ทีโออาร์ไม่ได้ห้าม! บ.ตั้งปีเศษ ยันคุณสมบัติครบคว้างานจัดซื้อระบบรังวัดกรมที่ดินร้อยล.
เปิดหมดข้อมูลขั้นตอนประกวดราคาจัดซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานรังวัดกรมที่ดินร้อยล้าน ก่อนสตง.จี้ทบทวน หลังตรวจสอบพบบริษัทผู้ชนะเพิ่งจดทะเบียนตั้งแค่บ.ปีเศษ เข้าร่วมเสนอราคาคว้างาน เผยผ่านคุณสมบัติ-เทคนิคยื่นซองเสนอราคารายเดียว ด้านผู้จัดการบริษัทฯ ยันไม่กังวลใจ ชี้แจงข้อสังเกตได้ทุกประเด็น รับเป็นตัวแทนขายสินค้าจากจีน นัดเข้าชี้แจงข้อมูลคกก.ตรวจรับสินค้าแล้ว
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงต้นเดือน พ.ค.2560 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อขอให้ทบทวนการดำเนินงานการจัดซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) จำนวน 1 ระบบ 30 สถานี ตามประกาศประกวดราคา เลขที่ 8/2560 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 ซึ่งกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม GNSS สำหรับสถานีฐาน (BASE STATION) มีช่องรับสัญญาณดาวเทียมไม่น้อยกว่า 400 ช่องรับสัญญาณ หลังตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลเสนอขายสินค้ายี่ห้อ CHC รุ่น N72 GNSS ที่มีช่องรับสัญญาณดาวเทียมได้จริงไม่เกิน 220 ช่องรับสัญญาณ จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเอกสารประกวดราคา และบริษัทเพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2558 ไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการทำระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม จึงถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเสนอราคา
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างกรมที่ดิน พบว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 กรมที่ดิน ได้ลงนามทำสัญญาซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) จำนวน 1 ระบบ จากเอกชนรายหนึ่ง ตามสัญญาที่ สซ 20/2560 วงเงิน 149,999,999.88 บาท
จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า เอกชนซึ่งปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญากับกรมที่ดินรายนี้ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2558 เปรียบเทียบช่วงเวลาที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กับช่วงเวลาประกาศประกวดราคา เลขที่ 8/2560 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 ห่างกันประมาณปีเศษ
ปัจจุบันบริษัท มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่ย่านจตุจักร แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งเครื่องมือสำรวจทางวิศวกรรมทุกประเภท
(อ่านประกอบ : ตั้งบ.ปีเศษ คว้างานร้อยล.!สตง.สั่งทบทวนจัดซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานรังวัดกรมที่ดิน)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) จำนวน 1 ระบบ 30 สถานี ของกรมที่ดิน ตามที่ปรากฎในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง
พบว่า มีการระบุขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดไว้ดังนี้
หนึ่ง กรมที่ดิน ได้ออกประกาศประกวดราคาซื้อระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม จำนวน 1 ระบบ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2559 ลงนามโดย นายบุญช่วย ผูกสี รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมที่ดิน
กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเสนอราคา ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้มีอาชีพขายพัสดุที่ประกวดราคาซื้อดังกล่าว
2. ไม่เป็นผู้ที่ถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงานของทางราชการ และได้แจ้งเวียนชื่อแล้ว
3. ไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอราคารายอื่นที่เข้ายื่นข้อเสนอให้แก่กรมที่ดิน ณ วันประกาศประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือไม่เป็นผู้กระทำการอันเป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้
4. ไม่เป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์หรือความคุ้มกัน ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมขึ้นศาลไทย เว้นแต่รัฐบาลของผู้เสนอราคาได้มีคำสั่งให้สละสิทธิ์ความคุ้มกันเช่นว่านั้น
5. ผู้เสนอราคาต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกประเมินสิทธิผู้เสนอราคาในสถานะที่ห้ามเข้าเสนอราคาและห้ามทำสัญญาตามที่ กวพ. กำหนด
6. บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเข้าเป็นคู่สัญญาต้องไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ไม่แสดงบัญชีรายรับรายจ่าย หรือแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ถูกต้องครบถ้วนในสาระสำคัญ
7.บุคคลหรือนิติบุคคลที่จะเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement : e-GP) ต้องลงทะเบียนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลางที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
8. คู่สัญญาต้องรับและจ่ายเงินผ่านบัญชีธนาคาร เว้นแต่การจ่ายเงินแต่ละครั้งซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน สามหมื่นบาทคู่สัญญาอาจจ่ายเป็นเงินสดก็ได้
9. ผู้เสนอราคาต้องเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบบโครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) โดยตรงและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มีการติดตั้งและใช้งานแล้วอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อย่างน้อย 2 ทวีป และมีอย่างน้อย 1 โครงข่าย ที่มีการติดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมถาวร (Continuously Operating Reference Station : CORS) ไม่น้อยกว่า 80 สถานี โดยต้องมีหลักฐานการ เป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตรง และหลักฐานแสดงรายละเอียดระบบโครงข่ายการรังวัดด้วยดาวเทียมแบบจลน์(RTK GNSS Network) ที่ได้มีการติดตั้งและใช้งานแล้วในประเทศต่างๆ มาแสดงในวันยื่นเสนอราคา
ระบุวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 200 ล้านบาท กำหนดราคากลางอยู่ที่ 186,200,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
สอง มีเอกชน เข้าซื้อซองประกวดราคา 9 ราย มี 2 ราย ที่เข้าซื้อซอง วันเดียวกับวันที่กรมที่ดินออกประกาศประกวดราคาเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2559 จำนวน 2 ราย คือ บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท อินเทลเล็คท์ เน็ตเวิร์ค เว็บ จำกัด (ดูภาพประกอบ
สาม มีเอกชน 3 ราย ยื่นซองเอกสารเสนอราคา คือ บริษัท ฮอลลีวู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท บี แอนด์ แอล แมเนจเม้นท์ แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด
สี บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและเทคนิค เพียงรายเดียว
ห้า กรมที่ดินลงนามในสัญญา กับ บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับจ้าง ตามสัญญาที่ สซ 20/2560 ณ วันที่ 28 มี.ค.2560 วงเงิน 149,999,999.88 บาท
จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2558 (เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กับช่วงเวลาประกาศประกวดราคา เลขที่ 8/2560 ลงวันที่ 30 พ.ย.2559 ห่างกันประมาณปีเศษ ตรงตามข้อมูลของสตง. ระบุ)
ปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 349 อาคารเอสเจ อินฟินิท วัน บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ ชั้น 16 ห้อง ที่ 6 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งเครื่องมือสำรวจทางวิศวกรรมทุกประเภท
ปรากฎชื่อ นาง ธนวรรณ วิศวกรวิศิษฎ์ เป็นกรรมการผู้อำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่ (ณ 30 เมษายน 2559)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 11 พ.ค.2560 ที่ผ่านมา ได้ติดต่อไปยังบริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อขอสัมภาษณ์ นาง ธนวรรณ วิศวกรวิศิษฎ์ กรรมการผู้อำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทฯ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่บริษัทฯ แจ้งว่า นาง ธนวรรณ ไม่อยู่ ก่อนจะให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ นายธนวัฒน์ (ไม่ทราบนามสกุล) ผู้จัดการบริษัทให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราติดต่อไปสอบถามข้อเท็จจริงแทน
นายธนวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า บริษัทรับทราบเรื่องที่สตง. แจ้งถึงกรมที่ดินดังกล่าวแล้ว และไม่มีความกังวลใจอะไร เพราะมั่นใจว่าสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงทุกข้อที่สตง.ตั้งข้อสังเกตได้
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนข้อสังเกตเรื่องระยะเวลาในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้น ในทีโออาร์ของกรมที่ดินไม่ได้มีการกำหนดเรื่องนี้เอาไว้ ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าของบริษัท ที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทย ก็เป็นบริษัทจากจีนมีความเชียวชาญในเรื่องการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดที่ได้รับการยอมรับ
"ส่วนที่ระบุว่า วัตถุประสงค์การทำธุรกิจของบริษัท ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการทำระบบโครงสร้างพื้นฐานงานสำรวจรังวัดด้วยระบบโครงข่ายดาวเทียม นั้น ในข้อเท็จจริงวัตถุประสงค์การจดทะเบียนทำธุรกิจของบริษัทที่แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีอยู่ข้อหนึ่ง ที่ระบุว่า จัดจำหน่ายติดตั้งเครื่องมือสำรวจวิศวกรรม ทุกประเภทให้กับเอกชนราชการ น่าจะครอบคลุมอยู่แล้ว ส่วนที่ระบุว่าไปตรวจสอบข้อมูลเอกสาร และพบว่าช่องรับสัญญาดาวเทียมของบริษัท ได้แค่220 ช่อง น้อยกว่า 400 ช่อง นั้น ในความเป็นความจริง เครื่องมือของบริษัทรับได้มากกว่านั้นอยู่แล้ว ซึ่งเรามีหลักฐานรับรอบจากองค์กรระดับชาติยืนยันได้"
เมื่อถามว่า ได้เข้าไปชี้แจงกับกรมที่ดินหรือยัง ผู้จัดการบริษัท ซีเอชซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ตอบว่า กรรมการตรวจรับสินค้าของกรมที่ดิน ได้ประสานมาให้บริษัทฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว โดยนัดหมายให้เข้าไปชี้แจงในวันนี้ (11 พ.ค.2560)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูล บริษัท ซีเอซซี นาฟเทค (ประเทศไทย) จำกัด ในเว็บไซต์ของบริษัทฯ https://www.chcthailand.com/about ระบุว่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 โดยเป็นบริษัทสาขาของบริษัท CHC Navigation co., Ltd. ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเป็นสาขาหนึ่งของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า CHC ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันแบรนด์ CHC มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในการสนับสนุนงานด้านการหาตำแหน่งจากดาวเทียม GNSS สำหรับงานสำรวจ งานรังวัด งานออกแบบก่อสร้างต่างๆ ด้วยความละเอียดถูกต้องสูงถึงระดับไม่กี่เซนติเมตร ด้วยมาตรฐานชิ้นงานที่มีประสิทธิภาพสูง โดยการนำบอร์ดของ Trimble มาร่วมประมวลผล ในราคาที่สมเหตุสมผลและจับต้องได้นอกจากนี้บริษัทซีเอซซี นาฟเทค (ประเทศไทย) ยังได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Thailand RTK Network ที่ทำการติดตั้งสถานีถาวรรับสัญญาณดาวเทียม GNSS หรือ CORS ในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทยกว่า 61 สถานีในปี พ.ศ.2559 ร่วมกับกรมที่ดิน พร้อมทั้งระบบประมวลผลส่วนกลางในการให้บริการระบบ RTK Network หรือ VRS ในประเทศไทย