'ดีเอสไอ' สอบย้อนกลับ! หาผู้ขายข้อมูล 'อี-บิดดิ้ง'
วันนี้ (12 พ.ค. 2560) – พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวในรายการเฟซไทม์ ทางช่องสปริงนิวส์ ถึงคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุมผู้ต้องสงสัยคดีฮั้วประมูลในระบบประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-บิดดิ้ง ที่ จ.ยโสธร
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบายว่า การฮั้วประมูลอี-บิดดิ้ง เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
1. ผู้ร่วมประมูลขายข้อมูลการเสนอราคา ถือเป็นการสมยอมราคา
2. มีผู้ขายข้อมูลของบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดขณะประมูล
สำหรับกรณีที่ จ.ยโสธร คาดว่าเป็นการทุจริตการประมูลแบบที่ 2 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้แนวทางให้ดีเอสไอ ไปสอบสวนตามข้อสันนิฐาน เพื่อหาผู้ขายข้อมูล ราคาประมูลต่ำสุด ผ่านร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ยโสธร ส่งให้กับผู้ร่วมประมูลรายอื่น ซึ่งดีเอสไอตรวจพบข้อมูลนี้ในโน้ตบุ้คของที่ร้าน และจะตรวจสอบข้อมูลย้อนกลัยเพื่อหาผู้ขายข้อมูลการประมูล
กรณีนี้ ดีเอสไอสงสัยการทุจริตประมูลผ่านอี-บิดดิ้ง มาตั้งแต่ปี 2559 และติดตามข้อมูลมาตลอด ถึงแม้กรมบัญชีกลางจะมีระบบป้องกันและห้ามเข้าไปห้องควบคุมการประมูลในช่วงก่อนปิดการประมูล แต่ดีเอสไอก็ต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
นายจรรยาวรรณ ชาติอนุลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ระบบอี-บิดดิ้ง ของกรมบัญชีกลาง พัฒนามาจากอีออกชั่น ซึ่งทำให้ผู้ประมูลเคาะราคาจากที่ไหนก็ได้ เพื่อป้องกันการฮั้วประมูล แต่ไม่ว่าระบบที่ใช้งานผ่านอินเตอร์เน็ต เมื่อข้อมูลถูกนำเข้าระบบ ย่อมถูกนำออกจากระบบได้ แม้กรมบัญชีกลางจะชี้เเจงว่าคอมพิวเตอร์ในศูนย์ควบคุมการประมูล ไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
การรั่วไหลข้อมูลลักษณะนี้ เรียกว่า แบล็คเอ็น (back-end) ซึ่งมีเฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่เข้าระบบอินทราเน็ตภายในไว้ ดังนั้นทุกระบบจึงไม่มีความปลอดภัย 100%