เสียงจากคนใต้ : “แผนพัฒนารุกที่เกษตร" จ่ออุตสาหกรรม-โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ท่ามกลางแรงผลักดันให้ปักษ์ใต้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม ภายใต้ “แผนพัฒนาภาคใต้” วันนี้จังหวัดชุมพรจึงตกอยู่ในสถานการณ์ ‘โรงไฟฟ้าบี้–อุตสาหกรรมหนักจี้–เขื่อนจ้อง’ในพื้นที่สีเขียว
ปลายเดือนมกราคม มีเวที “สมัชชาเครือข่ายจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพลังงานอย่างยั่งยืน” ที่บ้านคลองเรือ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เพื่อสะท้อนเสียงภาคประชาชนต่อ “แผนพัฒนาภาคใต้” ที่กำลังลงไปกระทำในถิ่นบ้านเกิดของพวกเขา โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่
วน วงษ์ศรีนาค ชาวบ้านคลองเรือ เล่าว่าก่อนหน้านี้ชาวบ้านใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งสามารถดูโทรทัศน์ เสียบตู้เย็น ต่อมามีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน ชาวบ้านจึงช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อก่อสร้างเพื่อความมั่นคงในการใช้กระแสไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์
เป็นโครงการที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยชีวิตเมืองนครศรีธรรมราช ร่วมดำเนินการสอดคล้องกับความต้องการชาวบ้าน ในโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ใต้กรอบ “การศึกษาเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกและโรงไฟฟ้าชุมชน” มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สนับสนุน
ทว่า หากมองตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553–2573 (PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน ในจังหวัดชุมพร มีโครงการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.อย่างน้อย 2 โครงการ ที่เคยเป็นข่าวพิพาทกับชาวบ้าน เจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์ กฟผ.ถูกชาวบ้านอำเภอปะทิวไล่ออกจากชุมพร ปลายปี 2551 และถูกไล่อีกครั้งที่อำเภอละแม ปลายปี 2553
กฟผ.มีเป้าหมายจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านบางจาก บริเวณอ่าวยายไอ๋ หมูที่ 5–6 ต.ชุมโค อ.ปะทิว เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาด 700–1,000 เมกะวัตต์ 4 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์
สุพนัด ดวงกมล ประธานเครือข่ายปะทิวรักษ์ถิ่น เล่าให้ฟังว่าทุกวันนี้ชาวปะทิวยังคงเฝ้าระวังและสังเกตคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่ นอกจากนี้ชาวบ้านกำลังผลักดันให้ตำบลชุมโคจัดทำผังตำบล โดยอาศัยช่องทางสภาองค์กรชุมชนตำบลชุมโค ขับเคลื่อนประสานงานกับเทศบาลตำบลชุมโค โดยเชิญคุณภารณี สวัสดิรักษ์ ประธานเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคมมาให้ความรู้ด้านผังเมือง
“เรายังมีโครงการอนุรักษ์หอยมือเสือ เก็บข้อมูลที่ชาวบ้านเคยเห็นพะยูนมากินหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งปะทิว รวมถึงบุกเบิกสถานที่รกร้างชายทะเลแหลมแท่นให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ” สุพนัด บอก
ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กฟผ.มีแผนจะตั้งที่ ต.ชุมโค และบ้านปากน้ำละแม ต.ปากน้ำ อ.ละแม กำลังการผลิตแห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาทั้ง 2 แห่ง ถูกต่อต้านอย่างหนักจนต้องเลื่อนโครงการออกไป 3 ปี
ถึงกระนั้น วิเวก อมตเวทย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์ละแม ยังระบุว่าเจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์ กฟผ. ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ อ.หลังสวน ชุมพร เพื่อพยายามผลักดันโครงการดังกล่าว
นายวิเวก ตั้งข้อสังเกตว่า อำเภอละแมน่าจะเป็นพื้นที่หลอก เพราะพื้นที่ที่ระบุว่าจะตั้งโรงไฟฟ้าที่ละแมอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร
“ปากน้ำละแมค่อนข้างกว้าง อาจรวมไปถึงริมฝั่งทะเลอำเภอหลังสวนติดกับอำเภอละแม ไปจนถึงสุราษฎร์ธานี เพราะปลายปี 2553 มีการสำรวจขุดเจาะดินที่ ต.คันธุลี อ.ท่าชนะ สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับปากน้ำละแม” วิเวก ขยายความ
ขณะที่การเคลื่อนไหวของกรมชลประทานที่ อ.ท่าแซะ ชุมพร ก็พยายามผลักดันโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำท่าแซะ หรือ เขื่อนท่าแซะ ที่ชาวบ้านต่อต้านมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆกับต่อต้านอ่างเก็บน้ำรับร่อ ในอำเภอเดียวกัน จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกอ่างเก็บน้ำรับร่อ ให้ชะลออ่างเก็บน้ำท่าแซะ
วัชรี จันทร์ช่วง ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ชุมพร บอกเล่าว่าที่ผ่านมามีคนของหน่วยงานของราชการ เข้ามาสืบเสาะข้อมูลจากชาวบ้าน ขณะที่กรมชลประทานก็จัดเวทีในตัวจังหวัดชี้นำให้สร้างเขื่อนท่าแซะ ชาวบ้านจึงต้องเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา
ส่วนวิโรจน์ ชูกลาง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ ขยายความต่อว่า…
“อ่างเก็บน้ำรับร่อและท่าแซะ ทั้ง 2 โครงการผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2536–2538 ชาวบ้านจึงหวาดผวา เพราะรัฐบาลจะฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ขณะเดียวกันในเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชุมพร หลายภาคส่วนเสนอให้สร้างอ่างเก็บน้ำท่าแซะอยู่เป็นระยะ ตอนนี้มีการสร้างประตูระบายน้ำคุริงกว่า 7 ร้อยไร่ ทำแล้ว 80 %
การเคลื่อนไหวก่อสร้างอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน สอดรับกับการเคลื่อนไหวก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพราะทั้งเขื่อนและโรงไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมหนัก อย่างอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ที่ต้องนำไปใช้ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าในปริมาณมหาศาล
ภารนี สวัสดิรักษ์ พบว่าร่างผังเมืองรวมจังหวัดชุมพร พ.ศ.... ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมประกาศใช้ในพระราชกฤษฎีกา ระบุเอกสารแนบท้ายชัดเจนยิ่งว่า…
"...พื้นที่สีเขียว (พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดชุมพร) สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า” ได้
ลำดับที่ 49 โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม
ลำดับที่ 59 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุงเหล็ก ผลิตเหล็ก หรือเหล็กกล้าในขั้นต้น โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม
ลำดับที่ 88 โรงงานผลิต ส่ง หรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม
ลำดับที่ 89 โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่ง หรือจำหน่ายก๊าซ โรงงานจำพวกที่ 3 สามารถสร้างในที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์และเกษตรกรรม
…………………
นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคนชุมพร ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของคนในหลายจังหวัดภาคใต้ ที่กำลังจะต้องเผชิญหน้ากับแผนพัฒนาที่พวกเขาไม่เคยมีส่วนร่วม แต่ต้องได้รับผลกระทบ ที่สำคัญคือ “เมื่อพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสำหรับเกษตรกรรม ถูกระบุให้ใช้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม” .