เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง
สำนักงานศาลปกครองเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานศาลปกครอง ตั้งแต่วันที่ 3 – 19 พฤษภาคม 2560
ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรคสอง กำหนดว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบ
ที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน สำนักงานศาลปกครองจึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานศาลปกครอง ตั้งแต่วันที่ 3 – 19 พฤษภาคม 2560 โดยจะนำความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทุกภาคส่วนมาประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีหลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารศาลปกครอง (ก.บ.ศป.) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลการบริหารราชการศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองในส่วนที่ไม่อยู่ในอำนาจของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ก.ศป. หรือ ก.ขป. รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน และกำหนดบทนิยามคำว่า “ก.บ.ศป.”
2. กำหนดให้ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศ ที่ออกโดย ก.บ.ศป. หรือโดย ก.ขป. เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
3. แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดวันเปิดทำการของศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองในภูมิภาค ให้ประธานศาลปกครองสูงสุดโดยความเห็นชอบของ ก.บ.ศป. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
4. แก้ไขเพิ่มเติมการเปลี่ยนแปลงเขตท้องที่ที่ศาลปกครองชั้นต้นมีเขตอำนาจ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ให้กระทำโดยข้อเสนอของ ก.บ.ศป.และตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
5. กำหนดให้ข้าราชการศาลปกครอง ได้แก่ ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง และข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
6. กำหนดให้มีการเลื่อนตุลาการในศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้ และกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด
7. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองชั้นต้นโดยกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้นให้สอดคล้องกับกฎหมายที่กำหนดตำแหน่งของข้าราชการต่าง ๆ และผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชนในปัจจุบัน และกำหนดให้ ก.ศป.เสนอแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองชั้นต้นจากผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการประจำศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ ก.ศป. กำหนดและผลของการฝึกอบรมเป็นไปตามมาตรฐานที่ ก.ศป. กำหนด โดยให้ตุลาการประจำศาลปกครองชั้นต้นเป็นข้าราชการตุลาการศาลปกครอง และกำหนดให้ข้าราชการตุลาการศาลปกครองสามารถโอนไปเป็นข้าราชการฝ่ายศาลปกครองหรือข้าราชการฝ่ายอื่นได้ เมื่อผู้นั้นยินยอมและได้รับความเห็นชอบจาก ก.ศป.
8. กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และการแต่งตั้งให้เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองดำรงตำแหน่งข้าราชการฝ่ายศาลปกครองในระดับที่เทียบเท่าตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ในกรณีพ้นจากตำแหน่งโดยมิได้พ้นจากราชการ รวมทั้งกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองโดยกำหนดทางเลือกเพิ่มขึ้นให้สามารถแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ตุลาการศาลปกครองซึ่งโอนมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง กลับไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองได้โดยไม่เสียอาวุโส และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการทางวินัยแก่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองที่แต่งตั้งจากตุลาการศาลปกครอง
9. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตุลาการศาลปกครองโดยกำหนดให้ ก.ศป. มีอำนาจดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตุลาการศาลปกครองได้ในกรณีกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง และแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนในกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
10. แก้ไขเพิ่มเติมให้ประธานศาลปกครองสูงสุดและอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.บ.ศป. กำหนดด้วย
11. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับที่มา องค์ประกอบ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การเลือกกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ และการประชุมของคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง (ก.ขป.) และกำหนดบทนิยาม
คำว่า “ก.ขป.”
อนึ่ง สำนักงานศาลปกครองได้กำหนดหลักเกณฑ์การแสดงความคิดเห็นดังนี้
- ส่งความเห็นทางเว็บไซต์ศาลปกครอง (www.admincourt.go.th) หรือหนังสือมายังสำนักงานศาลปกครอง (สำนักกฎหมาย) เลขที่ 120 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. 10210
- เป็นความคิดเห็นที่มีเหตุผลเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาร่างกฎหมายและความเหมาะสมแก่การเผยแพร่
- ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่หมิ่นประมาทผู้ใด
- ความคิดเห็นทุกความคิดเห็น สำนักงานศาลปกครองจะนำไปประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สำหรับผู้แสดงความคิดเห็นท่านใดที่ประสงค์จะระบุชื่อ นามสกุล หรือเลขประจำตัวประชาชน สำนักงานศาลปกครองจะเก็บข้อมูลบุคคลไว้เป็นความลับ
- ในการนำความเห็นไปประกอบการพิจารณาร่างกฎหมาย สำนักงานศาลปกครองจะวิเคราะห์และจัดกลุ่มความคิดเห็นที่ได้รับ เพื่อประมวลผลความคิดเห็นและจะได้เผยแพร่ต่อไป
สำนักงานศาลปกครองจึงขอความอนุเคราะห์สื่อมวลชนร่วมแสดงความคิดเห็น และโปรดเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ทางสื่อต่างๆ ตามที่เห็นสมควรต่อไปด้วย จะขอบคุณยิ่ง
สำนักงานศาลปกครอง
วันที่ 15 พฤษภาคม 2560