“รร.วัดท่าสะท้อน” บทพิสูจน์ความสุขจากการศึกษาทางเลือกในโรงเรียนเล็ก
ปี 2547 โรงเรียนวัดท่าสะท้อน ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช โรงเรียนเล็กๆในวิถีอันเงียบสงบของชุมชนป่าพรุควนเคร็ง ถูกปิดลง ด้วยเหตุผลว่าจำนวนนักเรียนลดลง ไม่คุ้มทุนกับการบริหารจัดการ
..................
ผู้บริหารโรงเรียน คุณครูถูกย้ายออก ไม่มีใครเข้ามาดูแลแทน นักเรียนกว่า 40 คนต้องเคว้งคว้างไม่มีที่เรียน บางคนย้ายไปเรียนที่โรงเรียนบ้านศาลาทวดทอง ที่อยู่ไกลจากชุมชนกว่า 8 กิโลเมตร
ปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญและสร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง คือ “เด็กๆต้องเดินทางไกล” ไป-กลับโรงเรียนใหม่,ความยากลำบากในฤดูฝนกับเส้นทางที่ผ่านป่าพรุน้ำท่วมขัง บางช่วงไม่ปลอดภัยและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เกิดภาระที่ชาวบ้านต้องแบกรับไว้ด้วยความจำยอม
หน่วยงานการศึกษาท้องถิ่นให้คำมั่นสัญญาถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ‘เป็นเพียงการเคลื่อนย้ายเพียงชั่วคราว’ ไม่นานโรงเรียนวัดท่าสะท้อนจะกลับมาบริการชุมชนเช่นเดิม
เสียงเพลงชาติทุกเช้าขาดหาย ทุกอย่างเงียบสนิท คำสัญญาให้ล่องลอยไปในอากาศ โรงเรียนวัดท่าสะท้อนถูกปิดตาย ชาวบ้านรู้สึกใจหาย เมื่อโรงเรียนของปู่ย่ากลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ชุมชน
กว่า 3 ปี บนเส้นทางแห่งความขัดแย้งมองไม่เห็นความเป็นไปได้ ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อทวงคืนวัฒนธรรรมบ้าน-วัด-โรงเรียน(บวร) ให้กลับมาอีกครั้ง เกิดการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นเพื่อต่อรอง ยื่นข้อเสนอโดยผ่านมติประชาคมวัดท่าสะท้อน เพื่อเรียกร้องขอให้เปิดโรงเรียน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อรัฐไม่ได้ยินเสียงชาวบ้าน กระบวนการเรียนรู้ในการจัดการตัวเองจึงเกิดขึ้น
“การศึกษา ที่จัดตั้งโดยคนไม่มีการศึกษาจะทำได้หรือไม่” เสียงสะท้อนของชาวบ้านแสดงให้เห็นว่า พวกเขาต้องใช้เวลาต่อสู้กับความหวั่นวิตกและทัศนคติดั้งเดิมเกี่ยวกับระบบการศึกษาทั้งของตนเองและภาครัฐ เพื่อต้องการยืนยันหลักคิดที่ว่า “การเรียนรู้เริ่มต้นได้จากบ้าน” ของทุกคนและวิถีชีวิตการทำมาหากินสามารถสร้างเป็นหลักสูตร หลักประกันความอยู่รอดอันเป็นจริงให้กับเด็กๆได้อย่างเป็นรูปธรรม
“อยากให้ลูกหลานได้เรียนตามวิถีของตนเอง เป็นคนดีและมีความสุข” นี่คือตัวชี้วัดทางการศึกษาที่ชาวบ้านใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกัน “หลักสูตรการเรียนการสอนฉบับชุมชน” จึงเกิดขึน
วัชระ เกตุชู เล่าว่า “ชาวบ้านมาคุยกันถึงประวัติความเป็นมาของโรงเรียน ผลของการร่วมไม้ร่วมมือ แรงใจของปู่ย่าในการสร้างโรงเรียนแห่งนี้เพื่อให้เป็นสถานศึกษาของเด็กๆ ดังนั้น แล้วจึงลงความเห็นว่าจะต้องเปิดโรงเรียนอีกครั้ง” การเปิดโรงเรียนใหม่ มีสิ่งที่แตกต่างออกไป คือ การเรียนการสอนจะต้องสอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น ชาวบ้านมีส่วนร่วมจัดการเรียนการสอน เป็น “การศึกษาทางเลือก” ซึ่งมุ่งเน้นให้เด็กๆเรียนรู้ศักยภาพที่หลากหลายและสอดคล้องกับตัวเองและชุมชน
หลักสูตรใหม่ของโรงเรียนวัดท่าสะท้อน ไม่เพียงสอนความรู้ แต่สอนกระบวนคิดที่จะเรียนรู้ให้กับเด็กด้วย ประกอบด้วย หน่วยที่ 1 สืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชน ทรัพยากรชุมชน การสืบทอดภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมบรรพชน เรียนรู้การทำมาหากินที่พึ่งพาทรัพยากร หน่วยที่ 2 ศึกษาทรัพยากรและความสมบูรณ์ของทรัพยากรในอดีต และเหตุการณ์การความเปลี่ยนแปลง รวมถึงแนวทางฟื้นฟูทรัพยากร
หน่วยที่ 3 เครื่องมือหากินประมงพื้นบ้าน เช่น การใช้ยอใหญ่ ยอเล็ก แห ลัน(ไซสำหรับตักปลาไหล ทำจากไม้ไผ่ทั้งปล้อง) กัด(อวนสำหรับดักจับปลาน้ำตื้น) หน่วยที่ 4 เกษตรไร้สารพิษ เรียนรู้การเพาะเห็ด การทำน้ำหมัก การปลูกผักพื้นบ้าน การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หน่วยที่ 5 การปลูกสมุนไพร นำมาใช้เป็นยารักษาโรค หน่วยที่ 6 การหาผึ้ง รู้จักผึ้งกับป่าพรุ วงจรชีวิตของผึ้ง การเก็บน้ำผึ้ง การดูแลป่าให้เกิดผึ้ง
หน่วยที่ 7 หัตถกรรมพื้นบ้านและการจักสานกระจูด การทำเสื่อ กระสอบนั่ง กระสอบนาด หมุก(ภาชนะทรงกลม ใส่ของพร้อมฝาปิด) ตะกร้า และกระเป๋า หน่วยที่ 8 งานไม้ รู้จักเครื่องมือที่ใช้ การประดิษฐ์งานไม้ใช้ในครัวเรือน และ หน่วยที่ 9 เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม เช่น การทำซอ สีซอ การเป่าปี่ ขลุ่ย กลองยาว หนังตะลุง มโนราห์ เพลงบอก
ห้องเรียนโรงเรียนวัดท่าสะท้อนจึงกว้างใหญ่ กินอาณาเขตพื้นที่ป่าพรุ ลำคลองบางกลม กอไผ่และฝูงปลาในลำห้วย ทักษะการพึ่งพาตนเองในระบบวิถีชีวิตดั้งเดิม ได้รับการเผยแพร่และถ่ายทอดผ่านครูชาวบ้าน อันเป็นพ่อแม่ลุงป้าน้าอาของเด็กๆ ทั้งนี้ยังสร้างเครือข่ายครูชาวบ้าน ปราชญ์ชุมชน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เป็นหัวสำคัญ โดยการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของชุมชน “เน้นที่การสร้างตัวตน สร้างคุณค่าจากความรู้ที่มีในชุมชน และมีเด็กเป็นตัวเชื่อม”
9 กรกฎาคม 2550 ธงชาติถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาอีกครั้ง เสียงร้องเพลงชาติไทยดังเจื้อยแจ้ว เด็กหญิงชาย 26 ชีวิตได้กลับมาเข้าแถวที่สนามหญ้าโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ผู้เฒ่าผู้แก่ มองความสำเร็จตรงหน้าด้วยความภาคภูมิใจ บรรยากาศ “บ้าน วัด และโรงเรียน” คืนความเป็นชุมชนหนึ่งเดียว โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โรงเรียนไม่ได้ถูกแยกส่วนเหมือนอย่างเคย แต่เป็นโรงเรียนชุมชน ครูชาวบ้านและนักเรียนลูกหลาน ที่มากไปกว่านั้นคือบทพิสูจน์ผลลัพท์แห่งความพยายามตลอด 3 ปีของชาวบ้าน
18 กุมภาพันธ์ 2555 ยอดต้นจิกและพวงดอกจิกสีเขียวสลับแดงอ่อนสดปลั่งอวบน้ำถูกจัดวางไว้ในถาด ปลาชะโดตัวขนาดแขนของพ่อ ฝีมือการตกเบ็ดของลูกศิษย์โรงเรียนถูกแปรรูปเป็นวัถตุดิบสำคัญในการทำแกงส้มและแกงกระทิสดรสมือแม่ อาหารกลางวันสำหรับวงประชุมวันนี้ในบรรยากาศการนั่งพูดคุยถึงเรื่องราวการต่อสู้ที่ผ่านมา และสถานการณ์โรงเรียนทางเลือกในวันนี้
ที่ศาลาสอนวิชาศิลปะของครูเลี่ยม วัชระ เกตุชู คุณครูของชุมชน เขาเล่าว่า “ทุกวันนี้บรรยากาศแห่งความขัดแย้ง ตึงเครียดได้คลี่คลายลงไปแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนผู้รับผิดชอบในภาครัฐรุ่นใหม่ เกิดความเข้าใจ และกลายร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น”
“พอใจและดีใจมากๆ ที่ได้โรงเรียนกลับคืนมา ทางกรมป่าไม้ยังเห็นความสำคัญจัดเป็นห้องเรียนตัวอย่างเพื่อให้ชุมชนอื่นๆเข้ามาเรียนรู้ อยากให้ที่อื่นเป็นเหมือนที่ท่าสะท้อนบ้านเรา”นางพริ้ม มากดำ กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ เธอไม่ต้องการอะไรแค่อยากเห็นเด็กๆเรียนใกล้บ้าน มีความสุขกับการไปโรงเรียน
ผลลัพท์ คือ “เด็กๆร่าเริง แข็งแกร่ง เก่งและช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้ ผลการเรียนก็ไม่ได้น้อยหน้าโรงเรียนอื่นๆ อยู่ระดับต้นๆของอำเภอ” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวเสียงดัง เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความพลังและแรงใจของคนไม่รู้หนังสือ
สมศักดิ์ คงทอง คุณครูสอนวิชาทำมาหากิน กล่าวเสริมว่า เขามีหน้าที่สอนเรื่องการทำประมง หาปลา ตกเบ็ด สอนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อได้ทดลองปฏิบัติจริง สอนจากประสบการณ์จริง ซึ่งเด็กๆตั้งใจเรียนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เด็กๆสามารถกลับไปปฏิบัติเองที่บ้านได้ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวและเพิ่มทักษะชีวิตให้เด็กๆสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ทำมาหากินได้ในท้องถิ่นของตนเอง ตัวเขาเองไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเป็นครู แต่ก็สามารถสอนเด็กๆได้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
…………………
จากที่เคยหวั่นใจกับความไม่รู้หนังสือของตนเองว่าจะจัดระบบการศึกษาได้หรือไม่ แต่เพื่อลูกหลานและชุมชน ชาวบ้านช่วยกันต่อสู้เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่เป็นจริง จนประสบความสำเร็จเป็นหลักสูตรที่บูรณาการเนื้อหาสาระการเรียนรู้ในโลกแห่งวิชาการและโลกแห่งความเป็นจริงอย่างสอดคล้องกับวิถีชุมชน และยังเป็นต้นแบบสู่โรงเรียนและชุมชนอื่นๆ
“ความสุขของนักเรียนลูกหลาน และ รอยยิ้มของครูชาวบ้าน” ถือเป็นตัวชี้วัดที่มีคุณภาพและน่าพึงพอใจที่สุดแล้วสำหรับวันนี้ ที่ชุมชนวัดท่าสะท้อน .