โพสต์บ่นลงโซเชียลบ่อย เสี่ยงตกงาน
ใครจะคิดว่าแค่โพสต์บ่นจะทำให้มีโอกาสตกงานได้ ไปดูผลสำรวจกันว่าปัจจัยอะไรที่นายจ้างเลือกที่ปฏิเสธเข้าทำงาน
ในยุคที่ใครๆ ต่างบ่นว่าเป็นยุคแห่งสังคมก้มหน้า ที่ไม่ว่าจะขึ้นรถ ลงเรือหรือนั่งกินข้าว ก็ยังก้มหน้ามองจอสี่เหลี่ยมในมือกันทุกคน
จากการสำรวจพบว่า คนไทยใช้เฟสบุ๊ค (Facebook) มากเป็นอันดับ 8 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในงาน Thailand Zocial Awards 2016 ที่จัดเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจพบว่า คนไทยใช้ Facebook 41 ล้านคน โตขึ้น 17% คิดเป็น 60% ของประชากรไทย ส่วน Facebook Page ไทย มีมากถึง 7 แสนเพจ
โดยมีสัดส่วนเพศชาย:หญิง ที่ใช้เฟสบุ๊ค (facebook) 21:20 เป็นปีแรกที่ผู้ชายใช้ facebook มากกว่าผู้หญิง
ขณะที่ทางด้านผู้ใช้ทวิตเตอร์(twitter) 5.3 ล้านราย โดยมียอดผู้ใช้ที่อัปเดตความเคลื่อนไหว (Active User) 1.2 ล้านคน โตขึ้น 18%
ด้านอินสตาแกรม (Instagram) มีผู้ใช้ 7.8 ล้านคน โตขึ้น 74% มียอดผู้ใช้ที่อัปเดตความเคลื่อนไหว 1 ล้านราย
ด้านแอปพลิเคชั่นไลน์(Line) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแอปฯพูดคุยยอดฮิตของคนไทยมีผู้ใช้งานมากถึง 33 ล้านคน
นอกเหนือจากนี้ยังมีสถิติที่น่าสนใจอย่างหนึ่งพบว่า ตลอดปี 2015 คนไทยโพสต์ข้อความสาธารณะทางโซเชียลมีเดียมากถึง 2,600,000,000 ข้อความ คิดเฉลี่ยประมาณ 7 ล้านข้อความต่อวัน หรือ 82 ข้อความถูกแชร์และเกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ วินาที
ข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นแสดงความคิดเห็น ความแสดงอารมณ์
และเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาเว็ปไซต์ World Economic Forum เผยสำรวจของ YouGov ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของนายจ้างเกี่ยวกับการเลือกบุคคลเข้ารับทำงาน โดยพบว่า 1 ใน 5 ของนายจ้าง เผยว่าปฏิเสธผู้สมัครเข้าทำงานในบริษัทตัวเองเมื่อได้เข้าไปดูพฤติกรรมการใช้งานบนอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย
สาเหตุที่ทำให้นายจ้างส่วนใหญ่ไม่สนใจหรือปฏิเสธรับคนเข้าทำงานมาจาก การใช้คำหยาบ คำสบถรุนแรง รวมไปถึงทัศนคติด้านลบที่ลูกจ้างหรือผู้สมัครงานโพสต์บนหน้าวอลล์ของตัวเอง
ขณะที่การพูดคุยหรือโพสต์สิ่งที่ส่อไปในทางการใช้ยาเสพติดเป็นเหตุผลลำดับรองลงมา
สิ่งที่น่าสนใจคือในผลสำรวจลำดับที่สามที่พบว่า การใช้คำและการสะกดคำผิด เป็นเหตุผลที่นายจ้างเลือกที่จะไม่รับเข้าทำงานได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งมากกว่าประเด็นอย่างโพสต์ภาพกินเหล้า หรือความคิดทางการเมืองด้วยซ้ำ
ผลสำรวจยังพบด้วยว่าองค์กร บริษัทขนาดใหญ่มักจะเข้าไปตรวจสอบปูมหลังของผู้สมัคร ซึ่งจากการสำรวจของ YouGov พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทขนาดใหญ่ปฏิเสธผู้สมัครทันทีเมื่อพบว่าพวกเขาเหล่านั้นมีพฤติกรรมดังกล่าว มีเพียงแค่1ใน 5 ของบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่เลือกจะไม่ตรวจสอบชีวิตของผู้สมัครบนโลกออนไลน์
แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อถกเถียงว่าการกระทำดังกล่าวของนายจ้าง จะเป็นการเข้าข่ายละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ขณะที่บางคนอาจบอกว่าในเมื่อเลือกที่จะโพสต์ลงบนโลกออนไลน์ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความลับอีกต่อไป
หากเป็นอย่างนี้ต่อไปเมื่อคุณคิดจะโพสต์บ่น เรื่องส่วนตัว เพื่อนที่แท็กภาพที่คุณกำลังเมาเละเทะ หรือโดยเฉพาะเรื่องงาน อาจต้องระวังมากขึ้น เพราะนี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่เจ้านายคุณอยากเลิกจ้างก็ได้
ที่มาและภาพประกอบจาก : World Economic Forum https://www.weforum.org/agenda/2017/04/swearing-social-media-jobs-employers?utm_content=buffercf6b9&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer
ข่าวงาน Thailand Zocial Awards 2016 https://www.it24hrs.com/2016/stat-social-media-thai-populations/