น่านดูโอ คอฟฟี่ -เครื่องเงิน ชมพูภูคา 2 เอสเอ็มอี สร้างงานให้คนน่าน
ธุรกิจที่ใหญ่กว่า แข็งแกร่งกว่า เติบโตกว่า ต้องให้ความร่มเย็นเป็นที่พึ่งของธุรกิจน้องๆ ที่ธุรกิจน่านจำเป็นต้องเดินทางไปด้วยกัน เพราะพื้นที่ผลิตภาพของจังหวัดเรามีไม่มากพอเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ เขา
“ธุรกิจของจังหวัดน่าน ผมไม่อยากให้ใครโต โดยทิ้งธุรกิจอื่นไว้เบื้องหลัง เราจะต้องโตไปพร้อมๆ กัน ธุรกิจที่ใหญ่กว่า แข็งแกร่งกว่า เติบโตกว่า ต้องให้ความร่มเย็นเป็นที่พึ่งของธุรกิจน้องๆ ที่ธุรกิจน่านจำเป็นต้องเดินทางไปด้วยกัน เพราะพื้นที่ผลิตภาพของจังหวัดเรามีไม่มากพอ เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ เขา เราจะไม่ยอมให้ใครเพลี้ยงพล้ำทางธุรกิจ ไม่ว่าจะขนาดไหนก็ตาม”
ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน “ไพศาล วิมลรัตน์” ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ บอกถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัด ในงานเปิดตัวแคมเปญ "โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan ผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ก้าวสู่ Thailand 4.0 สร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น” ณ โรงแรมดิ อิมเพรส จ.น่าน เมื่อเร็วๆ นี้
พร้อมกันย้ำชัดว่า วันนี้จังหวัดน่านกำลังพยุงธุรกิจในระดับฐานรากให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่ธุรกิจชุมชน และธุรกิจเอสเอ็มอี โดยปรารถนาให้ธุรกิจน่านแข็งแกร่ง เชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรม
“น่านดูโอ คอฟฟี่ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ชมพูภูคา” ถือเป็น 2 บริษัทแรกของประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติวงเงินสนับสนุนจากรัฐบาล (อ่านประกอบ:แข็งแกร่งถึงฐานราก "น่าน" จ.แรกเดินหน้าอนุมัติสินเชื่อช่วย 4 เอสเอ็มอี สร้างงานในพื้นที่)
ผู้ว่าฯ ไพศาล ตอกย้ำถึงการเติมเต็มเงินทุนหนุนเอสเอ็มอีไทย 2 บริษัทแรกในจังหวัดน่าน เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพ 2 บริษัทดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจในจังหวัดน่านขยับตาม
เรียกว่า เป็นหัวรถจักรดึงธุรกิจอื่นๆ ให้ขับเคลื่อนไปได้อีก ทั้งยังสร้างงานให้คนในจังหวัดน่านมีงานทำมากขึ้น
“ห้างหุ้นส่วนจำกัด น่านดูโอ คอฟฟี่” จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อปี 2557 ผลิตและจำหน่ายกาแฟแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำรายใหญ่ในจังหวัดน่าน มีรูปแบบธุรกิจ ทำคอนเทรกฟาร์มมิ่ง ส่งเสริมให้เกษตรกรหลายรายในอำเภอปัว ท่าวังผา เวียงสา แม่จริม ทุ่งช้าง ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ากว่า 2 พันไร่ และปลูกเองอีกกว่า 1 พันไร่ ป้อนผลผลิตสู่ไลน์การผลิต
“น่านดูโอ คอฟฟี่” ผลิตสินค้าในแบรนด์ภูคอฟฟี่ ดูโอคอฟฟี่ และภูมิใจออแกนิกส์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด พร้อมกับเข้ามาแก้ปัญหาเขาหัวโล้นได้อีกทางหนึ่ง โดยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกกาแฟแทนการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันบ้างแล้ว
"วัชรี พรมทอง" กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดน่านดูโอ คอฟฟี่ และประธานกลุ่มคัตเตอร์กาแฟน่าน ซึ่งรวมตัวเพื่อต่อรองอำนาจกลุ่มทุนต่างถิ่น เคยทำงานอยู่บริษัทโรงคั่วกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อกว่า 8 ปีที่แล้ว หอบเอาองค์ความรู้ที่มี ตั้งแต่เรื่องของการคัดเลือกเมล็ดกาแฟ ไลน์การผลิต ช่องทางการทำตลาด การจัดจำหน่าย เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นน่านดูโอ คอฟฟี่
"น่านดูโอ คอฟฟี่ เกิดขึ้นมาได้จากการทำตลาดที่ร้านค้าส่ง แบรนด์ภูคอฟฟี่ โดยเอา “ชาตรามือ” มาเป็นโมเดลทำธุรกิจ โดยเราวางกาแฟในร้านค้าส่ง ที่ขายแก้วกาแฟ น้ำตาล คือทุกที่ที่มีชาตรามือไปวาง เราก็เอากาแฟของเราไปวางด้วย”
เธอเล่าว่า โรงคั่วกาแฟแห่งแรกเกิดขึ้นที่พัทยา เมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว โดยเราพบว่า ภาคตะวันออกทั้งภาคเป็นตลาดที่ใหญ่มาก บริโภคกาแฟเยอะมาก เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม 1 โรง มีคนงาน 2-3 พันคน ทำงานกะกลางวัน กะดึก เราจึงเลือกตั้งโรงคั่วกาแฟที่นั่น ด้วยเงินในกระเป๋า 3 แสนบาท
จากนั้น ภูคอฟฟี่ ก็ปูพรมวางเมล็ดกาแฟคั่วบด ตามร้านค้าส่ง เลือกตั้งแต่แหล่งอุตสาหกรรม ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ก่อนค่อยๆขยับมากรุงเทพ อยุธยา ณ ปัจจุบันมีใต้สุดถึงปัตตานี อีสานสุดมีถึงหนองคาย ขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา เป็นต้น
หลังจากมุ่งทำตลาดร้านค้าส่งเล็กๆ จนกลายเป็นธุรกิจหลังบ้านที่หล่อเลี้ยงกิจการ วัชรี มองไกลต่อยอดธุรกิจทำแฟรนไชด์โดยให้ร้านค้าเล็กๆ ใช้เมล็ดกาแฟของ ภูคอฟฟี่
เธอบอกว่า วันนี้มีกว่า 132 ร้านแล้ว “เราจะไม่ผูกขาดแบรนด์ แต่สูตรกับเมล็ดจะเป็นของภูคอฟฟี่ ถือเป็นตลาดที่สองที่ทำให้ กิจการมั่นคงขึ้นอีกระดับหนึ่ง”
เมื่อทำตลาดเมล็ดกาแฟคั่วบดไปได้สักพัก วัชรี เล่าถึงอุปสรรคที่ต้องมาเจอกับการปั่นราคาเมล็ดกาแฟดิบ ทำได้ 5 ปี เมล็ดกาแฟพันธุ์โรบัสต้าจากโลละ 27 บาท ขึ้นมาโลละ 50 บาท และขึ้นมา 70 บาท และ 90 บาท ตามลำดับ
ปัจจุบันนี้ เมล็ดกาแฟโรบัสต้าโลละ 100 บาท
จุดนี้เองทำให้ เธอคิดต้องไปทำที่ต้นน้ำ "เราอยากเป็นลูกไร่เอง จึงแอบเก็บเงินซื้อที่ที่จังหวัดน่าน เพื่อปลูกกาแฟ ควบคุมคุณภาพเอง"
ด้วยความตั้งใจแน่วแน่จะย้ายทุกอย่างกลับมาที่น่าน เพื่อหาแหล่งปลูกกาแฟ เลือกระหว่างต้องขนเมล็ดดิบไปคั่วที่พัทยา กับการมาตั้งโรงคั่วที่น่าน และส่งเมล็ดไป อย่างไหนจะคุ้มกว่า
วัชรี บอกว่า เธอเลือกอย่างหลัง โรงคั่วกาแฟมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2554 จากนั้น ก็ย้ายกิจการทั้งหมดกลับจังหวัดน่าน
“น่านดูโอ คอฟฟี่ กำลังการผลิตเมล็ดกาแฟคั่วตก 3.2 ตันต่อเดือน ผลิตในแบรนด์ของตัวเอง และจ้างผลิตให้อีก 5 แบรนด์เล็กๆ พอกลับมาน่าน เราก็ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกาแฟ น่านปลูกกาแฟได้มา 30 กว่าปีแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักกาแฟน่าน ภาคเหนือเน้นพันธุ์อาราบิก้าเป็นหลัก ปลูกเยอะที่เชียงราย เชียงใหม่ หากพันธุ์โรบัสต้าปลูกมากที่ภาคใต้ ที่ชุมพร ซึ่งการเข้ามาส่งเสริมปลูกกาแฟที่น่าน และส่งเสริมปลูกพันธุ์โรบัสต้าน่าน ที่วันนี้เมล็ดกาแฟเป็นที่ต้องการของตลาดนั้น ช่วงแรกๆ เราเน้นคัดเลือกชาวบ้านที่สมัครใจมาประมาณ 100 คน มาปลูกกาแฟ
แต่เมื่อตลาดกาแฟคั่วบดของเราอยู่ภาคตะวันออก โรงคั่วเราอยู่จังหวัดน่าน พันธุ์โรบัสต้าหาไม่ได้ที่นี่ ต้องสั่งเมล็ดกาแฟจากชุมพรเพื่อขึ้นมาคั่ว และส่งลงไปขายภาคตะวันออกอีก วัชรี ตัดสินใจคัดสายพันธุ์กาแฟที่ชุมพรขึ้นมาปลูก ก่อนจะชี้ไปทางที่ผู้จัดการแปลงต้นกล้า ผู้เป็นแม่ ซึ่งเป็นคนดูแลเรื่องของต้นกล้า มีหน้าที่นำไปขายให้ลูกไร่ที่สมัครใจปลูกกาแฟ
จนวันนี้เกิดพันธุ์ “โรบัสต้าน่าน” ที่มีชื่อเสียงขึ้นมา และดังมากที่แม่จริม เป็นคุณภาพที่ตลาดต้องการมาก
“โรบัสต้าทางใต้อากาศจะแรงจะร้อนมาก แต่ฝนตก ฉะนั้นเมล็ดกาแฟที่ได้จะรสชาติกระชากกว่า ขณะที่โรบัสต้าน่านปลูกบนที่ที่มีอากาศเย็น เมล็ดจะค่อยๆ สุก ข้อดี คือ รสชาตินุ่มกว่ากาแฟทางใต้ และบังเอิญตลาดยอมรับ สมาคมกาแฟไทย ต้นปีเรามีเท่าไหร่เขารับหมดเลย ตลาดหลัก 80% เป็นกาแฟพันธุ์โรบัสต้า”
นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ หจก.น่านดูโอ คอฟฟี่ ยังมองเห็นตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน ไม่รีรอจะสร้างอะไรสักอย่างที่เป็นแบรนด์น่านเพื่อให้ลูกค้าดื่มได้อย่างง่ายๆ
จึงเป็นที่มาของกาแฟ 3 in 1 เจ้าแรกของน่าน และของภาคเหนือ ใช้ชื่อ “ภูมิใจ๋คอฟฟี่”
ส่วนแรงบันดาลใจของชื่อ กาแฟ 3 in 1 เธอบอกมาจากความภูมิใจที่เราไปส่งเสริมให้ลูกไร่ปลูกกาแฟให้เรา ดูแลต้นกาแฟด้วยใจ โดยเฉพาะการเก็บของเขาจะไม่มีเมล็ดเขียวปนเลย เรากำหนดว่า ห้ามปนเกิน 5% และให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดที่รับซื้อกัน เพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกร
“กาแฟ 3 in 1 เราทำตลาดของฝากเป็นหลัก โรงแรมน่านบูติก น่านภูมิใจ แสงทองรีสอร์ท หรือโรงแรมเทวราช ก็จะเอาซองของเราไปเสียบในห้องพัก ห้องสัมมนา หรือแม้แต่ร้านโอทอป ร้านของฝากที่น่านก็เอาของเราไปวางอยู่”
และด้วยการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ทำให้วันนี้กาแฟโรบัสต้าน่าน หมดตั้งแต่ต้นปี แทบผลิตไม่พอส่ง บางเจ้าจอง 20 ตัน ได้แค่ 1 ตัน เธอเชื่อว่า ปลายปีนี้ผลผลิตเมล็ดกาแฟน่าจะได้ถึง 100 ตัน และปีหน้าปลูกเท่าไหร่ก็ยังมีตลาดอีกเยอะ ที่สำคัญเราต้องควบคุมคุณภาพให้ได้ ดูเมล็ดดิบเป็น
ก้าวต่อไปสู่กาแฟระดับพรีเมี่ยม กรรมการผู้จัดการ หจก.น่านดูโอ คอฟฟี่ บอกว่า นี่คือเหตุที่ต้องมาคุยกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ขอสินเชื่อในโครงการ SMEsTransformation Loan มาขยายโรงคั่วเมล็ดดิบ และลานตากกาแฟ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 ล้านบาท โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ช่วยค้ำประกันให้ รวมทั้งยังได้สนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีกตามแนวประชารัฐ อีก 3 ล้านบาท
“การที่เราได้สินเชื่อในโครงการ SMEsTransformation Loan ดอกเบี้ย 3% ถือว่า ถูกสุดแล้วสำหรับเอสเอ็มอี ปลอดต้นอีก 3 ปี เหมือนได้เงินมาฟรีๆ ทำให้สิ่งที่เราคิดสามารถขยายธุรกิจได้เลย เป็นการติดปีกให้ธุรกิจอย่างน่านดูโอ คอฟฟี่ ได้อีกเยอะ ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเจอโอกาสแบบนี้ รัฐบาลฉลาดที่มากพัฒนาเอสเอ็มอี เพราะเป็นการต่อยอด เกิดการจ้างงาน ผลสุดท้ายมีเงินมาจ่ายภาษีให้รัฐมากขึ้น”
ทั้งนี้ เธอทิ้งท้ายด้วยว่า การแข่งขันของตลาดกาแฟคั่วสูงมาก ใครๆก็ซื้อเครื่องคั่วตัวละ 5-6 หมื่นบาทแล้วมาทำแบรนด์เองได้ ทำให้เกิดการตัดราคากัน ฉะนั้นตลาดที่มั่นคงในอนาคต จึงมองไปที่ตลาดเมล็ดดิบ ซึ่งควบคุมทุกอย่าง
“อีกหน่อยโรงคั่วทุกโรงคั่วต้องใช้เมล็ดดิบ แต่โรงคั่วทุกโรงคั่ว ไม่มีเมล็ดดิบในมือ”
อีกบริษัทที่สร้างงานให้คนน่านได้ไม่ใช่น้อย และยังนำชื่อเสียงมาให้กับจังหวัด คือ บริษัทชมพูภูคา จำกัด หรือกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ชมพูภูคา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2537 ได้รับอนุมัติวงเงินจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จังหวัดน่าน 3 ล้านบาท และได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อ จากธพว.โครงการ SMEsTransformation Loan จำนวน 5 ล้านบาท โดยมีบสย.ค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 5 ล้านบาท
ปัจจุบันศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน เครื่องเงินทำมือ ชมพูภูคา ได้รับการตรวจวัดคุณภาพจากบริษัท แอสเสย์ จำกัด พบว่า รูปพรรณเงินของศูนย์แห่งนี้ มีธาตุเงินผสมอยู่ในแต่ละแบบสูงถึง 94-98% มากกว่าที่สากลกำหนดไว้ที่ 92.5% ขณะที่กรรมวิธีและการออกแบบลวดลายมีความเฉพาะตัวของเครื่องเงิน มีทั้งแบบดั่งเดิมของเมืองน่าน เครื่องเงินรูปแบบชาวเขา และผสมผสานระหว่างแบบสมัยใหม่และแบบชาวเขา รวมถึงเครื่องเงินงานสไตล์จิวเวอรี่
ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาฯ แห่งนี้ ยังทำหน้าที่ทั้งผลิตและจำหน่าย รวมถึงเป็นแหล่งให้ความรู้และฝึกอาชีพให้กับคนในชุมชนกว่า 200 ครอบครัว
“ตันติกร วรรณวิภูษัต” กรรมการผู้จัดการ บ.ชมพูภูคา บอกว่า สินเชื่อที่ได้มาจะนำไปต่อยอดให้ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน ขยายเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูป ผ้าทอของจังหวัดน่าน รวมทั้งทำร้านอาหารพื้นเมือง อาหารชาวเขามาจำหน่ายแนวสุขภาพ สร้างส่วนหนึ่งเป็นโซนพิพิธภัณฑ์ให้น่าดูมากขึ้น
พร้อมกับหวังให้ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา เป็น “แลนด์มาร์ค” อีกแห่งหนึ่งที่รวมของดีเมืองน่านไว้ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม
กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องเงิน ชมพูภูคา และน่านดูโอ คอฟฟี่ 2 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ช่วยธุรกิจอื่นให้ขยับตาม ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ และสินเชื่อ SMEsTransformation Loan จึงถูกกลั่นกรองและคัดเลือกมาอย่างดีแล้วว่า ตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดอย่างแท้จริง...