อยุธยากล้าเปลี่ยน! ตัวอย่าง “ชาวนา” หาทางรอด
ชาวนาอยุธยากลุ่มนี้เชื่ออย่างหนักแน่นว่า การเลิกใช้สารเคมีในนาข้าว เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในหลายๆ พื้นที่ ได้ผลจริง จนต้นทุนลดลงมากกว่าครึ่ง และยังมีสุขภาพดีที่หาไม่ได้จากการทำนาเคมี
แต่ละปีประเทศไทยผลิตข้าวได้ประมาณ 24 ถึง 25 ล้านตัน ผลผลิตทั้งหมดแบ่งบริโภคภายในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน และส่งออกอีก 6 ถึง 10 ล้านตันต่อปี
แม้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 1 ใน 3 ของโลก สร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึง 154,000 ล้านบาทต่อไป แต่ที่สวนทางกัน คือ ชาวนาไทยยังคงเผชิญกับความยากจนอยู่ ตกอยู่ในวังวนปัญหาหนี้สิน ปัจจัยการผลิตนับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วชาวนาจะอยู่รอดได้อย่างไร ?
"องอาจ คำอยู่" ชาวนาในตำบลดอนหญ้านาง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ทำนากว่าร้อยไร่ แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นมา เขายอมรับว่า สาเหตุหนึ่งมาจากการทำนาแต่ละครั้งมีต้นทุนการผลิตจากค่าปุ๋ย ค่ายาสูงขึ้นถึง 2 แสนบาทต่อรอบการปลูกหนึ่งครั้ง หรือเฉลี่ย 5,000 - 6,000 บาทต่อไร่ ถ้าชาวนาขายข้าวไปเกวียนละ 7,000 บาท ก็จะเหลือกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ทุกวันนี้เขาจึงหันมาทำน้ำหมักจุลินทรีใช้เอง ทั้งไล่แมลง และฮอร์โมนบำรุง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงทุกปี เพราะดินเริ่มดีขึ้น เมื่อลงทุนน้อยกำไรก็ได้ดีกว่าเดิม
การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตแบบยอมเหนื่อยให้มากกว่าปกติจึงเป็นความกล้าหาญไม่น้อย ส่วนหนึ่งมาจากเกษตรกรในตำบลดอนหญ้านาง มีการนั่งพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำนาอยู่เสมอ ซึ่งการรวมกลุ่ม แบบหลวมๆ เพื่อพบปะพูดคุยในลักษณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของชุมชน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ให้การสนับสนุน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นประจำทุกเดือน
"เชิด พันธุ์เพ็ง" แกนนำคนสำคัญและเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของโครงการ คือ การหนุนเสริมให้ชาวนาและเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยการลดต้นทุนการผลิต และการสร้างความสามัคคีในชุมชน เพราะบางพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้เขตเมือง แทบไม่รู้จักกัน โดยจะรื้อฟื้นสภากาแฟของหมู่บ้านให้กลับมาเหมือนในอดีต ใครมีอะไรก็มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือการหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของชุมชน ซึ่งมุ่งเน้นกระบวนการสร้างความรู้เป็นหลัก โดยมีแกนนำเกษตรกรของแต่ละตำบลเป็นหัวหอกในการเผยแพร่ ซึ่งต่อไปจะต้องมาเป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อสร้างเครือข่ายสมาชิกและแกนนำจาก 10 คนเป็น 20 คนในปีต่อไป
ส่วน นพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการไม่ได้เสริมศักยภาพแค่เทคนิค แต่จะเสริมวิธีคิดให้เกษตรกรกล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งพอกลุ่มเริ่มทำงานแต่ละคนมีบทเรียน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ก็จะเห็นประโยชน์ในการรวมกลุ่ม เมื่อแลกเปลี่ยนกันบ่อยขึ้น ทุกอย่างก็จะค่อยๆ พัฒนาขึ้น ขณะเดียวกันทางสสส.ยังอยากเห็นความต่อเนื่องยั่งยืน และเกิดกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อนำไปใช้ยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อหาทางรอดของเกษตรกรไทยให้ได้
“เพราะเราเชื่อว่าทุกคนอยู่บนผืนดินไทย มีขีดความสามารถ มีสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ ทำให้อาชีพของเขาปลอดภัยต่อตนเองและผู้บริโภค”นพ.ศิริเกียรติ กล่าว
ผลลัพธ์ที่เห็นได้จากเกษตรกรในตำบลดอนหญ้านาง และตำบลอื่นๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีก 9 ตำบล ที่เข้าร่วมโครงการนี้ พบว่า หากต้องการให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ ต้องมีการลดต้นทุนการผลิต, ต้องรู้จักตลาดซื้อขาย และต้องให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิตนั้น มีหลายวิธีการ และหนึ่งในนั้นคือการลดใช้สารเคมีในนาข้าว
"คำพา หอมสุดชา" ชาวนาตำบลดอนหญ้านางอีกคนหนึ่ง ที่กล้าจะปรับเปลี่ยนการทำนาแบบเคมีเป็นการทำนาแบบพึ่งพาระบบอินทรีย์ให้มากขึ้น เช่น สารกำจัดศัตรูพืชก็ใช้น้ำหมักที่ทำขึ้นเอง ขณะที่ปุ๋ยก็ใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ แล้วเพิ่มธาตุอาหารให้ดินก็ใช้ปุ๋ยพืชสด ทำให้ทุกวันนี้ เขาประหยัดต้นทุนได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อการทำนาแต่ละรอบ
“มีแต่คนว่าผมบ้า เอาอะไรไปใส่ในนาข้าว มันจะได้เหรอ ดูมันทำ”
นี่เป็นคำพูดแรกๆ ที่ชาวนาส่วนใหญ่พูดใส่คำพา ที่กำลังริเริ่มทำนาอินทรีย์เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว แต่เขาก็ยืนยันว่าจะทำต่อ จนวันนี้มีแต่คนมาขอคำปรึกษา ว่าทำอย่างไรให้นาข้าวของตัวเองได้ผลผลิตงามเหมือนของเขา
“การทำนาอินทรีย์ทำได้ไม่ยากแต่ต้องใช้ใจ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ทำใจ ต้องตั้งจุดหมายไว้ก่อน ของแบบนี้ต้องใช้เวลาแต่มันยั่งยืน” คำพา บอกถึงการหัวใจการเริ่มทำนาอินทรีย์
นอกจากประสบการณ์ในการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ แล้ว ชาวนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องสารอินทรีย์ต่างๆ ที่ช่วยให้ต้นข้าวเจริญเติบโต อย่างเช่น ประเสริฐ พุ่มพวง ชาวนาตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่หันมาศึกษาและทำน้ำหมักชีวภาพอย่างจริงมานานกว่า 8 ปี จนได้สูตรน้ำหมักชีวภาพหลายชนิด เช่น สมุนไพรไล่แมลง ไล่เพลี้ย จุลินทรีขุยไผ่ จุลินทรีสังเคราะห์แสง ซุปเปอร์ฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำใช้ในแปลงนาได้ครบวงจร ทั้งบำรุงดิน บำรุงต้นข้าว ไล่แมลงศัตรูข้าว
ประเสริฐ บอกว่า น้ำหมักมีต้นทุนไม่แพงนักประมาณ 100-200 บาท แต่การทำน้ำหมักชีวภาพต้องใช้เวลาหมัก 15-30 วัน กว่าจะนำใช้ได้ และยุ่งยากในการเตรียมของ แต่เมื่อทำแล้ว ก็ได้ปริมาณมากหลายสิบลิตร แต่ถ้าไปซื้อยาเคมี 300 บาทได้เพียงลิตรเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้การรื้อฟื้นภูมิปัญญาของชาวนาและวิถีดั้งเดิมในยุคที่พึ่งพาธรรมชาติ เช่น การบำรุงดินก่อนทำโดยการใช้ปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน อาทิ การหว่านเมล็ดถั่วเขียวลงในแปลงนาแค่ 5 กิโลกรัม แต่เมื่อไถกลบแล้วจะให้ปุ๋ยพืชสดถึง 2 ตัน หรือ การปลูกปอเทืองจะให้ปุ๋ยพืชสดถึง 5 ตัน ซึ่งชาวนาจากตำบลดอนหญ้านางเชื่อว่า เมื่อดินดี ข้าวก็ดี ก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้ ดินดีต่อเนื่องทุกปีๆ ผลผลิตก็จะสูงขึ้นตาม
ชาวนาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยากลุ่มนี้ จึงเชื่ออย่างหนักแน่นว่า การเลิกใช้สารเคมีในนาข้าว เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในหลายๆ พื้นที่ได้ผลจริง จนต้นทุนลดลงมากกว่าครึ่ง และยังมีสุขภาพดีที่หาไม่ได้จากการทำนาเคมี
ทั้งหมดนี้น่าจะตอบโจทย์ “ทางรอดชาวนาไทยทำอย่างไร” ได้เป็นอย่างดี