ค้าน 18 โครงการรุนแรงมาบตาพุด แหกคอกประชาพิจารณ์ เอื้อเอกชนหลายรายรอด
ส.ต่อต้านสภาวะโลกร้อน ค้านประกาศ 18 โครงการกระทบชุมชนรุนแรงของ คกก.4 ฝ่ายมาบตาพุด เมินเสียงประชาพิจารณ์ เอื้อหลายโครงการหลุดโผ ทั้งปิโตรเลี่ยม เหมืองหิน สนามกอล์ฟ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงหลอมเหล็ก เรียกร้องคณะ กก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ-นายกฯทบทวนประกาศ รออำนาจองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม
ตามที่คณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด (คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ) ได้จัดทำข้อยุติการกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพเสนอต่อนายกรัฐมนตรี 18 โครงการ
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม สมาคมต่อต้านสภาวะแวดล้อม ออกแถลงการณ์คัดค้านการประกาศ 18 โครงการประเภทรุนแรงดังล่าว โดยให้เหตุผลว่ายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ตรงกับความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมากทั่วประเทศ และยังระบุว่าการสรุปผลสรุปผลจำนวนโครงการเป็นเพียงความต้องการของกรรมการบางคน ไม่ใช่ข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการทั้งหมด ไม่สอดคล้องความเห็นหรือความต้องการของประชาชนทั่วประเทศซึ่งเกิดจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาของคณะกรรมการ จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนและหน่วยงานรัฐบางหน่วยงาน โดยมองข้ามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะแวดล้อม กล่าวว่า โครงการหรือกิจกรรมหลายโครงการมีข้อมูลและรูปธรรมชัดเจนว่าเข้าข่ายก่อผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ไม่ถูกกำหนดเป็นโครงการประเภทรุนแรง เช่น 1.โครงการขุดสำรวจน้ำมันหรือปิโตรเลียม ซึ่งมีรูปธรรมบริษัทบีพี ที่อ่าวเม็กซิโก ว่าทำลายทรัพยากรทางทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพมหาศาล รวมทั้งชุมชนชาวประมงจำนวนมาก แต่คณะกรรมการมองข้ามประเด็นดังกล่าว จนขณะนี้เกิดความขัดแย้งในในพื้นที่เกาะสมุยและ จ.ครศรีธรรมราช และ สงขลา
2.โครงการทำเหมืองหิน ระเบิดและย่อยหินก่อสร้าง มากมายทั่วประเทศ ทำลายทรัพยากรหิน ดิน แร่ ภูเขาและป่าไม้ ก่อเกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นหิน รวมทั้งเสียงระเบิดที่กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสัตว์จำนวนมาก ดังตัวอย่างบริเวณหน้าพระลาน จ.สระบุรี 3.โครงการขุดทรายหรือดูดทรายอุตสาหกรรม ในพื้นที่บนบก ในแม่น้ำและในทะเล ก่อผลกระทบมากมาย ทำให้ตลิ่งซึ่งเป็นพื้นที่เอกสารสิทธิ์ประชาชนเสียหายตลอดแนวแม่น้ำหรือทะเล ดังตัวอย่างโครงการขุดหรือดูดทรายบริเวณแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ที่เกิดความเสียหายต่อนิเวศน์ลุ่มน้ำอย่างมหาศาล
4.โครงการสนามกอล์ฟ ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก ทำให้ต้องแย่งชิงน้ำอุปโภค บริโภคของเกษตรกรและชาวบ้าน รวมทั้งใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการบำรุงรักษาต้นหญ้าในโครงการ ซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจายของสารเคมีลงแหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดิน กำลังก่อให้เกิดความขัดแย้งมากมาย เช่น กรณีสนามกอล์ฟเชียงใหม่ หรือในชลบุรี 5.โครงการที่เกี่ยวข้องกับพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้ผู้บริโภคและเกษตรกรด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและการกลายพันธุ์ อีกทั้งเบียดบังพันธุกรรมพืชพันธุ์พื้นเมืองของประเทศ ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคต้องเสี่ยงที่จะตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของนักธุรกิจต่างชาติหรือบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์พืชพันธุ์จีเอ็มโอ
6.โครงการก่อสร้างและผลิตไฟฟ้าชีวมวล สร้างความขัดแย้งของชาวบ้านในพื้นที่กับผู้ประกอบการจำนวนมากทั่วประเทศ บางโครงการทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยใช้ฟืนเป็นวัตถุดิบ ทำให้เกิดการลักลอบตัดต้นไม้ในพื้นที่ป่ามาขายให้โรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่อีสานตอนเหนือ และบางโครงการก่อสร้างในพื้นที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น โรงไฟฟ้าห้วยยาง อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมประเภทใช้ก๊าซหรือวัตถุดิบอื่นใดทุกประเภท ทุกขนาด ซึ่งมีการคัดค้านของชุมชนทั่วทุกพื้นที่ แต่กลับได้รับการยกเว้น เช่น โรงไฟฟ้าที่หนองแซง จ.สระบุรี โรงไฟฟ้าที่พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
7.โครงการโรงงานหลอมเหล็กและโลหะ ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษจำนวนมากทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และเสียงดัง ชุมชนในพื้นที่ชุมนุมประท้วงมากมาย อาทิ โรงหลอมเหล็ก อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี 8.โครงการตัดหรือขยายหรือก่อสร้างถนนใกล้พื้นที่ป่าหรือเขตอนุรักษ์ ตัดฟันต้นไม้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก ขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์การป้องกันก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาล ดังกรณีการขยายถนน 4 เลนสู่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มรดกโลก นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง ภาคประชาสังคม และประชาชน
9.โครงการเกี่ยวกับการก่อสร้างหรือขยายเส้นทางขนส่งมวลชน แม้เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ควรสนับสนุน แต่การการก่อสร้างนำมาซึ่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพประชาชนจำนวนมาก ก่อปัญหาการจราจรมากมายขณะก่อสร้าง ปัญหาน้ำท่วมเพราะวัสดุก่อสร้างไปปิดกั้นทางน้ำ การแพร่กระจายของฝุ่นละอองและเสียงดัง หากไม่มีมาตรการชัดเจนในการดำเนินการ อาทิ โครงการขยายเส้นทางรถไฟ รฟท. โครงการก่อสร้างและขยายเส้นทางรถไฟฟ้า รฟม.ภาคประชาชนกำลังจะฟ้องร้องยุติโครงการเร็วๆนี้
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ยังมีโครงการหรือกิจกรรมอีกมากมายที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ซึ่งประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคมและนักวิชาการได้นำเสนอให้คณะกรรมการฯทราบแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ แต่กลับหาข้อสรุปกันเองแล้วสมอ้างว่าได้ทำการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน 4 ภาคทั่วประเทศแล้ว
สมาคมฯ จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ทบทวนการประกาศรายชื่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพใหม่ โดยเปิดเวทีรับฟังเสียงสาธารณะในทุกช่องทางรอบด้านอย่างแท้จริงตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรอให้องค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เป็นผู้ใช้อำนาจประกาศตามร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ... เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และครอบคลุมปัญหาและความต้องการประชาชน ชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศแท้จริง อันนำไปสู่การลดความขัดแย้งในโครงการพัฒนาใดๆได้ แต่หากนายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการฯ เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง สมาคมฯจะพึ่งกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนรัฐธรรมนูญต่อไป .