บ.ตั้งใหม่คว้างานซื้อระบบรังวัดเพิ่มอีก313ล.-คราวนี้ลงนามห่างช่วงจดทะเบียน7เดือน
พบอีกข้อมูล บ.ตั้งใหม่ คว้างานซื้อระบบรังวัดกรมที่ดินเพิ่มอีก 1 สัญญา 313ล้าน -คราวนี้ลงนามห่างช่วงจดทะเบียนแค่ 7 เดือน รวมวงเงินงานแรก ยอดพุ่ง463 ล้าน
"บริษัทรับทราบเรื่องที่สตง.(สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) แจ้งถึงกรมที่ดินดังกล่าวแล้ว และไม่มีความกังวลใจอะไร เพราะมั่นใจว่าสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงทุกข้อที่สตง.ตั้งข้อสังเกตได้"
"ในส่วนข้อสังเกตเรื่องระยะเวลาในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้น ในทีโออาร์ของกรมที่ดินไม่ได้มีการกำหนดเรื่องนี้เอาไว้ ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าของบริษัท ที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทย ก็เป็นบริษัทจากจีนมีความเชียวชาญในเรื่องการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดที่ได้รับการยอมรับ"
"ส่วนที่ระบุว่า วัตถุประสงค์การทำธุรกิจของบริษัท ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการทำระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม นั้น ในข้อเท็จจริงวัตถุประสงค์การจดทะเบียนทำธุรกิจของบริษัทที่แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีอยู่ข้อหนึ่ง ที่ระบุว่า จัดจำหน่ายติดตั้งเครื่องมือสำรวจวิศวกรรม ทุกประเภทให้กับเอกชนราชการ น่าจะครอบคลุมอยู่แล้ว ส่วนที่ระบุว่าไปตรวจสอบข้อมูลเอกสาร และพบว่าช่องรับสัญญาดาวเทียมของบริษัท ได้แค่220 ช่อง น้อยกว่า 400 ช่อง นั้น ในความเป็นความจริง เครื่องมือของบริษัทรับได้มากกว่านั้นอยู่แล้ว ซึ่งเรามีหลักฐานรับรอบจากองค์กรระดับชาติยืนยันได้ "
คือ คำยืนยันจากนายธนวัฒน์ (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้จัดการบริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งปรากฎชื่อเป็นผู้รับจ้างงานจัดซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) จำนวน 1 ระบบ 30 สถานี วงเงิน 149,999,999.88 บาท ตามประกาศประกวดราคา เลขที่ 8/2560 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GNSS สำหรับสถานีฐาน (BASE STATION) มีช่องรับสัญญาณดาวเทียมไม่น้อยกว่า 400 ช่องรับสัญญาณ
ซึ่งถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า เสนอขายสินค้ายี่ห้อ CHC รุ่น N72 GNSS ที่มีช่องรับสัญญาณดาวเทียมได้จริงไม่เกิน 220 ช่องรับสัญญาณ จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเอกสารประกวดราคา และบริษัทเพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2558 ไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการทำระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม จึงถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเสนอราคา
พร้อมทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อขอให้ทบทวนการดำเนินงานการจัดโครงการนี้
(อ่านประกอบ : ทีโออาร์ไม่ได้ห้าม! บ.ตั้งปีเศษ ยันคุณสมบัติครบคว้างานจัดซื้อระบบรังวัดกรมที่ดินร้อยล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2558 (เปรียบเทียบช่วงเวลาที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กับช่วงเวลาประกาศประกวดราคา เลขที่ 8/2560 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 ห่างกันประมาณปีเศษ ตรงตามข้อมูลของสตง. ระบุ)
ช่วงเริ่มต้น แจ้งทุน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 160/11 ซอย 11 ถนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
ปรากฎชื่อ นาง ธนวรรณ วิศวกรวิศิษฎ์ เป็นกรรมการผู้อำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่
นายสมเกียรติ อุษณรัศมี และนายสุรวีร์ ลีฬหรัตนรักษ์ ร่วมถือหุ้น
แจ้งวัตถุประสงค์ทำธุรกิจเริ่มต้นไว้ 25 ข้อ มีข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการสำรวจที่ดิน อยู่ใน
ข้อ 20. ประกอบกิจการบริการสำรวจ รังวัด สอบเขตที่ดิน จัดทำแผนที่ จัดแบ่งที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็นแปลงย่อย
ข้อ 22. ประกอบการกิจการจำหน่ายและติดตั้งเครื่องมือสำรวจทางวิศวกรรมทุกประเภท ให้กับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนรวมทั้งบุคคลทั่วไป
ข้อ 23. ประกอบกิจการให้บริการงานทำแผนที่และงานสำรวจทางวิศวกรรมทุกประเภท รวมทั้งงานสารสนเทศและงานภูมิสารสนเทศ ให้กับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานของเอกชน รวมทั้งบุคคลทั่วไป
และ ข้อ 24. ประกอบกิจการให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านงานวิศวกรรมทุกประเภท ให้กับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน
จากนั้นวันที่ 25 ก.ย.2558 บริษัทฯ ได้แจ้งแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์เป็น 26 ข้อ และแจ้งย้ายที่ตั้งใหม่ เป็น เลขที่ 349 อาคารเอสเจ อินฟินิท วัน บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ ชั้น 16 ห้อง ที่ 6 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
โดยวัตถุประสงค์การทำธุรกิจที่เพิ่มมาใหม่ในข้อ 26 คือ การประกอบกิจการในการจัดทำ ออกแบบก่อสร้าง และเป็นตัวแทนในการจัดทำน้ำพุแบบต่างๆ และน้ำพุดนตรี ระบบไฟ สี เสียง ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์
และล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2559 ได้แจ้งแก้ไข เพิ่มเติมวัตถุประสงค์เป็น 27 ข้อ คือ ประกอบการกิจการค้า ขายส่ง เครื่องมือสื่อสาร เครื่องโทรคมนาคม เครื่องรับส่งวิทยุ เครื่องกระจายเสียง เครื่องวิทยุโทรทัศน์ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่หมายเหตุประกอบงบการเงิน ณ 31 ธ.ค.2558 ที่นำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ ระบุว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการจำหน่ายและติดตั้งเครื่องมือสำรวจทางวิศวกรรมทุกประเภท
จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักข่าวอิศรา ยังพบด้วยว่า นอกเหนือจากสัญญาจัดซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) จำนวน 1 ระบบ ตามสัญญาที่ สซ 20/2560 วงเงิน 149,999,999.88 บาท ที่เปิดเผยไปแล้วนั้น
บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ยังได้รับงานว่าจ้างจากกรมที่ดินอีก 1 สัญญา คือ การจัดซื้อระบบโครงการสร้างพื้ฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม จำนวน 1 ระบบ ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ สซ 14/2559 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2559 วงเงิน 313,999,999,88 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
เท่ากับว่านับจนถึงขณะนี้ บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับงานจัดซื้อระบบโครงการสร้างพื้ฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม จากกรมที่ดิน แล้วจำนวน 2 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 463,999,999.76 บาท
ดังนั้น การตีความวัตถุประสงค์การทำธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะข้อ 22 ที่ระบุว่า ประกอบการกิจการจำหน่ายและติดตั้งเครื่องมือสำรวจทางวิศวกรรมทุกประเภท ให้กับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนรวมทั้งบุคคลทั่วไป ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ยืนยันว่า ครอบคลุม และนำมาใช้เป็นข้อโต้แย้งกับ สตง.ที่ระบุว่า ไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการทำระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม จึงถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเสนอราคา
คงจะต้องมีการพิจารณาจากงานทั้ง 2 สัญญา
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะเวลาในการลงนามสัญญาซื้อขายซื้อขาย ฉบับที่ 2 เลขที่ สซ 14/2559 วงเงิน 313,999,999,88 บาท เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2559 ห่างจากช่วงหลังบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2558
เพียงแค่ 7 เดือนเศษๆ เท่านั้น