หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ‘บ้านศาลาดิน’ วิถีชุมชน คนคลองมหาสวัสดิ์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดหมู่บ้านนำร่อง ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ที่บ้านศาลาดิน จ.นครปฐม ชมวิถีชีวิตคนสองฝั่งคลองมหาสวัสดิ์ ทำเกษตรกรรม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งเป้าเพิ่มอีก 67 หมู่บ้าน ทั่วไทย ภายใน 5 ปี คาดสร้างมูลค่าพัฒนาโอทอปกว่า 1 แสนล้าน ในปี 2565
รูปหลังคาหน้าจั่ว ทรงจอมแหแบบไทยภาคกลาง คือ สัญลักษณ์ของ ‘บ้านศาลาดิน’ ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ชุมชนเล็ก ๆ ริมคลองมหาสวัสดิ์ ที่ดำเนินวิถีชีวิตอยู่กับลำน้ำมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งในอดีตนั้นเคยเป็นเส้นทางสัญจรหลัก และยังเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน
ทำให้แต่ละชุมชนสร้าง ‘ศาลา’ ไว้ริมน้ำ เพื่อขึ้นลงเรือ มีทั้งหมด 7 ศาลา
หนึ่งในนั้น คือ ‘ศาลาดิน’ ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนของจังหวัดนครปฐม และได้รับการยกระดับให้เป็น 1 ใน 9 หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village:CIV) ปี 2560
ภายใต้การบูรณาการของหลายหน่วยงาน ชุมชนจะได้ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่พัฒนาเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัด นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวเรือใหญ่ ทำหน้าที่ขับเคลื่อน
เเผนผังหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ชุมชนบ้านศาลาดิน
1.
นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อธิบายถึงการดำเนินโครงการฯ ว่า รัฐได้จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 40 ล้านบาท ผ่านโครงการและกิจกรรมเพื่อการยกระดับศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีกกว่า 10 โครงการด้วย ไม่เฉพาะหมู่บ้าน CIV เท่านั้น เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมชุมชน โครงการพัมนาและรวมกลุ่มผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
“โครงการฯ มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาสินค้า เช่น เสื้อยืด หมวก กระเป๋า พวงกุญแจ ซึ่งของที่ระลึกเหล่านี้จะช่วยทำให้ชุมชนเกิดรายได้ และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อหา”
ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มหมู่บ้าน CIV ครอบคลุม 67 หมู่บ้านทั่วประเทศภายใน 5 ปี ที่สำคัญในปีนี้คาดหวังให้โครงการฯ ช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในกลุ่มจังหวัด เพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนใหม่ ๆ กว่าร้อยละ 5 จากเดิมที่มีอยู่กว่า 1.2 แสนรายการทั่วประเทศ และมั่นใจว่า ภายในปี 2565 หมู่บ้าน CIV จะผลักดันให้เกิดสินค้าโอทอปไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากเดิม 8 หมื่นล้านบาท ในปี 2559
สำหรับหมู่บ้าน CIV นำร่องพัฒนา 9 หมู่บ้าน รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุมีชุมชนจากแต่ละภาคของไทย ได้แก่ ชุมชนออนใต้ จ.เชียงใหม่, ชุมชนน้ำเกี๋ยน จ.น่าน, ชุมชนบ้านต้นจั่น จ.สุโขทัย, ชุมชนบ้านเชียง จ.อุดรธานี, ชุมชนเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี, ชุมชนประแสร์ จ.ระยอง, ชุมชนเกาะยอ จ.สงขลา, ชุมชนบ้านนาตีน จ.กระบี่ และชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม
สะพานเเขวน อีกหนึ่งเเลนด์มาร์คของชุมชนบ้านศาลาดิน
วันชัย สวัสดิ์แดง ผู้เชี่ยวชาญเกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนบ้านศาลาดิน บอกเล่าว่า แม้ชุมชนจะรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปี 2543 แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก จนกระทั่งปี 2559 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยพัฒนา จนเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมากขึ้น หลายคนเริ่มรู้จักและเข้ามาเที่ยวชม โดยเฉพาะชาวต่างประเทศ
“เราขายคำว่า ‘ศาลาดิน’ จนกลายเป็นที่รู้จักในเวลาไม่ถึง 2 ปี เรียกว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาล เน้นจุดเด่นที่ผลิตภัณฑ์ และวิถีเกษตรกรรม ซึ่งฝรั่งฮือฮามากกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เราน้อมนำมาปฏิบัติ กลายเป็นเกษตรสมบูรณ์”
ผลิตภัณฑ์เด่นของบ้านศาลาดินทั้งหมดล้วนมาจากเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น ข้าวตังหอมมะลิ หลากหลายหน้า ทั้งหมูหยอง ธัญพืช แวะชมสวนกล้วยไม้ เสริมความรู้เกี่ยวกับการปลูกและขยายพันธุ์ ชมนาบัว ล่องเรือคลองมหาสวัสดิ์ กินผลไม้สด ๆ จากสวน ซื้อหาผลิตภัณฑ์จากผลฟักข้าว และที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยสนับสนุนนั่นเอง
ล่องเรือหางยาว ชมชีวิตคนคลองมหาสวัสดิ์ ท่ามกลางฝนโปรยปราย
2.
เมฆครึ้มลอยปกคลุมทั่วท้องฟ้ากว้างเหนือคลองมหาสวัสดิ์ เป็นสัญญาณบอกผู้มาเยือนว่า อีกไม่กี่นาทีข้างหน้า หลังจากเสร็จสิ้นพิธีเปิดโครงการหมู่บ้าน CIV ในช่วงเช้าแล้ว ฝนจะโปรยปรายตกลงมาให้ได้ชื่นฉ่ำอีกครั้ง และทันทีที่เท้าก้าวเข้าสู่ชายคาบ้าน ‘ป้าแจ๋ว’ จงดี เศรษฐอำนวย น้ำจากฟ้าก็ตกลงมาอย่างหนัก
ป้าแจ๋ว เป็นเจ้าของสวนผลไม้ พูดติดตลกว่า เราคงไปไหนกันไม่ได้แล้ว ถ้าอย่างนั้นนั่งกินผลไม้จากสวน รอฝนหยุด พร้อมโฆษณาขายส้มโอพันธุ์ทองดี ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
สวนผลไม้ 'ป้าเเจ๋ว'
รถอีเเต๊ก หรือ รถเฟี้ยวฟ้าว
สวนผลไม้ที่นี่เป็นหนึ่งในโปรแกรมเยือน ‘บ้านศาลาดิน’ นอกจากผลไม้ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกซื้อหากันแล้ว การ ‘นั่งรถอีแต๊ก’ หรือนักท่องเที่ยวให้ฉายาว่า ‘นั่งรถเฟี้ยวฟ้าว’ ชมสวนส้มโอและท้องทุ่ง ด้วยลีลาการขับที่เฟี้ยวฟ้าว สุดสวิงริงโก้ แต่ช่างน่าเสียดาย ใครที่มารอบนี้ต้องอดนั่ง เพราะคนขับดันบังคับรถตกท้องนา จนต้องส่งโรงหมอไปเมื่อไม่นานมานี้
ที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันมีนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศจีน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) มาอยู่เรียนรู้กับ ‘ป้าแจ๋ว’ ที่สวนผลไม้ด้วย
‘หวางซู่ฟาง’ หรือคนไทยเรียกว่า ‘ไอริณ’ บอกว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับการส่งเสริมท่องเที่ยวของชุมชน โดยเฉพาะทำให้ได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมตามหลักทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะนำความรู้เหล่านี้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดในมณฑลกวางสี ประเทศจีน
ดอกบัวฉัตร 'ป้าติ๋ว' สร้างรายได้เลี้ยงชีพ
จนกระทั่งฝนเริ่มซาลง จึงค่อย ๆ ทยอยกันลงเรือชมบรรยากาศสองฝั่งคลองมหาสวัสดิ์ สังเกตว่าทุกครัวเรือนจะมีศาลาริมน้ำ เพื่อไปชมนาบัวของ ‘ป้าติ๋ว’ แล่นไปได้ซักพัก ฝนก็เทลงมาอีกครั้ง คราวนี้ผู้โดยสารเปียกกันอย่างทั่วถึง แต่ก็ไม่หวั่นเกรงใด ๆ เพื่อให้ได้เห็นนาบัวผืนใหญ่ 15 ไร่
ป้าติ๋ว เล่าว่า ทุกเช้าจะลงไปเก็บดอกบัวฉัตรสองวันเว้นวัน วันละ 2 ชั่วโมง ขายดอกละ 2 บาท ทำให้แต่ละเดือนมีรายได้ (ไม่หักต้นทุน) เฉลี่ย 3 หมื่นบาท ซึ่งหวังว่า การเข้ามาช่วยส่งเสริมชุมชนของกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำให้กลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ฟักข้าว วัตถุดิบทำซอสใส่เย็นตาโฟ ณ บ้านขนิษฐา
ก่อนปิดท้ายโปรแกรมของวัน ด้วยก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟชามโตที่บ้านฟักข้าวขนิษฐา 3 พี่น้อง โฉมสะคราญ ซึ่งเย็นตาโฟของที่นี่ใส่ซอสฟักข้าว รับประทานกันริมน้ำ เคล้าด้วยเสียงขับบทเห่เรือของคุณยายที่เดินคอยต้อนรับลูกค้าด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง
โปรแกรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของชุมชน ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และยังสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี ภายใต้แคมเปญ ‘หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ บ้านศาลาดิน วิถีชุมชน คนคลองมหาสวัสดิ์ .