สธ.หนุนวิจัย 'แบบประเมิน EF' หวังช่วยคัดกรอง พฤติกรรม–อารมณ์ เด็กไทย
ประเทศไทยมีเด็กวัย 0-6 ปี จำนวน 4.58 ล้านคน โดยสถานการณ์ปัญหาที่น่าเป็นห่วงจากการสำรวจพัฒนาการเด็กของกรมอนามัย ปี 2557 พบว่า เด็กแรกเกิดถึงวัย 5 ปี มีพัฒนาการไม่สมวัยร้อยละ 30 จึงจำเป็นต้องเร่งค้นหาเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า เช่น กลุ่มออทิสติกหรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้ อีกทั้งกลุ่มที่มีปัญหาพัฒนาการทางด้านพฤติกรรม อารมณ์ และความคิด ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจเชื่อมโยงไปสู่การเกิดปัญหาสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด การติดเกม ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การทะเลาะวิวาท ฯลฯ ซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษา การกระตุ้นพัฒนาการและติดตามจากคนใกล้ชิด
ปัญหาเหล่านี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบกับการเรียนของเด็กไทย โดยพบว่าเด็กไทยชั้น ป.3-6 ประมาณ 10-15 % 'อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น'
แนวทางการแก้ไขด้านหนึ่งก็คือ การทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร หรือ Executive Functions (EF) เพื่อลดการเกิดปัญหา ซึ่งในปี 2557-2559 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาและหาค่าเกณฑ์มาตรฐานเครื่องมือประเมินการคิดขั้นสูงในเด็กปฐมวัย ปีที่ 1 และ 2 ให้กับทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ร่วมกับ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จนพัฒนาเป็น 'แบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-101)' และ 'แบบประเมินปัญหาพฤติกรรมด้านการคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กก่อนวัยเรียน (MU.EF-102)' ขึ้น เพื่อให้ครูผู้ดูแลเด็กหรือครูอนุบาล นำไปใช้คัดกรองเด็กในชั้นเรียน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยได้นำเสนอแบบประเมินดังกล่าวให้กับผู้กำหนดนโยบาย ในการประชุมคณะกรรมการ สวรส. ครั้งที่ 10/2559 เมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติโดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล นักวิจัย นำเสนอว่า ใช้เวลาปีแรกในการพัฒนา (ร่าง) แบบประเมินให้มีความถูกต้องเที่ยงตรงในเชิงเนื้อหา รวมทั้งทดสอบคุณภาพของ (ร่าง) แบบประเมินจนมั่นใจว่ามีคุณภาพเทียบเคียงกับของต่างประเทศ จากนั้นในปีที่ 2 ได้นำแบบประเมินลงไปใช้เก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างเด็กชายหญิงจำนวน 2,965 คน จากทั่วทุกภาคของประเทศเพื่อหาค่าเกณฑ์มาตรฐานของแบบประเมินทั้ง 2 ชุด สำหรับแบบประเมินพัฒนาการดังกล่าวใช้ประเมินเด็กอายุ 2-6 ขวบ โดยครูผู้ดูแลเด็ก/ครูอนุบาลใช้ประเมินเด็กในชั้นเรียน มีคำถาม 32 ข้อ แบ่งเป็น ประเด็นพัฒนาการด้านการยับยั้งพฤติกรรม การเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นทางความคิด การควบคุมอารมณ์ ความจำขณะทำงาน และการวางแผนจัดการ และเมื่อคัดกรองพบปัญหาบกพร่องในเด็กจุดไหน จะทำให้ครูสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น และสามารถออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กได้ ทั้งนี้ ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางคณะนักวิจัย ม.มหดิล ได้ร่วมกับ สวรส. ทำการพัฒนาคู่มือการใช้แบบประเมินและจัดอบรมวิธีการใช้แบบประเมินให้กับครูปฐมวัยและผู้ดูแลเด็กเล็กทีสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ เทศบาล และ อบต. ในจังหวัดโดยรอบกรุงเทพฯและปริมณฑลไปแล้ว จำนวน 150 คน
ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 19,785 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน 1,576 แห่ง โรงเรียนอนุบาล 27,400 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กและโรงเรียนอนุบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม 37 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง และสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน 12 แห่งของสำนักอนามัย กทม. รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า รพ.ตำรวจ และสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งสังกัด สธ. ที่จะเป็นช่องทางในการใช้แบบประเมินคัดกรองเด็กปฐมวัย
สำหรับข้อคิดเห็นจากที่ประชุมคณะกรรมการ สวรส. มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ อาทิ การที่เด็กไทยจะเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น การคัดกรองพัฒนาการทางพฤติกรรม อารมณ์ และความคิด เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นหากทำได้ตั้งแต่ปฐมวัย ยิ่งหากพบกลุ่มที่มีความเสี่ยงก็จะช่วยให้ครูผู้ดูแลค้นหาวิธีในการแก้ไขได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการป้องกันและแก้ไขแต่เนิ่นๆ สิ่งสำคัญคือการสร้างให้ครอบครัวได้ตระหนักกับเรื่องเหล่านี้ควบคู่ไปด้วย เพราะหากที่บ้านไม่ทำและหวังพึ่งโรงเรียนให้ช่วยแก้ไขเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลเต็มที่และอาจสายเกินแก้ ขณะเดียวกันโรงเรียน/ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ควรออกแบบกิจกรรมประจำวันที่จะมาใช้ดูแลและช่วยเหลือเด็กเล็กที่มีปัญหาดังกล่าวด้วย เช่น การสอนหรือฝึกให้เด็กมีสติ มีสมาธิจดจ่อ รู้จักกำกับตนเองในด้านอารมณ์และการกระทำ รวมทั้งฝึกใช้ปัญญาในการคิดแก้ปัญหา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการทำงานควบคู่กันไปด้วย
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ใช้แบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ของกรมอนามัย ซึ่งเป็นแบบประเมินพัฒนาการทางด้านกาย ส่วนแบบประเมินพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กปฐมวัย (EF) ที่พัฒนาขึ้นใหม่โดยทีมวิจัย สวรส. นี้ เป็นการประเมินพัฒนาการทางความคิด ซึ่งต้องมีการพัฒนาให้แบบประเมินทั้ง 2 ใช้งานไปด้วยกัน โดยไม่ทำให้การประเมินคัดกรองยุ่งยากหรือเป็นภาระกับผู้ปฏิบัติงานมากจนเกินไป ซึ่งทาง สวรส. จะนำข้อเสนอจากคณะกรรมการฯ ไปพัฒนาโจทย์การทำงานร่วมกับ สธ. ในระยะต่อไป
สำหรับในปี 2560 สวรส. กำลังพัฒนางานวิจัยต่อยอดเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ปีนี้ สวรส. มีการวิจัยพัฒนารูปแบบการใช้งานแบบประเมิน EF ในศูนย์เด็กเล็กและการพัฒนาเพื่อการพยากรณ์พัฒนาการเด็ก โดยจะทำการออกแบบเครื่องมือให้ใช้ง่าย ตลอดจนพัฒนาแบบประเมิน EF ไปใช้กับกลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า กลุ่มเด็กพิการทางการได้ยิน และพิการทางการมองเห็นด้วย
การส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัย 0-5 ปี เป็น 1 ในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยเติบโตโดยมีพัฒนาการที่สมวัย ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาสังคมต้องเริ่มจากวัยเด็ก โดยการพัฒนาการคิดเชิงบริหาร (EF) ตั้งแต่วัยเด็ก จะเป็นแนวทางฝึกการทำหน้าที่ของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้เด็กควบคุมอารมณ์ ความคิด การกระทำได้ เช่น การมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำไม่วอกแวก ยั้งคิดก่อนทำไม่หุนหันพลันแล่น ซึ่งหากปล่อยปละละเลยในการพัฒนาส่งเสริม จะส่งผลให้เด็กขาดความพร้อมทางการเรียนและอาจจะล้มเหลวในการเรียนได้ รวมไปถึงการเกิดปัญหาพฤติกรรมและปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา
ทั้งนี้ สธ. รับเรื่องในการผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างกระทรวง สธ. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายรองปลัดกระทรวง สธ. (นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต) ประสานการดำเนินงานโดยใช้เครื่องมือแบบประเมินร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง พร้อมผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายที่ชัดเจนภายในปี 2560 โดยหวังว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ปัญหาเด็กและเยาวชนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
นับเป็นจุดเริ่มต้นของฟากผู้กำหนดนโยบายที่ส่งสัญญาณให้ความสำคัญกับแบบประเมินพัฒนาการด้านความคิดเชิงบริหาร (EF) ในเด็กปฐมวัย อันจะเป็นการปูทางของการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในระบบการศึกษาและระบบสุขภาพต่อไป