นายกฯขานรับพิมพ์เขียว ปชช.แก้ปัญหาที่ทำกิน นำร่องโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน
นายกฯ ขานรับพิมพ์เขียวภาค ปชช. นำร่องโฉนดชุมชน 30 พื้นที่ โมเดลแรกที่ตรัง ทำฐานข้อมูลที่ดินทั่วประเทศ นักนิติศาสตร์ชี้ระยะยาวต้องปฏิรูปกฎหมายทรัพยากร มท.เตรียมยกร่าง พรบ.องค์การธนาคารที่ดิน โชว์พื้นที่นำร่องเชียงใหม่-ลำพูน ก่อน 30 ก.ย. รมว.คลังย้ำขีดเส้นภาษีที่ดิน 2 ปีตอบโจทย์ปัญหาปฏิรูป ภาค ปชช.ผลักดันกฏหมายโฉนดชุมชนเป็นหลักประกันรัฐทำจริง ให้ ทส.หยุดขับไล่ฟ้องร้องชาวบ้านรุกป่าจนกว่าพิสูจน์ชัด
วันนี้(24 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดเสวนา“การจัดการที่ดินเพื่อการทำกิน : ปัญหาและทางออก” เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำข้อสรุปเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 3 สัปดาห์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าปัญหาป่าไม้ที่ดินเกิดจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ทำกินมากขึ้น แต่ที่ดินมีจำกัดและเสื่อมโทรม, ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่คนจนจำนวนมากไม่มีแต่คนกลุ่มน้อยมีที่ดินมาก นอกจากนี้กฎหมายและการทำงานของราชการมีข้อบกพร่องในการบังคับใช้และซ้ำซ้อน จนเกิดข้อถกเถียงว่าคนรุกป่าหรือป่ารุกคน อีกประการคือการให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่าบริหารจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืน ขณะที่ภัยธรรมชาติต่างๆรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ
“เป็นประเด็นเรียกร้องในทุกรัฐบาลถึงความล่าช้าไม่เป็นธรรมในการจัดการที่ดิน จนชาวบ้านต้องออกมาเคลื่อนไหว สิ่งที่อยากเห็นต่อไปคือวิธีการและรูปแบบใหม่ที่รัฐจะร่วมแก้ปัญหากับประชาชน สร้างความไว้ใจและยอมรับแนวคิดกติการ่วมกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำ”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐดำเนินการแล้ว 4 เรื่อง ได้แก่ 1.โฉนดชุมชน ซึ่งอิงหลักคิดสองส่วนคือ การยอมรับและใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเป็นระบบ และระบบกรรมสิทธิ์ร่วมซึ่งชุมชนต้องจัดการไม่ให้ที่ดินเปลี่ยนมือ คาดว่าจะสามารถดำเนินการพื้นที่นำร่อง 30 แห่ง ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า 2.ปรับปรุงระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างความเป็นธรรมและแรงจูงใจให้ใช้ประโยชน์สูงสุดในที่ดิน โดยกำหนดบทลงโทษในอัตราก้าวหน้ากรณีทิ้งที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้จะนำรายได้ส่วนหนึ่งมาจัดสรรที่ดินให้คนจน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา
3.ตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน สำรวจรวบรวมความต้องการและที่ดินทำกินเพื่อจัดสรรให้ประชาชน รวมถึงนำที่ดินรัฐมาจัดโฉนดชุมชน เบื้องต้นอาจต้องตั้งองค์กรชั่วคราวมารองรับ 4.ให้กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เร่งทำฐานข้อมูลที่ดิน โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง 50 ปีร่วมกับแผนที่ปัจจุบัน เพื่อหาแนวเขตชัดเจนตอบข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีประกาศพื้นที่ทับซ้อน คาดว่าใช้เวลา 2 ปี
“4 เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน แต่ไม่เพียงพอ ความท้าทายที่ต้องทำต่ออย่างน้อย 2 ประเด็นคือ หามาตรการบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ทั้งประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบัน ซึ่งต้องดูทั้งการปรับองค์กรและการบังคับใช้กฎหมาย สุดท้ายคือสร้างหลักประกันและแรงจูงใจที่เหมาะสม เช่น การคุ้มครองพื้นที่การเกษตร เพราะทำแค่การจัดสรรไม่ได้ ต้องสร้างความมั่นคงเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”
ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายที่รัฐต้องทำคือ ต้องกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการการใช้ที่ดินให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องกระจายการถือครองที่ดินและคุ้มครองพื้นที่การเกษตรอย่างเหมาะสมทั่วถึง ซึ่งโฉนดชุมชนเป็นนโยบายหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยมีแนวคิดสำคัญคือรับรองสิทธิชุมชนให้มีเอกสารสิทธิ์ภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจน และให้ชุมชนบริหารจัดการกันเองโดยไม่ต้องมีรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ และที่ต้องคิดต่อไปคือสิทธินั้นจะสามารถใช้เป็นหลักประกันตนหรือสินเชื่อได้ด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องทำระบบข้อมูลกลางเพื่อให้รู้ว่าที่ตรงไหนใครเป็นเจ้าของ มีเอกสารสิทธิ์หรือไม่อย่างไร และควรเชื่อมโยงกับนโยบายอื่นด้วยเช่น ธนาคารที่ดิน
ผศ.อิทธิพล กล่าวอีกว่า โฉนดชุมชนเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าบางจุด การปฏิรูปที่ดินยังต้องปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ 3-4 ฉบับ จึงจะแก้ปัญหาโดยภาพรวมได้จริง เช่น ปรับกฎหมายเช่าที่ดินให้ทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าพึงพอใจเพื่อให้คนรวยเปิดโอกาสให้คนจนใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ด้วย และต้องพิจารณาประมวลกฎหมายที่ดินใหม่ว่าหากยอมรับสิทธิชุมชนให้มีกรรมสิทธิ์การใช้ประโยชน์ จะต้องจดทะเบียนเหมือนกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือไม่อย่างไร
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในเรื่องการจัดตั้งธนาคารที่ดินว่า กระทรวงจะรับไปดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติเป็นองค์การมหาชน ทั้งนี้แนวคิดเบื้องต้น เช่น ที่มาของที่ดินมี 2 ส่วนคือที่ดินเอกชนและที่ดินรัฐ เช่น ทุ่งเลี้ยงสัตว์ ป่าสงวนที่หมดสภาพ โดยธนาคารที่ดินจะดำเนินการจัดหา ซื้อ เช่า ฯลฯ และจัดสรรให้เกษตรกรรายย่อย คนยากจน หรือชุมชนเพื่อซื้อหรือเช่าแล้วแต่ประเภทที่ดิน ทั้งนี้เงินที่จะนำมาเป็นกองทุนธนาคารที่ดินอาจมาจากงบประมาณรายจายประจำปี, รายได้จากการบริหารทรัพย์สินของธนาคาร และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 7.2% ที่กำลังพิจารณากฎหมายอยู่ ซึ่งคาดว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แบ่งให้ธนาคารที่ดิน 2%
นายถาวร ยังกล่าวว่า จะมีพื้นที่นำร่องธนาคารที่ดินที่เชียงใหม่ 889 ไร่ และลำพูน 776 ไร่ ซึ่งคาดว่าภายใน 3 เดือนนี้จะเห็นรูปธรรม
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ต้องปรับระบบภาษีคือการกระจุกตัวของที่ดินจำนวนมากในคนเพียง 10% ของประเทศ ที่มีที่ดินเฉลี่ยคนละ 100 ไร่ ขณะที่คนอีก 90% มีที่ดินเฉลี่ยคนละ 1 ไร่ และ 70% ของที่ดินทั้งหมดยังเป็นที่รกร้างไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
รมว.คลัง กล่าวต่อไปว่า การยกเลิกภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ซึ่งมีช่องโหว่มาก มาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะช่วยตอบโจทย์ปัญหาที่ดินได้ เพราะกระตุ้นให้มีการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะด้านการเกษตรกรรม โดยมีอัตราภาษีที่ลดหรือเพิ่มตามพฤติกรรมการใช้ที่ดิน เช่น หากปล่อยให้ที่รกร้างภาษีจะสูงกว่าการปล่อยเช่า และการใช้ประโยชน์เชิงเกษตรบางกรณีไม่เสียภาษี หรือการกักตุนที่ดินไว้จะเสียภาษีสูงกว่าขายให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีดำเนินการ
“ภาษีโรงเรือนเก็บจากรายได้การใช้ที่ดิน ซึ่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการจัดเก็บ ไม่ยุติธรรม ส่วนภาษีท้องที่ล้าสมัยไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แต่ภาษีที่ดินมีประโยชน์อื่นๆ เช่น เป็นเครื่องมือให้ท้องถิ่นเก็บรายได้เอง คนในชุมชนมีส่วนร่วมตรวจสอบเม็ดเงินมากขึ้น” นายกรณ์ กล่าว
นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า การจัดการที่ดินที่ผ่านมามีเพียง 2 แนวทางคือ หนึ่ง-การจัดสรรที่ดินรัฐให้ประชาชน ไม่กล้าต้องที่ดินเอกชน ทำให้การกระจายที่ดินไม่ทั่วถึงเกษตรกร สอง-การจัดการโดยกลไกตลาดที่เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้ามาถือครองตามกำลังเงินอย่างเสรี แรงกดดันจึงไปตกอยู่กับเกษตรกร
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การปฏิรูปที่ดินเพื่อความเป็นธรรม ต้องปฏิรูปแนวคิดโดยไม่มองที่ดินเป็นเพียงสินค้าที่ซื้อขายเปลี่ยนมือสร้างมูลค่า แต่ต้องคิดว่าที่ดินเป็นฐานชีวิตเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน จากนั้นทำนโยบายให้เป็นธรรมแท้จริงและมีเอกภาพให้ข้าราชการต้องปฏิบัติ เช่น โฉนดชุมชนซึ่งเป็นปราการสำคัญรักษาผืนดินไม่ให้ต่างชาติเข้ามาครอบครอง และต้องทำในที่เอกชนด้วย ไม่ใช่เพียงที่รัฐ
“เสนอให้โฉนดชุมชนออกเป็นกฎหมาย เพราะตอนนี้ถ้าหน่วยงานที่ดูแลบอกไม่จัดที่ดินให้ ชุมชนก็ทำไม่ได้ ส่วนภาษีที่ดินก็ไม่มั่นใจว่าที่จะแบ่งให้ 2% จะบิดเบือนหรือไม่ หลักการที่เสนอไปควรอยู่ในตัวกฎหมายไม่เช่นนั้นปฏิรูปไม่ได้”
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ต้องปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรทั้งหมด โดยเฉพาะกฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และควรปฏิรูปหรือยกเลิกกฤษฎีกาที่มีหน้าที่พิจารณากฏหมายด้วย รวมทั้งปรับขั้นตอนการพิจารณากฎหมายที่ทำให้กระบวนการล่าช้าโดยไม่จำเป็น
“นอกจากทบทวนกฎหมาย ต้องจำกัดการถือครองที่ดิน ลดระบบตลาดที่สร้างความเจ็บปวดให้คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร ต้องสร้างมาตรการภาษีให้เป็นจริง สำคัญคือถ้าจะปรองดองต้องหยุดการจับกุมก่อนเพื่อลดการเผชิญหน้าก่อนแล้วค่อยปฏิรูปด้วย 3 มาตรการข้างต้น”
นายสุวโรช พะลัง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาที่ดินทำกิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดินโดยให้กระทรวง ทบวง กรม เป็นเจ้าภาพอย่างที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาหมักหมมมานาน ทั้งนี้จะแก้ปัญหาได้จริงต้องให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วม และมีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับผู้บุกรุกพื้นที่รัฐไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือราชการ และต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ที่ชัดเจน โดยกรรมสิทธิ์ยังต้องเป็นของรัฐ แต่ให้สิทธิทำกินแก่ประชาชน ซึ่งกำลังดำเนินการภายใต้โฉนดชุมชนที่กำลังเกิดขึ้น .