เปิดพฤติการณ์ 'อภิรักษ์-พุทธิพงษ์' คดีจ้างติดป้ายพีอาร์- สตง.บี้ กทม.หาผู้ชดใช้เงินแทน12ล.
"...ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์) และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายพุทธิพงศ์) มีหนังสือที่ กท 0200/3830 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2549 ถึงกรรมการผู้จัดการ central world office และผู้จัดการฝ่าย อาคารเมอร์คิวรี่ ขอติดตั้งภาพประชาสัมพันธ์ “การกรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ดังกล่าว บนอาคารโดยกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ เท่ากับแสดงโดยพฤติการณ์ว่ากรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างบริษัทจัดทำและติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์..."
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งถึง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สอบสวนข้อเท็จจริงหาตัวเจ้าหน้าที่ผู้ต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทน จากกรณีการไม่สอบสวน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ว่าจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ภายหลัง กทม.แพ้คดี ที่ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องเรื่องการไม่จ่ายค่าจ้างติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ "กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ในช่วงปี 2549 -2551 รวมค่าเสียหายกว่า 12 ล้านบาท ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้ว
(อ่านประกอบ : สตง.บี้กทม.หาผู้ชดใช้ค่าสินไหมแทน ‘อภิรักษ์-พุทธิพงษ์’ 12ล.คดีจ้างบ. ติดป้ายพีอาร์)
แต่สาธารณชนยังไม่ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงกรณีนี้ทั้งหมด ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดในหนังสือ สตง.ที่ส่งถึงผู้ว่าฯกทม. ให้พิจารณาเรื่องนี้ ฉบับเต็มมานำเสนอ ดังนี้
----------------
เรื่อง การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์โครงการ "กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ของกรุงเทพมหานคร
เรียน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
อ้างถึง 1. หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ลับ ด่วนที่ ตผ 0019/46 ลงวันที่ 30 มกราคม 2552
2 หนังสือกรุงเทพฯ ลับ ด่วนที่สุดที่กท 0404/263 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2558
ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แจ้งให้กรุงเทพมหานครชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีได้รับข้อมูลว่ากรุงเทพมหานครได้ให้เอกชนจัดทำป้ายโครงการ"กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ก่อนจะมีการอนุมัติงบประมาณและทำสัญญาจ้างต่อมากรุงเทพมหานครได้แจ้งผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด
สรุปว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่างได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบ ตามลำดับขั้นตอนในส่วนที่แต่ละคนมีหน้าที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีเหตุที่จะต้องรับผิดทางละเมิดต่อกรุงเทพมหานคร และแจ้งผลการดำเนินการทางวินัยว่าพฤติการณ์เกิดจากความเร่งรีบ โดยผู้บริหารกรุงเทพฯเป็นผู้ติดต่อและมอบหมายให้ บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์และกำหนดสถานที่ติดตั้งป้ายดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานการโยธาแต่อย่างใด
ประกอบกับกรมบัญชีกลางได้แจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดว่า ความเสียหายไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงไม่มีมูลกรณีที่จะกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของสำนักการโยธากระทำผิดวินัย จึงได้สั่งยุติเรื่องตามหนังสือที่อ้างอิง 2 นั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอเรียนว่าจากการตรวจสอบรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน) ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์) ดำเนินการจดทะเบียนตราสัญลักษณ์ “กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” เป็นลิขสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร
ต่อมาได้มีการประชุม เพื่อเตรียมการที่ห้องทำงานของ นายพุทธิพงศ์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2549 โดยมีผู้แทนของบริษัท เอส เอฟ จี จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุมด้วยซึ่ง นายพุทธิพงศ์ มี หนังสือที่ กท 0200/รผว.กทม.4/43 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2549 มอบหมายให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (นางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย) สั่งการให้สำนักการโยธาจัดหาและติดตั้งธงแสดงโลโก้ พร้อมข้อความประชาสัมพันธ์ตามอาคาร สถานที่ และถนนสายสำคัญๆ ตามความเหมาะสมกำหนดจัดงานในวันที่ 17 สิงหาคม 2549 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ในเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์) และรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายพุทธิพงศ์) มีหนังสือที่ กท 0200/3830 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2549 ถึงกรรมการผู้จัดการ central world office และผู้จัดการฝ่าย อาคารเมอร์คิวรี่ ขอติดตั้งภาพประชาสัมพันธ์ “กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” ดังกล่าว บนอาคารโดยกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ เท่ากับแสดงโดยพฤติการณ์ว่ากรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างบริษัทจัดทำและติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์
เมื่อบริษัทได้ตกลงดำเนินการจัดทำและติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ให้แก่กรุงเทพมหานครตามที่ว่าจ้างแล้วและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ทำพิธีเปิดงานโครงการดังกล่าวในวันที่ 17 สิงหาคม 2549 เท่ากับเป็นการยอมรับผลแห่งการทำงานที่บริษัทได้ทำไป สัญญาระหว่างบริษัทกับกรุงเทพมหานครจึงเกิดขึ้นแล้วหลังจากการจัดงานเสร็จสิ้น สำนักการโยธาจึงได้ดำเนินการจัดจ้างตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุพ. ศ. 2538 ในภายหลังโดยขอจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ไปยังสำนักงบประมาณ 9,849,649.60 บาท เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 และขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางซึ่งคณะกรรมการได้กำหนดราคากลางเป็นเงิน 8,251,827.16 บาท และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายอภิรักษ์) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 9,849,649.60 บาท จนกระทั่งสำนักการโยธาได้เสนอต่อปลัดกรุงเทพมหานครเพื่อขอความเห็นชอบดำเนินการจ้างจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์โดยวิธีพิเศษ ซึ่งสำนักการคลังได้ให้สำนักการโยธาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุผลและความจำเป็นในการดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และมีการขอความเห็นชอบอีกครั้ง แต่ไม่มีรายละเอียดว่าการอนุมัติให้ดำเนินการหรือไม่อย่างไร
จนวันที่ 25 มกราคม 2551 บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) ผู้รับจ้างได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครต่อศาลแพ่งเพื่อบังคับให้ชำระหนี้ซึ่งศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กรุงเทพมหานครชำระหนี้แก่บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) ตามคดีหมายเลขดำที่ 422/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 5831/2552 โดยกรุงเทพมหานครได้วางเงินจำนวน 10,554,694.02 บาทต่อศาลแพ่งแล้ว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 แบ่งเป็นค่าจ้างตามมูลสัญญาจ้างจำนวน 8,251, 827.16 บาท ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำนวน 817,270.01 บาท ดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องจนถึงวันชำระจำนวน 1,275,076.85 บาทและค่าฤชาธรรมเนียม จำนวน 210,520 บาท นั้น
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาถึงที่สุดคดีหมายเลขแดงที่ 5831/2552 รับฟังได้ว่านายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นผู้มอบหมายให้บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) ดำเนินการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ก่อนมีการดำเนินการจัดจ้างตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง การพัสดุ พ. ศ. 2538 สำนักการโยธาไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนการจัดจ้างของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพราะไม่มีหลักฐานของทางราชการที่นำมาใช้ประกอบการเบิกจ่ายจึงไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้กับ บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) ได้จนเป็นเหตุให้บริษัทฟ้องกรุงเทพมหานครต่อศาลแพ่งให้ชำระหนี้ซึ่งศาลแพ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้กรุงเทพมหานครชำระหนี้ให้แก่บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) (โจทก์) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 10,554,694.02 บาท อันเป็นการบริหารข้าราชการกรุงเทพมหานครตามอำนาจหน้าที่โดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรุงเทพมหานครทำให้ต้องชำระค่าใช้จ่ายอื่นนอกจากนี้ตามมูลสัญญาจ้างทำของ ได้แก่ ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำนวน 817,270.01 บาท ดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องจนถึงวันชำระจำนวน 1,275,076.85 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม จำนวน 210,520 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 2,302,866.86 บาท เป็นเหตุให้กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย
ซึ่งกรุงเทพมหานครมีสิทธิ์เรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ที่ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จัดพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ. ศ. 2538
เมื่อศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 5831/2552 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ว่านายอภิรักษ์โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น เป็นผู้มอบหมายให้บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ก่อนมีการดำเนินการจัดจ้างตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ. ศ. 2538 จึงถือว่ากรุงเทพมหานตรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะถึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 8 ตุลาคม 2552 ซึ่งภายหลังทราบผลคำพิพากษาคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเห็นว่ากรณีที่กรุงเทพมหานครต้องชำระหนี้ให้แก่บริษัท เอส เอฟ จี จำกัด(มหาชน) ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ 422/ 2551 คดีหมายเลขแดงที่ 5831/2552 ไม่ปรากฏว่า นายวิทยา นาทอง,นายวิทยา เอมาวัฒน์ นายวัชระ วีระวงศ์ตระกูล,นางสญธยา อ้นมงคล และนางสุภาวดี สอนไทย เจ้าหน้าที่ของสำนักการโยธา มีส่วนเกี่ยวข้องและได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบเพื่อจะปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุ พ. ศ. 2538 ตามลำดับขั้นตอนในส่วนที่แต่ละคนมีหน้าที่เกี่ยวข้องตามที่ได้รับมอบหมายจึงไม่มีเหตุที่จะต้องรับผิดชอบทางละเมิดต่อกรุงเทพมหานคร ตามคำพิพากษามาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
แต่กรุงเทพมหานครกลับไม่ดำเนินการสอบสวนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่าจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวหรือไม่จนทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเป็นอันขาดอายุความ จึงขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาตัวผู้ต้องรับผิดชอบสำหรับค่าสินไหมทดแทนอนาถเรียกร้องได้จากเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการและแจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง (รับรองสําเนาถูกต้อง) เพื่อประกอบการตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินพ. ศ. 2542
--------------
ทั้งหมดนี้ คือ เนื้อหาที่ปรากฎอยู่ในหนังสือ สตง. ที่ส่งถึงผู้ว่าฯกทม. คนปัจจุบัน ส่วนภายหลังจากรับทราบข้อมูลแล้ว ผู้ว่าฯกทม. จะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น สาธารณชนคงต้องติดตามช่วยกันตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป เพื่อไม่ให้เงินจำนวน 12 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาจากเงินภาษีของประชาชนที่เสียหายไป โดยไม่สามารถหาตัวผู้รับผิดชอบได้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดต่อไปยังนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะนั้น เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกรณีข้างต้น แต่นายอภิรักษ์ ระบุว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้ว ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ สตง. ทำหนังสือถึง กทม. ให้ชดใช้เงินกรณีดังกล่าว ขอไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และให้นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงก่อนดีกว่า เพราะอาจทราบรายละเอียดมากกว่า
วันเดียวกันผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังนายพุทธิพงษ์ ผ่านเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวที่แจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ไม่มีผู้ใดรับสาย