้อหาโครงการบ้านมั่นคงเข้าไปในกิจกรรมต่างๆของท้องถิ่น เช่น งานบุญต่างๆ และต้องพัฒนาบุคลากรชุมชนให้มีทักษะด้านการสื่อสาร
“ชุมชนต้องตามให้ทันสถานการณ์ใหม่ๆด้วย และต้องวางแผนล่วงหน้า สุดท้ายคือเชื่อมการสื่อสารไปสู่ภายนอก ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจทำได้ยากแต่มีความจำเป็น” ผศ.สุรสิทธิ์ กล่าว .