10 ล้านครัวเรือนหนี้ท่วมหัว สะท้อนปัญหาการเงินไม่เป็นธรรม
ทีดีอาร์ไอเปิดเผยสถานการณ์หนี้ในไทย พบ 10.4 ล้านครัวเรือน เป็นหนี้ แรงงานไทยรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท/ครัวเรือน เป็นหนี้ 97% ส่วนใหญ่ผิดนัดชำระ เเนะวิธีปลดเเอกทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน กลุ่มธนาคารต้องผลักดันความรู้ทางการเงิน เพิ่มช่องทางเข้าถึงเเหล่งทุนในระบบ
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ และก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องคือการตกเป็นหนี้โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยคนไทยมีปัญหาทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อกู้หนี้ เงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมของสัญญาการกู้เงิน และผลพวงจากการเป็นหนี้
เพื่อแก้ปัญหานี้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันให้ข้อมูลและพัฒนาทักษะให้ประชาชนรู้เท่าทันการเป็นหนี้และรู้จักการบริหารจัดการทางการเงิน การออกกฎหมายที่เสริมสร้างความเป็นธรรมในเรื่องหนี้ และการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน
ด้วยเหตุนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับเครือข่ายผู้นำที่เข้าร่วมหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development :RoLD)จัดเสวนา เรื่อง “หนี้ที่เป็นธรรม...เราจะทำได้หรือไม่”
นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (Thailand Development Research Institute:TDRI) เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้ในไทยว่า ครัวเรือนไทยกว่า 49% หรือ 10 ล้านครัวเรือน จากทั้งหมด 21 ล้านครัวเรือน เป็นหนี้ โดย 91.4% เป็นหนี้ในระบบ และอีก 4.9% เป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว ที่เหลือ 3.7% มีหนี้ทั้งสองแบบ
ทั้งนี้ แรงงานไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ถึง 97% (มูลค่าเฉลี่ย 132,000 บาท) โดยเป็นหนี้นอกระบบ 53.6% และ 78.6% เคยผิดนัดชำระหนี้
สำหรับอาชีพที่มีหนี้มากที่สุด (ทั้งในและนอกระบบ) ได้แก่ เกษตรกรและกลุ่มคนที่ทำธุรกิจ โดยส่วนใหญ่ต้องการกู้หนี้ไปเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค (41%) ซื้อบ้านและที่ดิน (33%) ทำการเกษตร (14%) ทำธุรกิจ (10%) และการศึกษาบุตรและอื่นๆ (2%) นอกจากนี้ยังมีการกู้เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่าการศึกษาบุตร และ ค่ารักษาพยาบาล อีกด้วย
นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ บอกว่า ไม่ว่าครัวเรือนไทยจะกู้เงินในระบบหรือนอกระบบ จุดที่ทำให้เกิดปัญหา คือ จุดที่ผู้กู้เงินไม่สามารถชำระหนี้ทันตามกำหนด จนกลายเป็นภาระหนี้พอกก้อนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้นอกระบบที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา เพราะผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้นอกระบบมักเอารัดเอาเปรียบ มีการคิดดอกเบี้ยถึง 20% ต่อเดือน และมักคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกในเวลาที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด
จึงเป็นสาเหตุทำให้ลูกหนี้ต้องกลายเป็นผู้ที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น อีกทั้งเจ้าหนี้นอกระบบยังใช้วิธีการทวงหนี้ที่รุนแรง เช่น การใช้กำลังข่มขู่ หรือทำให้ลูกหนี้อับอายด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งการเอารัดเอาเปรียบและวิธีการทวงหนี้ที่รุนแรงนี้ ได้ทำให้ลูกหนี้เกิดความเครียดสูง และมักตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย การฆ่าคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งการหันไปค้ายาเสพติดเพื่อนำเงินที่ได้ไปชดใช้หนี้ ตามที่ปรากฏในข่าวอยู่เป็นประจำ
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ด้าน น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด กล่าวถึงเหตุที่คนบางส่วนหรืออาจจะหลายส่วนที่ไม่ได้ถูกรายงานในสถิติเลือกที่จะกู้เงินกับเจ้าหนี้นอกระบบ เพราะคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ เนื่องจากแหล่งเงินกู้ในระบบอย่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ สหกรณ์ บัตรเครดิต ฯลฯ ต่างก็มีข้อจำกัดหลายประการ
ยกตัวอย่างเช่น มีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ ระยะเวลาในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อค่อนข้างนาน และมีความซับซ้อนในการคิดดอกเบี้ย ขณะที่เจ้าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่จะไม่พิจารณาเรื่องรายได้ขั้นต่ำ หรือ ความเป็นไปได้ในการชำระคืนของผู้กู้ อีกทั้งยังมีขั้นตอน และระยะเวลาที่สะดวกรวดเร็ว ข้อเด่นเหล่านี้จึงจูงใจให้ผู้กู้มองข้ามเรื่องดอกเบี้ยอัตราสูงจากการกู้นอกระบบไปได้อย่างง่ายดาย
คำถามสำคัญจึงอยู่ในประเด็นที่ว่า หนี้ที่เป็นธรรมคืออะไร และจะมีวิธีแก้ปัญหาหนี้สินของครัวเรือนไทยได้อย่างไร
สำหรับทั้งสองประเด็น น.ส.สฤณี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะพิจารณาหนี้ที่เป็นธรรม ควรแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อกู้หนี้ เงื่อนไขของสัญญาการกู้เงิน และผลพวงจากการเป็นหนี้ โดยให้พิจารณาว่า ก่อนเป็นหนี้คนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เท่าเทียมกันหรือไม่ ระหว่างเป็นหนี้ สัญญาที่เป็นธรรมเป็นแบบใด และเมื่อเป็นหนี้แล้วผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้มีหลักในการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งผลปรากฏว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้ง 3 ส่วน
สำหรับวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดหนี้ที่เป็นธรรมนั้น น.ส.สฤณี ได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหา โดยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น ภาครัฐ และภาคเอกชนควรร่วมกันพัฒนาทักษะให้คนรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น รวมถึงกลุ่มธนาคารต่าง ๆ ควรผลักดันความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้กับคนธรรมดาผ่านผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคารให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังนำเสนอให้ภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องนำเทคโนโลยีมาเพิ่มช่องทาง (Access) ในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ในฐานะผู้แทนจากภาครัฐได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหาทั้งส่วนที่ภาครัฐได้ทำแล้วกับส่วนที่ภาครัฐกำลังผลักดันเพื่อช่วยให้เกิดหนี้ที่เป็นธรรม โดยเน้นการสร้างอำนาจให้เท่าเทียมกัน ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
1. การออกกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่ภาครัฐพยายามใช้กฎหมายมาแก้ปัญหาความรุนแรงในการทวงหนี้ โดยพยายามตีกรอบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม
2. การเพิ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย เช่น การกำหนดไม่ให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยอัตราสูง โดยอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต้องไม่เกิน 15% ต่อเดือน
3. การเปิดช่องทาง เช่น หากเจ้าหนี้ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 15% จะต้องจดทะเบียนให้เหมาะสม เสมือนเป็นการนำสิ่งที่อยู่ในที่มืดมาอยู่ในที่สว่าง
4. การทำสถาบันการเงินชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีการจัดการทางการเงินที่เหมาะสมและยั่งยืนยกตัวอย่างกรณีสถาบันการเงินชุมชนปากเกร็ดร่วมใจ 2 ที่ตั้งอยู่ในอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่มีการแก้ไขปัญหาด้วยการวางระบบการปล่อยสินเชื่อ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุมชนที่รู้จักความประพฤติของคนในชุมชนมารับผิดชอบการปล่อยกู้ โดยใช้หลักเกณฑ์การประกอบสัมมาชีพและความประพฤติในชุมชนเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา และ ยึดหลักการทวงหนี้ที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆ ในการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน
5. การสนับสนุนให้ประชาชนทุกครัวเรือนทำบัญชีรายรับรายจ่าย ถือเป็นวิธีที่ง่ายและซับซ้อนน้อยที่สุดที่อยากให้ทุกครัวเรือนได้ทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกเดือน เพื่อให้เห็นและจำกัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการมีรายได้ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน
จากสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของคนไทย สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ทั้งที่ถูกรายงานและไม่ถูกรายงานในระบบข้อมูลสถิติต่างก็ประสบปัญหาทางการเงิน และมีหนี้ทั้งในและนอกระบบ ซึ่งหากคนเหล่านี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทันตามกำหนด ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคมเรื้อรัง
แม้ว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมจะพยายามแก้ปัญหา แต่ก็ยังมีข้อท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น เทคโนโลยีที่พยายามเข้ามามีส่วนในการแก้ไขจะช่วยให้คนเข้าถึงเงินทุนที่เป็นธรรมได้เพียงใด และทางออกที่คิดขึ้นจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ยั่งยืนได้หรือไม่ .