จี้กรมบัญชีกลางตอบ 4 ข้อ ปมออกบัตรรักษา ขรก.ไม่แก้ทุจริต-สิ้นเปลือง
เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการยื่นหนังสืออธิบดีกรมบัญชีกลางถาม 4 ข้อ ปมออกบัตรสมาร์ทการ์ดรักษาพยาบาลข้าราชการ ชี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาทุจริตเบิกจ่ายยาของ ขรก.บางรายอย่างที่กล่าวอ้าง ทั้งถอยหลังลงคลอง สิ้นเปลืองงบใช่เหตุ สวนทางนโยบายคนไทย 1 ใบก็พอ ระบุ สปสช.และ สปส.ก้าวหน้ายกเลิกบัตร มาใช้บัตรประชาชนแทนแล้ว
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานเครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา คสร.ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมบัญชีกลางทักท้วงโครงการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดรักษาพยาบาลของข้าราชการที่กรมบัญชีกลางกำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้ด้วยข้ออ้างว่าต้องการแก้ปัญหาทุจริตของข้าราชการบางคน
“คสร.เห็นว่าโครงการบัตรสมาร์ทการ์ดของกรมบัญชีกลางนี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น และทำให้เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็นทั้งยังสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่บอกว่า คนไทย 1 ใบก็พอ ขณะที่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองและสิทธิประกันสังคมจากที่เคยมีบัตรประจำตัว ก็ก้าวหน้าเปลี่ยนมาใช้บัตรประชาชนใบเดียว แต่กรมบัญชีกลางกลับจะถอยหลังเข้าคลองออกบัตรสมาร์ทการ์ดนี้ขึ้นมา” นพ.มงคล กล่าว
นพ.มงคล กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาด้วยการทำบัตรสมาร์ทการ์ดดังกล่าวอาจยังไม่รอบคอบพอ ไม่มีเหตุผลสนับสนุนทางวิชาการที่เพียงพอและอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงประเด็นในการควบคุมค่าใช้จ่ายและลดปัญหาเรื่องการทุจริตของข้าราชการบางคน คสร.จึงได้ยื่นหนังสือถามอธิบดีกรมบัญชีกลาง 4 ประเด็นดังต่อไปนี้ คือ
1.ความคืบหน้าและแผนในการดำเนินการเรื่องการทำบัตรประจำตัวผู้ป่วยโครงการเบิกจ่ายตรง
2.มีข้อดีและข้อเสีย ต่างจากที่ได้มีการพัฒนาบัตรประจำตัวประชาชนเป็น "บัตรฉลาด" หรือ สมาร์ทการ์ด (Smart Card) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และมีนโยบาย “คนไทย 1 ใบก็พอ”อย่างไร
3.กองทุนสุขภาพ สปสช.และ สปส.ใช้บัตรประจำตัวประชาชนอย่างเดียวในการระบุตัวตนเพื่อรักษาพยาบาล (ยกเลิกการใช้บัตรทอง บัตรรักษาพยาบาลสิทธิประกันสังคม) เหตุใดกรมบัญชีกลางจึงสวนกระแสใช้บัตรอื่นเพิ่มเติม และไม่สอดคล้องกับนโยบายการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ
4.จากกรณีที่กรมบัญชีกลางชี้แจงว่าต้องใช้งบประมาณในการทำบัตร 50 ล้านบาทสำหรับผู้มีสิทธิ 5 ล้านคน นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกหลายประเด็นในการบริหารจัดการ แล้วกรมบัญชีกลางได้ประเมินค่าใช้จ่ายเหล่านี้หรือไม่ อย่างไร และมีมูลค่าจำนวนเท่าใด