แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดตัวการโครงการรณรงค์ใหม่ทั่วโลกที่มีชื่อว่า กล้า (BRAVE) เพื่อเรียกร้องให้ยุติการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อผู้กล้าหาญที่ยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรม โดยเผยว่า ปัจจุบันแกนนำชุมชน นักกฎหมาย ผู้สื่อข่าว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ทั่วโลกเผชิญกับการปราบปราม การคุกคาม และความรุนแรงในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ยอมรับการกระทำที่ชอบธรรมของคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและสิทธิอันเท่าเทียมของคนทุกคน และประกันเสรีภาพและความปลอดภัยของพวกเขา
ปัจจุบันกว่า 68 ประเทศทั่วโลก ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัวโดยพลการ เพียงเพราะการทำงานตามหลักสันติวิธีของพวกเขา และมีมากกว่า 94 ประเทศทั่วโลกที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามและโดนทำร้าย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ หรือแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงต่อการพัฒนาหรือต่อคุณค่าดั้งเดิมของประเทศ
ในรายงานฉบับใหม่ที่ชื่อว่า “การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน –พื้นที่ภาคประชาสังคมที่ถูกบีบให้เล็กลง”ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้พร้อมกับโครงการรณรงค์โครงการใหม่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยให้เห็นถึงภัยที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีความพยายามพุ่งโจมตีพวกเขาถึงขั้นทำให้เสียชีวิตมากขึ้น จากข้อมูลขององค์กรภาคประชาสังคมอย่าง Front Line Defenders ระบุว่าในปี 2559 มีผู้ถูกสังหาร 281 คนทั่วโลกจากการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558ที่มียอด156 คน
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมดำเนินโครงการรณรงค์ระดับโลกนี้เพื่อเรียกร้องให้มีการตระหนักถึงคุณค่าของการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้มีมาตรการปกป้องการทำงานของพวกเขาอย่างจริงจัง รวมถึงการคุ้มครองและเปิดพื้นที่ที่มีความปลอดภัยให้กับพวกเขา เพราะเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือผู้กล้าที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของพวกเรา
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมแสดงความกังวลผ่านโครงการรณรงค์เพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับสากล พวกเราตระหนักถึงการที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกคุกคามหรือถูกละเมิดสิทธิเราอยากเรียกร้องให้คนกล้าออกมาช่วยเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเขาคือผู้กล้าที่จะปกป้องและยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้อื่น เหล่าผู้กล้าเหล่านั้นกำลังต้องการผู้กล้าอย่างคุณเพื่อสนับสนุนกันและกันในการที่จะช่วยกันสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับเราทุกคน”
ตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2541 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือบุคคลที่ปกป้องและสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือ ระดับสากล ทั้งนี้โดยมิได้มีการใช้หรือสนับสนุนการใช้ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติหรือใช้ความรุนแรง พวกเขาอาจเป็นใครก็ได้ในสังคมไม่ว่าจะเป็น ผู้สื่อข่าว ทนายความ อาจารย์ นักสหภาพแรงงาน คนที่เปิดโปงการกระทำผิด หรือแม้แต่ชาวนา ชาวไร่ โดยปฏิญญานี้เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ ยอมรับบทบาทและคุณูปการอันสำคัญของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และกำหนดมาตรการที่จริงจังเพื่อคุ้มครองพวกเขา
สำหรับประเทศไทย องค์การ PROTECTION international (PI) เผยสถิติว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารและสูญหายทั้งหมด 59 คน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกสังหารและบังคับให้สูญหายมากที่สุด ซึ่งในทางความคืบหน้าของคดีมีการสอบสวนและนำขึ้นสู่ชั้นศาลน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคดีที่เกิดขึ้น และหากมองย้อนหลังไป 35 ปี พบว่าประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 90 กรณี แต่ 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้
“ตั้งแต่เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เชลซี แมนนิง (Chelsea Manning) มาจนถึงทนายสมชาย นีละไพจิตร บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ลุงเด่น คำแหล้ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของคนธรรมดาสามัญที่ปฏิเสธระบบที่เป็นอยู่ และลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง”
“หากปราศจากความกล้าหาญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โลกของเราจะมีความเป็นธรรม ยุติธรรม และเท่าเทียมกันน้อยลง วันนี้จึงเป็นวันที่พวกเราเรียกร้องให้ทุกคน ไม่เฉพาะผู้นำโลก ต้องยืนหยัดเคียงข้างและคุ้มครองบุคคลผู้กล้าหาญเหล่านี้”
ในประเทศไทยจะมีกิจกรรมรวมตัว 'ผู้กล้า' ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ณ บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพเพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือผู้กล้าที่ออกมายืนหยัดเพื่อสิทธิของพวกเรา ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องร่วมมือกัน มาช่วยกันสนับสนุนการทำงานที่กล้าหาญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้พวกเขาได้รับการปกป้องคุ้มครอง ให้ได้ทำงานได้อย่างปลอดภัย