ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ พบสารกันบูดปนเปื้อนใน “ไส้ถั่วกวนสำเร็จรูป”
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ พบสารกันบูดปนเปื้อนใน “ไส้ถั่วกวนสำเร็จรูป” 3 จาก 6 ตัวอย่าง ไม่แสดงข้อมูลบนฉลาก
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มทดสอบสารกันบูด กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ในตัวอย่างไส้ถั่วกวนสำเร็จรูป ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำไส้ขนมหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ขนม ขนมโมจิ ซาลาเปา ขนมเทียน ขนมถั่วกวน ขนมลูกชุป ขนมเม็ดขนุน ฯลฯ โดยผลการทดสอบพบการปนเปื้อนสารกันบูดในตัวอย่างไส้ถั่วกวนสำเร็จรูปจำนวน 3 จาก 6 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบ โดย 3 ตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ได้แก่
1.ตัวอย่างยี่ห้อ ยูยี เก็บตัวอย่างที่ร้านยีสต์แอนเนย สำเพ็ง 2.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ร้านพรพรรณเบเกอรี่ บางบอน และ 3.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ร้านอั่งกี่ ศรีนครินทร์ส่วน 3 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ประกอบด้วย 1.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ร้านเกียรติสิน สะพานควาย พบ กรดเบนโซอิก 304.82 มก./กก., 2.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ร้านเกียรติรุ่งโรจน์ ซ.งามวงศ์วาน 25 พบกรดเบนโซอิก 316.63 มก./กก. และ 3.ตัวอย่างไม่มียี่ห้อ เก็บตัวอย่างที่ร้านครบครัน คลองตัน พบกรดเบนโซอิก 340.68 มก./กก. โดยทั้ง 3 ตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของกรดซอร์บิก ซึ่งปริมาณที่พบไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
สำหรับมาตรฐาน กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ที่กฎหมายกำหนด ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไส้ถั่วกวนสำเร็จรูป น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มอาหารประเภท พืชผัก สาหร่าย ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดพืชต่างๆ ที่ผ่านกรรมวิธี เช่น อบแห้ง แคนนิ่ง แช่แข็ง ฯลฯ ตามการแบ่งกลุ่มย่อยของประเภทอาหารที่อนุญาตให้ใช้ กรดเบนโซอิก ซึ่งตามประกาศไม่มีกำหนดปริมาณที่ใช้เป็นตัวเลขชัดเจน ระบุเพียงว่า ให้ใช้ใน “ปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งเมื่อลองนำไปเทียบกับกลุ่มอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ในไส้ถั่วกวนสำเร็จรูป
ก่อนหน้านี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทดสอบการปนเปื้อนของ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ในขนมเปี๊ยะ ซึ่งมีไส้ถั่วกวนเป็นส่วนประกอบ พบการปนเปื้อนจำนวน 12 จาก 13 ตัวอย่างที่ทดสอบ โดยปริมาณสารกันบูดที่พบ เฉลี่ยอยู่ที่ 20.47 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อลองเทียบกับปริมาณสารกันบูดที่พบในไส้ถั่วกวนสำเร็จรูปที่พบสารกันบูดเฉลี่ยอยู่ 320.71 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าปริมาณสารกันบูดในไส้ถั่วกวนสำเร็จรูปสูงกว่าในขนมเปี๊ยะถึง 15 เท่า (ผลทดสอบขนมเปี๊ยะ https://goo.gl/BPyfk3 )
ส่วนเรื่องการแสดงฉลาก ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 363) พ.ศ. 2556 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ต้องมีการแสดงฉลากกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร แต่ในการทดสอบครั้งนี้ตัวอย่างไส้ถั่วกวนที่พบการปนเปื้อนของ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ไม่มีการแจ้งข้อมูลใดๆ บนฉลาก ซึ่งอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ในลักษณะที่มีฉลากไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเรื่องคุณภาพ มีบทลงโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท