ที่มาเด้ง ‘อธิบดีกรมธนารักษ์’ ผลพวงคอนโดประชารัฐ พหลโยธิน 11 ?
เบื้องหลังสั่งเด้ง 'จักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล' พ้นเก้าอี้อธิบดีกรมธนารักษ์ เซ่นโครงการบ้าน (คอนโด) ประชารัฐ ซ.พหลโยธิน 11 หลังชาวบ้านคัดค้านหนัก -สตง.ทักท้วง ตั้งข้อสังเกตเอื้อประโยชน์ บ.เอกชน รมว.คลัง ยันเป็นการสั่งโยกย้ายภายใน ไม่เกี่ยวผลพวงจากโครงการฯ
“การโยกย้ายนายจักรกฤศฏิ์ พ้นจากอธิบดีกรมธนารักษ์ ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับการเดินหน้าโครงการบ้านธนารักษ์-ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นเดิน (สตง.) ท้วงติงมาว่าอาจขัดต่อกฎหมาย”
เป็นคำแถลงยืนยันของนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งย้ายนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ และให้ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลังแทน ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการคอนโดประชารัฐที่กำลังถูกชาวบ้านคัดค้านในห้วงเวลานี้
อีกทั้งยังยืนยันว่า กรมธนารักษ์จะดำเนินการโครงการนี้ต่อไป และดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมาย ขณะที่การโยกย้ายอธิบดีกรมธนารักษ์ครั้งนี้ เป็นเพียงการบริหารจัดการภายในกระทรวงการคลังเพื่อให้เกิดความเหมาะสมเท่านั้น
โครงการบ้านธนารักษ์ (คอนโด) ประชารัฐ ซอยพหลโยธิน 11 ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับข้าราชการและผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัย
โดยเฉพาะวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีที่อยู่อาศัยชั่วคราว ซึ่งเป็นโครงการระยะสั้น ( Rental) มีขนาด 8 ชั้น จำนวน 380 ยูนิต พื้นที่ใช้สอย 25 ตร.ม. บนเนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา กำหนดให้ผู้มีสิทธิเช่าต้องมีรายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาท/เดือน ค่าเช่าไม่เกิน 4 พันบาท/หน่วย และพักอาศัยได้ 5 ปี ก่อนจะหมุนเวียนให้ผู้เช่ารายใหม่
มี บริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน คอนสตรัคชั่น ยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัทผู้ชนะการประมูล แต่ภายหลังได้โอนสิทธิการก่อสร้างและบริการจัดการโครงการ 30 ปี ไปให้แก่บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องเงินทุนและระยะเวลานานไม่คุ้มค่า
ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการถูกคัดค้านจากชาวบ้านและทักท้วงจาก สตง. ด้วยกังวลว่า การพัฒนาโครงการที่ไม่ได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ( Environmental Impact Assessment:EIA) และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาด้านการจราจร
ที่สำคัญ การโอนสิทธิลงนามในสัญญาการก่อสร้างและบริหารโครงการให้แก่ บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด ซึ่งประกอบกิจการให้บริการศูนย์การเรียนรู้ครบวงจรด้านการศึกษา ด้านวิชาการ และด้านการส่งเสริมฝึกทักษะพัฒนาการของเด็กโดยทั่วไป ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง
เท่ากับว่าขาดประสบการณ์!!!
สตง.ยังท้วงติงว่า แม้กรมธนารักษ์จะอ้างว่า โอนสิทธิกันได้ตามเงื่อนไขการประกวดราคาข้อ 13 ที่ระบุว่า การโอนสิทธิการก่อสร้างอาคารและการโอนสิทธิการเช่าจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือทางราชการ โดยจะต้องชำระค่าธรรมเนียมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด
แต่การกำหนดเงื่อนไขลักษณะนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ปักกิ่ง เออร์บัน คอนสตรัคชั่น ยาไถ่ (ไทย) คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด อาจเข้าข่ายกระทำการผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
เนื่องจากในขั้นตอนการพิจารณาผลการประกวดโครงการ ได้มีการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนในส่วนของแผนการดำเนินการและก่อสร้าง ซึ่งต้องสอดคล้องกับความสามารถในการดำเนินโครงการของบริษัทที่ชนะการประมูล ฉะนั้นการเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินการมาเป็นอีกบริษัทหนึ่ง อาจส่งผลให้ผลการประกวดโครงการเปลี่ยนแปลงไป
สตง.เห็นว่า ถึงแม้จะสามารถโอนสิทธิได้ตามเงื่อนไขตามการประกวดโครงการก็ตาม แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงศักยภาพของบริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทประกอบกิจการให้บริการศูนย์การเรียนรู้ครบวงจรด้านการศึกษา ในการที่จะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการด้วย
ปัจจุบันบริษัท จูโน่ พาร์ค จำกัด อยู่ระหว่างทำอีไอเอ ซึ่งกรมธนารักษ์ยืนยันว่า หากพบอีไอเอไม่ผ่าน โครงการคอนโดประชารัฐ ซ.พหลโยธิน 11 จะถูกยกเลิกในทันที ขณะเดียวกัน กรณีพบว่ามีปัญหาด้านกฎหมาย จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เพื่อสร้างความชัดเจน
สุดท้ายแล้ว ข้อทักท้วงของ สตง.และเสียงคัดค้านของชาวบ้านกว่า 400 ชีวิต ในชุมชน จะกลายเป็นพลังที่ล้มโครงการได้หรือไม่ ภายใต้หัวเรือคนใหม่ของกรมธนารักษ์ ‘นายพชร อนันตศิลป์’ ที่โยกมาจากรองปลัดกระทรวงการคลัง คงต้องรอดูกันต่อไป .