เด็กอนุรักษ์น้ำยม ประณามผู้ว่าฯแพร่ เผด็จการสั่ง นร.เซ็นชื่อเชียร์แก่งเสือเต้น
จากข่าว ผวจ.แพร่ สั่งการล่ารายชื่อ นร.ทั้ง จว.หนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งมีกระแสก่อนหน้านี้ว่า เสธ.หนั่น ประกาศเดินหน้าโครงการ เยาวชนตะกอนยมประณามการกระทำดังกล่าว 16 ก.ค.ชาวบ้านสะเอียบชุมนุมศาลากลาง-ยื่นหนังสือนายกฯพร้อม 13 ปัญหาสมัชชาคนจน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม นายสายันต์ ข้ามหนึ่ง แกนนำกลุ่มเยาวชนตะกอนยม ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เปิดเผยถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เรียกประชุมด่วนฝ่ายการศึกษาจังหวัด เพื่อให้ล่ารายชื่อนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาทั่วทั้งจังหวัดสนันสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมกันนี้ยังให้ส่งจดหมายด่วนที่สุดไปยังโรงเรียนทั้งหมดพร้อมแนบตัวอย่างแบบฟอร์มใบลงชื่อที่ได้มีการลงรายชื่อนักเรียนไว้เรียบร้อยแล้ว และให้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อส่งมอบผู้ว่าฯภาย 16 ก.ค.นี้
ในเอกสารที่แนบมากับจดหมายด่วนที่สุดซึ่งเป็นข้อสรุปจากการประชุม ได้ระบุให้สถานศึกษาต่างๆให้ความร่วมมือกับทางจังหวัด 4 ข้อคือ 1.รณรงค์การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแก่ครู นักเรียน และบุคลากรในสถานศึกษา 2.ให้ครู นักเรียน และบุคลากรดังกล่าวร่วมลงชื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อน 3.นำรายชื่อทั้งหมดส่งผู้ว่าฯในเช้าวันที่ 16 ก.ค. และ 4.นำครู นักเรียน และบุคลากร มาร่วมชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อนในวันดังกล่าวที่หน้าศาลากลาง
นายสายันต์ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของผู้ว่าฯแพร่ สวนกระแสปฎิรูปประเทศที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองและการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกดขี่จากผู้มีอำนาจ และเป็นการฉกฉวยใช้อำนาจรัฐผลักดันโครงการเอื้อประโยชน์ผู้มีอำนาจโดยเฉพาะนักการเมืองและพวกพ้องอย่างไร้คุณธรรมจริยธรรมนักปกครอง โดยไม่คำนึงถึงเสียงประชาชนและความเสียหายต่อดิน น้ำ ป่า ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพของประชาชน ทั้งยังสร้างความแตกแยกให้ประชาชนในพื้นที่
กลุ่มเยาวชนตะกอนยม ยังออกแถลงการณ์ใจความว่า การกระทำดังกล่าวเยี่ยงเผด็จการและไร้เหตุผล มีผลการศึกษาวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นได้ไม่คุ้มเสีย โดยกรมทรัพยากรธรณีชี้ว่าบริเวณที่จะสร้างเขื่อนตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนเปลือกโลกซึ่งเสี่ยงสูงที่จะเกิดแผ่นดินไหว, องค์การอาหารและการเกษตรโลก(FAO) ชี้ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) สรุปว่าเขื่อนนี้ไม่คุ้มทุนค่าก่อสร้างและรัฐไม่ควรสนับสนุน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) สรุปว่าผืนป่ามีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์และชุมชนอย่างมหาศาล,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสรุปว่าพื้นที่สร้างเขื่อนเป็นอุทยานแห่งชาติที่อุดมสมบูรณ์และป่าสักทองธรรมชาติผืนเดียวที่เหลืออยู่
และในวันที่ 15 ก.ค.นี้ ชาวบ้านสะเอียบจะไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดแพร่เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้ว่าฯ จากนั้นวันที่ 16 ก.ค.จะนำเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นรวมกับอีก 13 กรณีปัญหาที่จะเจรจากับรัฐบาลในนามสมัชชาคนจนที่ทำเนียบรัฐบาล .