ศิริราชจับมือ สปสช.จัดระบบส่งต่อ ‘ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน’8 เขตกทม.
รพ.ศิริราช จับมือ สปสช.เขต 13 กทม.จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ดูแลผู้ป่วย กทม.ฝั่งธนบุรี เข้าถึงการรักษาทันท่วงที ช่วยลดอัตราการตาย พร้อมขยายความร่วมมือเขตบริการสุขภาพของ สธ. รับส่งต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 5 จังหวัดใกล้เคียง
นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน และกลับมามีภาวะปกติได้ ซึ่งในอดีตผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตที่สูง ดังนั้นในปี 2557 รพ.ศิริราชจึงได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม.วางแผนจัดทำระบบเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี รพ.ศิริราชรับเป็นแม่ข่ายรับส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่เขตกรุงธนเหนือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งหมด 8 เขต ประกอบด้วย เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตตลิ่งชัน และเขตทวีวัฒนา นอกจากนี้ยังได้ประสานกับ รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ในฝั่งธนเหนือเพื่อจัดทำระบบร่วมกัน
นพ.ดำรัส กล่าววว่า จากความร่วมมือในการจัดทำระบบดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรงพยาบาลศิริราชได้มีการจัดระบบที่เป็นช่องทางด่วนรองรับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากจัดทำสายด่วนและการรับส่งต่อผู้ป่วยที่รวดเร็วแล้ว ยังมีทีมแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลและพร้อมให้การรักษาผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งแพทย์ พยาบาล นักรังสีเทคนิค และนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแพทย์หัวใจประจำโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง ขณะที่โรงพยาบาลลูกข่ายในโซนฝั่งธนเหนือได้มีการเตรียมระบบดูแลและส่งต่อผู้ป่วยเช่นกัน อย่างการให้ยาละลายลิ่มเลือด หากวินิจฉัยแล้ว ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤตที่ต้องรักษาเร่งด่วน จะส่งต่อผู้ป่วยมายัง รพ.ศิริราชได้ภายใน 10-30 นาที
“ทันทีที่ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันถูกส่งต่อมาถึง รพ.ศิริราช ทีมแพทย์ รพ.ศิริราชจะเปิดการรักษาภายใน 30 นาที ด้วยระบบช่องทางด่วนนี้ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้จากเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 โดยตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตให้ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7 ผลที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องขอบคุณทีมงานทั้งหมดที่ช่วยกัน รวมถึง สปสช.เขต 13 กทม. ที่ร่วมกันพัฒนาจนเกิดระบบนี้ โดยเป็นพื้นที่นำร่องและเตรียมที่จะขยายไปยังเขตอื่นๆ ต่อไป” หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ กล่าว
นพ.ดำรัส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในปี 2560 นี้ ยังได้ขยายเครือข่ายเพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในเขตพื้นที่กรุงธนใต้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งหมด 8 เขต ครอบคลุมประชากร 2.2 ล้านคน นอกจากนี้ รพ.ศิริราช ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขตามแผนการจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) โดยเป็นแม่ข่ายรับส่งต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 5 จังหวัดใกล้เคียง กทม. ประกอบด้วย นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วและลดอัตราการเสียชีวิตลง
ด้าน นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นความร่วมมือกับ รพ.ศิริราช รวมถึง รพ.ลูกข่ายเพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ฝั่งธนบุรี ปัจจุบันไม่เพียงมี รพ.รัฐ ที่เข้าร่วม แต่ยังมี รพ.เอกชน ร่วมบริการในระบบนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการรับส่งต่อ หรือระหว่างหน่วยบริการรับส่งต่อระดับต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะในโรคที่มีอัตราตายสูงและมักประสบปัญหาการประสานส่งต่อและเตียงเต็ม อย่างเช่น กรณีผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันนี้ ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และมีคุณภาพมาตรฐาน