ศาสตร์จากอัมพวา รอยพระราชาในหนังสือเดินทาง
การเรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา” และกระตุ้นการเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 จากการเดินทางในครั้งนี้ จึงเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ประสบการณ์ที่ได้รับยังส่งผลเพิ่มพูนให้มองสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้แตกต่างออกไป
เด็ก ๆ กำลังตื่นเต้น ทั้งหมดแสดงท่าทีชัดเจน ว่า พวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เปิดรับสิ่งที่จะได้สัมผัสจากสถานที่จริง ในสิ่งแวดล้อมจริง จากครูคนใหม่ที่ได้ใกล้ชิด ซึ่งก็คือคนและวัตถุสิ่งของที่จับต้องได้ ทั้งหมดคือขุมความรู้ที่ทุกคนกำลังรออย่างใจจดใจจ่อ
สิ่งที่จะจะได้เริ่มต้นเรียนรู้ในวันนี้ อยู่ใน โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อให้เครือข่ายพ่อแม่ ครูและนักเรียน มีโอกาสใช้ประโยชน์จากคู่มือการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในแคมเปญ “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” (The King’s Journey Learning Passport) ที่มุ่งสืบสานพระราชปณิธานในการพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
หนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มนี้ กำลังจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดทักษะศตวรรษที่ 21 กระตุ้นให้เด็ก ๆ สร้างคุณลักษณะที่ดีจากการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทำให้ผู้เรียนได้สนุกรู้ สนุกคิด สนุกเล่น โดยเริ่มต้นจากเส้นทางตามรอยพระราชาในภาคตะวันตก ซึ่งครอบคลุมแหล่งเรียนรู้ 9 แห่ง ใน 3 จังหวัด คือ นครปฐม สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ก่อนจะขยายให้ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ
"พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน" ผู้ช่วยผู้จัดการด้านบริหาร สสค. บอกว่า “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” เล่มนี้ต้องการให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ศาสตร์ของพระราชา จากประสบการณ์จริง ด้วยการเข้าถึง เข้าใจในพระวิริยะอุตสาหะ พระอัจฉริยภาพและความรักความห่วงใยของพระราชาที่ทรงมีต่อพสกนิกรผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยคำถามและกิจกรรมสร้างสรรค์ประสบการณ์จริงจากแหล่งเรียนรู้ด้วยแนวคิด “สนุกรู้ สนุกคิด สนุกทำ” และกระบวนการ Transformative Learning: Head Heart Hand (3H) ที่ส่งเสริมการคิดการสร้างแรงบันดาลใจการลงมือปฏิบัติขณะเดียวกันหนังสือเดินทางเล่มนี้ยังเป็นสื่อเชื่อมสายใยการเรียนรู้สิ่งที่อยู่รอบตัวร่วมกัน ระหว่างเด็กเยาวชนและครอบครัว ครูและลูกศิษย์
เด็ก ๆ และผู้ปกครองจาก โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ กำลังจะได้เข้าไปสัมผัสโครงการที่ คุณยาย ประยงค์ นาคะวะรังค์ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้าง 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12 ตารางวาในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อใช้ประโยชน์ ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2551 สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการโดยทรงพระราชทานนามโครงการแห่งนี้ว่า โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์
พื้นที่ในโครงการนี้มีหลายสิ่งให้เด็ก ๆ เรียนรู้ จังหวัดสมุทรสงคราม นั้นได้ขื่อว่าเป็น "เมือง 3 น้ำ" ที่มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม แม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน มีลำคลองผ่านหลายสาย คือ คลองอัมพวา คลองวัดนางวัง คลองวัดบางกะพ้อม คลองบางจาก คลองดาวดึงษ์ คลองลัตตาโชติ การทำการเกษตรในพื้นที่นี้ จึงต้องปลูกพืชที่ตอบโจทย์ความอดทนต่อความเปลี่ยนแปลงของน้ำ
ที่นี่จึงปลูกมะพร้าวมาก และความเป็นพื้นที่ลักษณะพิเศษนี้เองที่ทำให้ได้มะพร้าวที่มีคุณสมบัติเฉพาะถิ่น ซึ่งเมื่อนำมาทำน้ำตาลมะพร้าว จะได้หอม หวาน อร่อยกลมกล่อมเป็นพิเศษ
เด็กและผู้ปกครองได้เห็นการใช้ประโยชน์จากมะพร้าวอย่างครบวงจร ได้เห็นการทำน้ำตาลตั้งแต่การ ตัดงวงมะพร้าว รองน้ำตาลลงในกระบอก กรองน้ำตาลสดที่ได้ ก่อนเทลงใส่ในกระทะตั้งบนเตาไฟ ด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมเอกลักษณ์ภูมิปัญญาชาวอัมพวา
จากนั้นก็ได้ เข้าครัวคุณยายสมัยรัชกาลที่ 2 ทำลูกชุบและขนมวงทอง รู้จักเรือนไทยและการทำเรือนไทยโบราณ รู้จักวิถีชีวิตริมสายน้ำที่ต้องสัญจรและประกอบอาชีพด้วยเรือรูปแบบต่าง ๆ
อัมพวา ยังมีเรือไทยพื้นบ้านให้เยี่ยมชม เห็นตั้งแต่วิวัฒนาการเรือ ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ นำท่อนไม้หลาย ๆ ท่อนมาผูกเป็นแพ จนมาถึงในระยะสุดท้ายที่มีการขุดท่อนซุงเป็นเรือ ได้เห็นว่า เรือไทยพื้นบ้าน ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีชื่อเรียกและประโยชน์ใช้สอยต่างกันไป ชื่อที่ไม่คุ้นเคย อย่างเรือเข็ม เรือมาดประทุน เรือชะล่า เรือกระแชง เรือข้างกระดาน เรือเอี้ยมจุ๊น เรือผีหลอก เรือบด ถูกบันทึกถ่ายทอดออกมาเป็นแบบลายเส้นในกระดาษ ให้เด็ก ๆ ทำความรู้จักด้วยการฝึกระบายสี
นอกจากนี้ ยังได้เห็นการทำหัวโขน และฝึกสานใบมะพร้าวเป็นรูปต่าง ๆ จากผู้สอนซึ่งเป็นคนในท้องถิ่น และสนุกทำน้ำม่วงชื่น ชานชาลา สูตรพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
เด็กหญิงอินทัช ปิ่นมณี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตลอออุทิศ บอกถึงความรู้สึกสนุกที่ได้เดินทางมาทัศนะศึกษาตามเส้นทางในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ไม่เหมือนเดินทางมาเที่ยวแบบที่เคยมากับครอบครัวหรือโรงเรียนเหมือนได้เรียนนอกห้องเรียน ที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงอีกด้วย
“ได้ลองสานใบมะพร้าวเป็นรูป ปู ปลา ตอนเริ่มก็ยาก แต่ก็พยายามจนได้ ได้เห็นการทำสิ่งของพื้นบ้านซึ่งในโรงเรียนไม่มี ทั้งหมดเคยเป็นเรื่องไกลตัว เห็นบ้างในสื่อการเรียนการสอน ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งต่างจากที่ได้มาสัมผัสจริงมาก” เด็กหญิงอินทัช กล่าว
"จริยาพร ปิ่นมณี" ผู้ปกครองของ เด็กหญิงอินทัช ซึ่งปกติช่วงวันหยุดจะส่งลูกไปเรียนพิเศษ แต่หลังจากที่ทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรมให้นักเรียนมาทัศนะศึกษาตามเส้นทางในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา ก็สนับสนุนให้มา เพราะเห็นว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงน่าจะได้ประโยชน์กว่า
“เมื่อเขามาทัศนะศึกษาได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ก็แนะนำให้เขาจดบันทึกตาม เพราะเห็นคำแนะนำในหนังสือเดินทางตามรอยพระราชาและลูกเคยบอกว่า อยากเป็นนักเขียน ก็บอกเขาว่า ถ้าอยากเป็นนักเขียนจะต้องรักการจดบันทึก บรรยายสิ่งที่พบเห็น และทำความเข้าใจอย่างละเอียด และต้องรักการเดินทางไปพบสิ่งใหม่ ๆ ตอนนี้ก็อาจจะเริ่มจากสถานที่ใกล้ ๆ กรุงเทพ ตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ 9 แห่งตามที่ระบุไว้ในคู่มือเล่มนี้ ก็ได้”
การเรียนรู้ “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และกระตุ้นการเรียนรู้ทักษะศตวรรษที่ 21 จากการเดินทางในครั้งนี้ จึงเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่นอกจาก บรรดาเด็กๆ และผู้ปกครองจะได้ประทับตรา แปะสติ๊กเกอร์ เพื่อปักหมุดการมาเยือน และตั้งคำถามจากสิ่งที่เห็น ลงใน “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” แล้ว ประสบการณ์ที่ได้รับยังส่งผลเพิ่มพูนให้มองสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้แตกต่างออกไป อัมพวาไม่ใช่แค่สถานที่ท่องเที่ยว แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนเป็นพลวัตรของหลายสิ่งสอดประสานเป็นกลไกอยู่ภายใน
สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ คือส่วนหนึ่งใน หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา คือสถานที่เดียวที่ยังรอให้พวกเขากำหนดจุดหมายยังที่อื่น ๆ อีก 8 แห่งในโอกาสต่อไป อย่างใจจดใจจ่อเช่นกัน