บำรุงรักษาไม่เป็นระบบ! ผลสอบ สตง. ฉบับเต็มชำแหละเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯพันล.(2)
"...จากการสุ่มตรวจสอบ ยังพบว่าเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม การจัดทำทะเบียนคุมพัสดุและทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ตลอดจนการควบคุมและเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์การปฏิบัติงานไม่รัดกุม.."
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.orgนำรายงานผลการตรวจสอบของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรื่องการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในประเด็นเรื่อง เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศในภารกิจหลักสำคัญของกรมอุตุนิยม วิทยาจำนวนมากเกิดการชำรุดเสียหาย โดยมีจุดอ่อนอย่างมากเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ มานำเสนอไปแล้ว
โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ สตง.สุ่มตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ จำนวน 11 ประเภท ตามวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเครื่องมือที่กำหนด มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 3,633.73 ล้านบาท พบว่า เครื่องมือตรวจวัดจำนวนมากชำรุดเสียหายและไม่ได้รับการซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ จำนวน 8 ประเภท รวมจำนวน 1,192 รายการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,055.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72.46 และ 39.03 ของรายการและมูลค่าเครื่องมือที่สุ่มตรวจสอบ ตามลำดับ ซึ่งระยะเวลาที่เครื่องมืออยู่ในสภาพไม่สามารถใช้งานได้บางรายการนานมากกว่า 2 ปี หรือส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
(อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! ผลสอบสตง.ชำแหละเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯชำรุดใช้งานไม่คุ้มค่าพันล. (1))
ประเด็นสำคัญต่อมาที่ สตง. ระบุในรายงานผลการตรวจสอบ คือ การควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เป็นระบบและขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือ และจะส่งผลเสียหายต่อการปฏิบัติงานในภารกิจหลักของกรมอุตุนิยมวิทยา
โดยมีรายละเอียดดังนี้
จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานในส่วนกลาง และหน่วยงานในส่วนภูมิภาคคือศูนย์อุตุนิยมวิทยาส่วนภูมิภาคและสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัด ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันเกี่ยวกับอุปกรณ์ประกอบที่สำคัญต่อระบบการทำงานและประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศว่าจำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม คือ แบตเตอรี่ และเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประกอบสำคัญของเครื่องมือฯ ต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินด์เชียร์ (LLWAS) เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ และเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) รวมถึงใช้ติดตั้งในส่วนของเครื่องสำรองไฟ อาทิเช่น แบตเตอรี่ของระบบวินด์เชียร์ (LLWAS) ที่เสาวัดลมแต่ละต้นใช้ในการเก็บสำรองไฟจากแสงอาทิตย์หรือแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) เพื่อสำรองไฟไว้ใช้ในเวลากลางคืนหรือกรณีที่ระบบไฟฟ้ากระแสตรงขัดข้อง รวมถึงเกิดจากการฟ้าผ่า เนื่องจากระบบวินด์เชียร์จำเป็นต้องมีระบบสำรองไฟ เพื่อให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง หากเสาต้นใดใช้การไม่ได้ก็จะทำให้ทั้งระบบใช้งานในการเตือนภัยไม่ได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อความปลอดภัยในการขึ้นลงของเครื่องบิน
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์มีการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งต้องอยู่ในห้องที่มีความเย็นมากจึงจำเป็นต้องมีเครื่องปรับอากาศ ทั้งนี้จุดที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศควรสอดคล้องสัมพันธ์กับการให้ความเย็นกับเครื่องมือได้อย่างทั่วถึงเพียงพอ และต้องมีการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม และเครื่องมือบางรายการต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการจัดเก็บและใช้งานด้วย
อนึ่ง เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ จะต้องมีการจัดทำทะเบียนคุมพัสดุให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และจะต้องมีระบบบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์แต่ละรายการอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และชัดเจน เพื่อสามารถใช้ในการวางแผนบริหารจัดการการใช้ประโยชน์เครื่องมือหรือการจำหน่าย กรณีที่หากพิจารณาข้อมูลประวัติการซ่อมแซมแล้วอาจเห็นว่าต้นทุนการซ่อมแซมบำรุงรักษาสูงมาก ไม่คุ้มค่ากับการดำเนินการ หรืออาจมีความถี่ของการซ่อมแซมบ่อยครั้ง ตลอดจนเพื่อใช้สำหรับวางแผนการจัดหาเครื่องมือใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากการสุ่มตรวจสอบ ยังพบว่าเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม การจัดทำทะเบียนคุมพัสดุและทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เป็นไปตามระเบียบฯ ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ตลอดจนการควบคุมและเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์การปฏิบัติงานไม่รัดกุม รายละเอียดดังนี้
1. เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
จากรายการเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศที่สุ่มตรวจสอบพบว่าประเภทเครื่องมือตรวจวัดที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สำคัญเพื่อการทำงานคือแบตเตอรี่ และเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) โดยปกติทั่วไปแบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี ซึ่งจะต้องทำการเปลี่ยนตามรอบระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ประสิทธิภาพในการใช้งานของ UPS เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุปกรณ์สำคัญคือแบตเตอรี่ จากสภาพปัญหากรณีเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศจำนวนมากอยู่ในสภาพชำรุดไม่พร้อมสำหรับการใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ดังประเด็นที่กล่าวแล้วข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากแบตเตอรี่เสื่อมสภาพ เครื่อง UPS ไม่สามารถใช้งานได้ รายละเอียดดังนี้
1) แบตเตอรี่ของเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) ไม่ได้รับการเปลี่ยนตามรอบระยะเวลาที่กำหนดและบางเครื่องมือมีการชำรุด ได้แก่
– เครื่องตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) จำนวน 6 สถานี ซึ่งบางสถานีมีการใช้งานมานานไม่น้อยกว่า 5 ปี ได้แก่ ศูนย์ฯ ขอนแก่น (ชำรุด) สถานีอุตุนิยมวิทยานครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ (ชำรุดปี พ.ศ. 2554) สถานีอุตุนิยมวิทยาบุรีรัมย์ สตึก (ชำรุดปี พ.ศ. 2557) สถานีอุตุนิยมวิทยาอุบลราชธานี (ชำรุดใช้ของสถานีตรวจอากาศผิวพื้นทดแทน) สถานีอุตุนิยมวิทยาพิษณุโลก (ไม่ได้รับการบำรุงรักษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553) และสถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงราย (ขาดการบำรุงรักษา)
– เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินด์เชียร์ (LLWAS) จำนวน 2 สถานี ซึ่งติดตั้งที่สำนักอุตุนิยมวิทยาการบินสุวรรณภูมิ และที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ (ไม่ได้เปลี่ยนตามรอบระยะเวลาที่กำหนด)
– เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ จำนวน 5 สถานี ได้แก่ สถานีอุตุนิยมวิทยานครนายก เขาเขียว (ชำรุด) สถานีอุตุนิยมวิทยาระนอง (ขาดการบำรุงรักษา/อายุการใช้งานนาน) สถานีเรดาร์สทิงพระ (UPS เสื่อมสภาพ) สถานีอุตุนิยมวิทยาอุบลราชธานี (อายุการใช้งานยาวนาน/ขาดการบำรุงรักษา) และสถานีอุตุนิยมวิทยาระยอง (ขาดการบำรุงรักษา)
– เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) จำนวน 10 สถานี ได้แก่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยา จ.สงขลา (เครื่องสำรองไฟชำรุด) สถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตรเชียงราย (แบตเตอรี่ของเครื่องสำรองไฟชำรุด) สถานีอุตุนิยมวิทยาเกษตรกาญจนดิษฐ์ (เครื่องสำรองไฟชำรุด) สถานีอุตุนิยมวิทยานครศรีธรรมราช (แบตเตอรี่หมด) ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ จ.ขอนแก่น (ขาดการบำรุงรักษา UPS) สถานีอุตุนิยมวิทยาท่าพระ (UPS ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ) สถานีอุตุนิยมวิทยาพัทยา (UPS ชำรุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555) สถานีอุตุนิยมวิทยาอุดรธานี สถานีอุตุนิยมวิทยาระยอง และสถานีอุตุนิยมวิทยากระบี่ (ไม่ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ตามรอบระยะเวลา)
จากการตรวจสอบ พบว่ากรมอุตุนิยมวิทยาใช้เวลานานมากในการจัดหาแบตเตอรี่ใหม่มาทดแทน ทั้งนี้บางสถานีพบปัญหา UPS ไม่สามารถใช้งานต่อเนื่องได้มาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี (แบตเตอรี่เสื่อมและเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการสับเปลี่ยนจากที่อื่นเพื่อใช้งาน) แบตเตอรี่ของเครื่องมือตรวจวัดสำคัญดังกล่าวข้างต้นส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานนานมากกว่า 2 ปี ตามรอบระยะเวลาที่ควรทำการเปลี่ยนใหม่ บางแห่งแก้ไขปัญหาชั่วคราวโดยถอดแบตเตอรี่จากเครื่องมืออื่นที่ไม่ได้ใช้งานต่อเนื่อง หรือแบตเตอรี่เก่าที่อาจยังพอใช้งานได้มาใช้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า อย่างไรก็ตามเห็นว่าไม่เป็นระบบที่เหมาะสม อีกทั้งทำให้เกิดปัญหาเครื่องมือเกิดการชำรุดเสียหายบ่อยครั้ง ไม่สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ อีกทั้งไม่เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
2) ปัญหาเครื่องปรับอากาศไม่ได้รับการบำรุงรักษา ล้างทำความสะอาดตามรอบระยะเวลา บางแห่งมีสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ตลอดจนพบว่าบางสถานีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในจุดที่ไม่สามารถให้ความเย็นกับเครื่องมืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์สำคัญได้อย่างทั่วถึง เพียงพอ ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือที่ต้องทำงานตลอดเวลาได้ เครื่องมือสำคัญที่ต้องติดตั้งในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินเชียร์ (LLWAS) เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) นอกจากนี้ยังพบว่าสถานีอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่ได้รับการติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ห้องควบคุมอุณหภูมิเพียงเครื่องเดียว ซึ่งหากเกิดการชำรุดเสียหายจะไม่มีเครื่องปรับอากาศสำรองได้
จากการสุ่มสังเกตการณ์และสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ถึงการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งภายในห้องควบคุมอุณหภูมิของเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) และเครื่องตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) หรือห้องตรวจอากาศที่มีเครื่องมือตรวจวัดติดตั้งอยู่ของสถานีอุตุนิยมวิทยาที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 36 แห่ง พบว่า สถานีอุตุนิยมวิทยาจำนวน 24 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.67 ของจำนวนสถานีทั้งหมดที่สุ่มตรวจสอบ มีปัญหาเกี่ยวกับความพร้อมของเครื่องปรับอากาศ อาทิเช่นติดตั้งในจุดที่ไม่เหมาะสมไม่สามารถทำความเย็นให้กับเครื่องมือได้อย่างทั่วถึงเพียงพอ ในจำนวนนี้พบว่าเครื่องปรับอากาศของสถานีอุตุนิยมวิทยา จำนวน 11 แห่ง ไม่ได้รับการบำรุงรักษาในช่วงระยะเวลา 1 ปี ได้แก่ สถานีอุตุนิยมวิทยาห้วยโป่ง จ.ระยอง สถานีอุตุนิยมวิทยาระนอง ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ สถานีอุตุนิยมวิทยาพระแสง จ.สุราษฎร์ธานี สถานีอุตุนิยมวิทยาสว่างวีรวงศ์ จ.อุบลราชธานี ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น สถานีอุตุนิยมวิทยาสกลนคร สถานีอุตุนิยมวิทยาพัทยา จ.ชลบุรี สถานีอุตุนิยมวิทยานครนายก สถานีอุตุนิยมวิทยากระบี่ และสถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงราย
2. การจัดทำทะเบียนคุมพัสดุและทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือไม่เหมาะสม ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่ชัดเจน ตลอดจนการควบคุมและเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์การปฏิบัติงานไม่รัดกุม ไม่เหมาะสม จากการตรวจสอบเอกสารและจัดเก็บข้อมูลโดยใช้แบบประเมินตนเอง (Self Assessment) โดยสุ่มตรวจสอบเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนคุมครุภัณฑ์ สถานีอุตุนิยมวิทยาจำนวน 85 แห่ง และสุ่มตรวจสอบการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ สถานีอุตุนิยมวิทยา จำนวน 67 แห่ง พบว่าสถานีอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่มีจุดอ่อนเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนคุมครุภัณฑ์ และทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ
รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1) การจัดทำทะเบียนครุภัณฑ์ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่กำหนด กล่าวคือ
– ระบุรหัสครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนทุกรายการ จำนวน 80 สถานี
– ระบุมูลค่าครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนทุกรายการ ทั้งหมดทุกแห่ง 85 สถานี
– ระบุวัน เดือน ปี ที่ได้มา ของรายการครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วนทุกรายการ จำนวน 30 สถานี
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบทะเบียนครุภัณฑ์ของศูนย์อุตุนิยมวิทยาส่วนภูมิภาคและสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ พบว่ามีครุภัณฑ์หรือเครื่องมือตรวจวัดมูลค่าสูงบางประเภทที่ไม่มีข้อมูลรหัสและมูลค่าของครุภัณฑ์ เช่น เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินเชียร์ (LLWAS) เครื่องมือเรดาร์ตรวจอากาศ และเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWS) โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่ารายละเอียดของรหัสครุภัณฑ์จะอยู่ที่งานพัสดุในส่วนกลาง
นอกจากนี้ พบว่าครุภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจำนวนมากไม่ได้เขียนรหัสครุภัณฑ์ที่ตัวครุภัณฑ์ โดยบางรายการมีการติดตั้งมาเป็นระยะเวลานานแล้วแต่ยังไม่มีรหัสครุภัณฑ์ เช่น เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินเชียร์ (LLWAS) และเครื่องมือเรดาร์ตรวจอากาศที่ติดตั้ง ณ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 – 2556
2) ไม่มีการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซม บำรุงรักษาเครื่องมือ จำนวน 47 สถานี หรือคิดเป็นร้อยละ 70.15 จัดทำบางประเภทเครื่องมือ จำนวน 7 สถานี และจัดทำทุกประเภทเครื่องมือเพียงจำนวน 13 สถานี ทั้งนี้พบว่าสถานีส่วนใหญ่มีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมแซมบำรุงรักษาโดยรวมทั้งหมดทุกรายการในเล่มเดียวกัน หรือเรียกว่า “สมุดปูม” เช่น ข้อมูลการตรวจเยี่ยม การดำเนินการสอบเทียบเครื่องมือ รวมถึงประวัติการซ่อมบำรุงรักษาโดยไม่ได้แยกประเภทเครื่องมือ และไม่มีรายละเอียดข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น ลำดับครั้งในการซ่อมเครื่องมือแต่ละประเภท จำนวนเงินที่ใช้ในการซ่อมหรือบำรุงรักษา ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดประวัติการซ่อมบำรุงของเครื่องมือแต่ละรายการได้ และไม่สามารถใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนบริหารจัดการเครื่องมือที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพได้
3) การควบคุมและเก็บรักษาวัสดุอุปกรณ์การปฏิบัติงานตรวจอากาศของสถานีตรวจอากาศชั้นบนไม่รัดกุม ไม่เหมาะสม กรมอุตุนิยมวิทยามีสถานีตรวจอากาศชั้นบนทั่วประเทศ จำนวน 11 แห่ง การตรวจอากาศชั้นบนเป็นการตรวจสภาพอากาศโดยใช้หลักการลอยตัวของบอลลูน นำเครื่องมืออุปกรณ์ขึ้นไปตรวจสภาพอากาศตั้งแต่ระดับผิวพื้นขึ้นไปในระดับความสูงต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลที่ตรวจวัดได้ คือ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ อุณหภูมิจุดน้ำค้าง ความกดอากาศ จากการสังเกตการณ์จำนวน 9 แห่ง พบว่า มีจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.อุบลราชธานี สถานีตรวจอากาศสุราษฎร์ธานี สถานีตรวจอากาศพิษณุโลก และสถานีตรวจอากาศอุดรธานี มีการจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์ตรวจอากาศชั้นบน อาทิ บอลลูนตรวจอากาศ แบตเตอรี่ ร่มชูชีพ มีการบันทึกข้อมูลในทะเบียนคุมการเบิก-จ่าย วัสดุตรวจอากาศชั้นบนโดยไม่ครบถ้วน เช่น บอลลูนตรวจอากาศ (ลูกสีขาว ขนาด 300 กรัม) มีมูลค่าประมาณ 587 บาท/ลูก จะมีการใช้ในการตรวจอากาศทุกวัน
พบว่ากรณีเกิดการรั่วซึมหรือไม่สามารถใช้งานได้ จะไม่มีการบันทึกปัญหาไว้ในทะเบียนคุมการเบิก-จ่าย จึงอาจเป็นช่องว่างที่ทำให้มีการดำเนินการโดยไม่เหมาะสมได้
(ตอนหน้าว่าด้วยประเด็น สรุปผลกระทบ สาเหตุ และข้อเสนอแนะ การควบคุม ดูแล บำรุงรักษาเครื่องมือของกรมอุตุนิยมวิทยา)