“มันสำปะหลังอินทรีย์ ต.หนองโรง” ปลดแอกชะตาเกษตรกรชุมชน
“การทำเกษตรอินทรีย์” นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะกับความคุ้นเคยในระบบเกษตรเคมีของทั้งผู้บริโภค-ผู้ผลิต แต่ชาวบ้านตำบลหนองโรงได้ก้าวผ่าน “ความยาก”ที่ว่ามาได้ เพื่อพบบทพิสูจน์ว่า “คือทางรอด” ของเกษตรไทย
อำเภอพนมทวน จ.กาญจนบุรี มีพืชเศรษฐกิจสำคัญ 2 ชนิดคืออ้อยและมันสำปะหลัง อ้อยนั้นนิยมปลูกในเขตชลประทานเพราะต้องการน้ำมากกว่า มันสำปะหลังปลูกในเขตที่แห้งแล้งกว่า สำนักงานเกษตรอำเภอระบุว่าพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมีมากกว่า ๓๐,๐๐๐ ไร่ในอำเภอ ส่วนในตำบลหนองโรงมีมากกว่า ๑๓,๐๐๐ ไร่
ช่วงนี้ราคามันสำปะหลังไม่ค่อยดีนัก ประมาณกิโลกรัมละ ๑.๙๐ บาทเท่านั้น ในขณะที่ราคาจำนำเป้าหมายอยู่ที่ประมาณ ๒.๗๕ บาท แต่ชาวไร่ไม่มีคนรับซื้อในท้องถิ่น ต้องขนไปขายที่ไกลๆออกไป ไม่ค่อยคุ้มกับค่าขนส่ง ราคาที่ชาวไร่อยู่ได้บอกว่าต้องไม่น้อยกว่ากก.ละ ๒.๕๐ บาทจึงจะคุ้มกับต้นทุนการผลิต
มันสำปะหลังที่นี่ปลูกกันมา ๓๐-๔๐ ปีตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ตามคำกล่าวของชาวไร่ คือพอๆกับการเริ่มต้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติโน่นเทียว แต่ละรายทำไร่กันไม่นอ้ยกว่า ๒๐ ไร่ แต่เดิมผลผลิตมันที่นี่ประมาณเพียงไร่ละ ๒-๓ ตัน(๒,๐๐๐-๓,๐๐๐กก.) เท่านั้น
เพราะการปลูกมันที่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงต่างๆมาอย่างยาวนาน ทำให้ดินเสื่อมและดินแข็งยากแก่การไถพรวนและเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวไร่ที่นี่บอกว่าไร่มันแบบใช้สารเคมีเต็มที่ ตอนเก็บผลผลิต ซึ่งต้องถอนต้นมันเอาหัวมันขึ้นมานั้น แรงงานสองคนสามีภรรยา ทำได้เต็มที่ก็วันละ ๒ ตัน เพราะดินแข็งมาก
สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลังจากการเปลี่ยนแปลงมาทำไร่มันแบบอินทรีย์
ประมาณปี ๒๕๔๙ กลุ่มชาวไร่ที่นี่โดยการส่งเสริมของสำนักงานการเกษตรอำเภอ และ สำนักงานพัฒนาที่ดิน เริ่มไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์และการพัฒนาที่ดินตามที่ต่างๆ และกลับมาทดลองทำหลายกิจกรรม เริ่มจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การผลิตสารสมุนไพรไล่แมลง และ การปรับเปลี่ยนระบบการปลูกมันสำปะหลังโดยหันมาใช้วิธีธรรมชาติในเกือบทุกขั้นตอน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี ๒๕๕๑ ซี่งเกิดเพลี้ยแป้งระบาดอย่างหนักในตำบล ทำความเสียหายให้ไร่มันมากมายมหาศาล ชาวไร่บางรายทำไร่มัน ๔๐ ไร่ เสียหายไปถึง ๒๐ ไร่ จึงเริ่มต้นศึกษาค้นคว้ากันว่าจะหาทางออกอย่างไร จนจบลงที่การเพาะเลี้ยงแตนเบียนและแมลงช้างปีกใส ซึ่งเป็นศัตรูตามธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง ให้แมลงสองชนิดนี้ไปจัดการควบคุมเพลี้ยแป้งเอง โดยใช้แมลงสามสี่ตัวก็สามารถคุมพื้นได้ถึง ๑ ไร่ (มีการขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ) เพลี้ยแป้งเป็นศัตรูมันสำปะหลังซึ่งจัดการด้วยสารเคมีไม่ได้ผลเพราะมีสารเคมีฉีดพ่นเข้าไม่ถึง เนื่องจากมีแป้งปกป้องอยู่ แมลงช้างปีกใสจึงเป็นทางออกที่ลงตัว
และหนองโรงจึงกลายเป็นศูนย์ควบคุมศัตรูพืชชุมชนในปี ๒๕๕๓ ซึ่งแต่ละปีมีคนมาศึกษาดูงานหลายร้อยคนสามารถจัดการแมลงศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติแบบนี้ในพื้นที่ ๓,๕๐๐ ไร่ของตำบล
ทางด้านกระบวนการผลิตมันก็ปรับเปลี่ยนจากไร่มันเคมีเป็นไร่มันอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีอีกเลย ใช้แต่ปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยพืชสดซึ่งไถกลบลงไปตอนปรับพื้นที่ก่อนปลูกมัน ปกติไร่มันจะใช้ปุ๋ยเคมีประมาณไร่ละ ๕๐ กก.(ปลูกมันใช้เวลาประมาณ ๑๐-๑๒เดือนจึงเก็บผลผลิตได้) ลงทุนค่าปุ๋ยประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ บาท เมื่อเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ต้องใช้ประมาณ ๑๕๐ กก.ต่อไร่ ปุ๋ยอินทรีย์กลุ่มผลิตเองต้นทุนประมาณกก.ละ ๕ บาท ต้นทุนประมาณ ๗๕๐ บาท ใกล้เคียงกัน แต่ผลดีมีมากกว่าหลายขุม
ไร่มันสำปะหลังจะมีผลผลิตดีมากน้อยแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นสำคัญ การทำไร่แบบเคมีมายาวนานทำให้ดินเสื่อมจนผลผลิตลดลงเหลือแต่ประมาณ ๒ ตันดังกล่าวแล้ว การใช้ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ผลผลิตของสมาชิกในกลุ่ม (ปัจจุบันมี ๖๘ ราย จากเดิมเริ่มต้นแค่ ๓๐ กว่าราย)เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันไร่ของประธานกลุ่มคือคุณประทิน อ่อนน้อย ได้ผลผลิตมากที่สุดถึงไร่ละ ๘ ตัน เพิ่มจากไร่แบบเคมีถึง ๔เท่าตัว ไร่ของคนอื่นๆก็ลดหลั่นกันลงไปตามสภาพดินและความยาวนานของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่เฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่าสี่ห้าตัน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๒-๓ เท่าตัว ในขณะที่ต้นทุนการผลิตมันก็ลดลงประมาณไร่ละ ๕๐๐ บาท จากการใช้สารอินทรีย์และควบคุมศัตรูพืชแบบธรรมชาติดังกล่าวแล้ว
พื้นที่ประมาณ ๓,๕๐๐ ไร่ที่ทำไร่มันอินทรีย์ ใช้แมลงกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติของที่นี่ ชาวบ้านบอกว่า ”เอาอยู่”ไม่มีใครกลับไปทำไร่มันเคมีอีกแน่นอน เพราะนอกจากผลผลิตจะมากขึ้นหลายเท่าตัว ไม่มีสารเคมีตกค้างในดิน ในผลผลิตแล้ว คุณภาพดินก็ดีขึ้นชัดเจน ดินร่วนซุยมีคุณภาพ การถอนต้นมันง่ายดายเพราะดินไม่แข็ง
แรงงานสามีภรรยาสองคนเก็บได้วันละ ๖ ตันแบบสบายๆมากกว่าปริมาณการเก็บเกี่ยวในไร่สารเคมีแบบเดิม ๓ เท่าตัว ระยะต่อไปกลุ่มกำลังจะทดลองว่าลดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ลงให้น้อยกว่าไร่ละ ๑๕๐ กก. เพราะดินคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆแล้ว ดูว่าจะได้ผลิตเท่าเดิมหรือไม่
……………….
การเปลี่ยนแปลงจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์นั้น ชาวไร่ที่นี่บอกว่ายากเย็นนัก เพราะชาวไร่ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสารเคมีมายาวนาน แต่เมื่อเห็นผลดีชัดเจนในทุกทาง การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้ .