ย้อนดูคดีตัวอย่างในต่างประเทศ ตั้งราคาเกินจริง ถึงกรณีกระทะร้อน "โคเรียคิง"
ตั้งราคาเกินจริง หรือราคาปลอม คำถามตัวโต ถึง สคบ. พิสูจน์บทบาทคุ้มครองผู้บริโภค กรณีกระทะโคเรียคิง
กลายเป็นประเด็นใหญ่อีกครั้งกับกระทะยี่ห้อดัง "โคเรียคิง" หลังมีคนในโลกออนไลน์ นำสินค้านี้ไปเปรียบเทียบกับราคาที่ขายในประเทศสิงคโปร์ ร้อนถึงบริษัทผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย ต้องออกมาชี้แจงว่า เป็นคนละรุ่นกัน
จากข้อสงสัยที่กระจายออกไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากับคำถามมากมายของการทำธุรกิจดังกล่าว ทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้ออกมาแถลงว่าจะมีการนัดประชุมกับบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัดในฐานะบริษัทผู้ค้า เพื่อหารือในประเด็นโฆษณาและคุณสมบัติของกระทะใน 17 พ.ค. 60 นี้ (อ่านประกอบ คกก.ขายตรงฯ ถกปมโฆษณากระทะ Korea King หมิ่นเหม่จริยธรรม 17 พ.ค. 60 )
แม้ว่าล่าสุดทางเว็ปไซต์ข่าว PPTV ได้เผยบทสัมภาษณ์ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ หลังผ่าพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วส่วนประกอบต่างๆ ของกระทะเป็นไปตามที่โฆษณาหรือไม่ โดยเบื้องต้นพบว่า กระทะไม่ดูดกับแม่เหล็ก มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ใช่เหล็ก เพราะเนื้อวัตถุตามหลักวิชาการเคมีและวิศวกรรมคล้ายกับอลูมิเนียมมากกว่า ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นเทคโนโลยีเคลือบผิวหนา 8 ชั้น ตามที่โฆษณากล่าวอ้าง เพราะระหว่างใช้เลื่อยตัดทำได้ง่าย
แต่ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจกว่าคุณสมบัติของกระทะ คือ เรื่องของการตั้งราคา
ประเด็นนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเองก็ได้ ตั้งประเด็นจี้ไปทาง สคบ.เเล้วเช่นเดียวกันว่า อย่าหลงประเด็น โดยขอให้มีการตรวจสอบว่า การตั้งราคาสูงเกินจริง ที่เรียกว่า "ราคาปลอม" เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ หรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของราคาสินค้า จนเกิดความเสียหาย (อ่านประกอบ 'โคเรียคิง'ตั้งราคาเกินจริง มูลนิธิผู้บริโภคแนะฟ้อง-เรียกเงินคืน)
ในต่างประเทศ มีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่ลอสเอนเจิลเลส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคล้ายคลึงกัน
NBC รายงานว่า ห้างค้าปลีก JCPenney, Sears, Macy's และ Kohl โดนสำนักอัยการของเมืองลอสเอนเจิลลิส สั่งฟ้องหลังตรวจพบว่า มีการตั้งราคาสินค้าในห้างสูงกว่าราคาจริง เพื่อทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่ามีการลดราคาขนานใหญ่
อย่างเช่น ชุดว่ายน้ำที่ระบุราคาว่าตัวละ 31.99 ดอลล่าร์สหรัฐฯ จากราคาเดิม 46 ดอลล่าร์สหรัฐ
หรือกรณีเครื่องซักผ้าที่ตั้งราคาปลอมไว้ถึง 1,179.99 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ก่อนจะมีการโฆษณาว่าลดราคาเหลือ 999.99 ดอลล่าร์สหรัฐ เป็นต้น
ทางด้าน Mike Feuer อัยการประจำสำนักงานลอสเอนเจิลลิส ออกมาบอกว่า ผู้บริโภคมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงของสินค้าโดยเฉพาะเรื่องราคาที่พวกเขาต้องเสียไปว่า สินค้าดังกล่าวได้ลดลงจริงๆ ไม่ใช่การตั้งราคาปลอมๆ
จากกรณีดังกล่าวทำให้ห้าง JCPenney และ Kohl โดนฟ้องฐานตั้งราคาเกินจริงหรือราคาปลอม โดยสั่งปรับเป็นเงินสูงถึง 50 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และ 6.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
กลับมากรณีของกระทะโคเรียคิง ที่ถึงแม้ทางกรมการค้าภายในจะมาให้ความเห็นว่า ราคาสินค้าดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิดเพราะไม่ใช่สินค้าที่ต้องควบคุมราคา ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
แต่ประเด็นการตั้งราคาที่ถูกสังคมเวลานี้ตั้งคำถามว่า สูงเกินจริง และจะเข้าข่ายการหลอกหลวงผู้บริโภคหรือไม่ คงต้องรอดูท่าทีสคบ.จะว่ากันอย่างไร กระทะร้อนๆ เป็นอีกบทพิสูจน์ฝีมือ การทำงานขององค์กรที่ดูเเลคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในบ้านเรา
อ้างอิงข่าวจาก NBC ; http://www.nbcnews.com/business/consumer/jcpenney-sears-macy-s-kohl-s-sued-fake-sale-pricing-n694101
อ่านประกอบ
สคบ.ยื่นหนังสือกรมศุลกากร ขอหลักฐานนำเข้า ‘กระทะ Korea King’
โชว์ชัดๆงบการเงิน Korea King ปี58 ฉบับเต็ม! แจ้งต้นทุน118 ล้าน-รายได้ขาย471ล.
โคเรียคิง วอน อิศรา ลบข่าวงบการเงิน บ.นำเข้า-จำหน่ายกระทะ อ้างข้อมูลภายใน
ยังไม่ถึงพันล.!เจาะถุงเงิน Korea King ไทย ก่อนถูกวิจารณ์เทียบราคากระทะ 'สิงคโปร์
มูลนิธิผู้บริโภคแนะร้องเรียนกรมการค้าภายใน ตรวจสอบราคา ‘กระทะ Korea King
กรมการค้าภายใน แจงขายสินค้าสูงกว่าราคาที่แสดงไว้มีโทษ-Korea King เข้าข่ายขายตรง
เปิด 21 บ.เครือข่าย กก.-หุ้นส่วน ‘Korea King’ สารพัดขายตรง 2 แห่ง 1.8 พันล.