คาดปี 65 ไทยมีผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตทุกสิทธิกว่า 3 แสนราย
บอร์ด สปสช.รับทราบรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย คาดปี 2565 ผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตทั่วประเทศในทุกสิทธิกว่า 3 แสนราย ใช้งบดูแลกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท 'หมอชาตรี' ชี้โจทย์ใหญ่คือภาระดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย สร้างความเป็นธรรมบำบัดทดแทนไตตามข้อบ่งชี้ ไม่ใช่ยกเลิกล้างไตผ่านช่องท้อง
นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้แทนสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาไต นำเสนอรายงานความก้าวหน้าการให้บริการทดแทนไตด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (CAPD) ต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการดำเนินนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (CAPD) แต่ไม่ได้บังคับให้ผู้ป่วยต้องล้างไตผ่านช่องท้องไปตลอด มีการเปิดให้ผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนบำบัดโดยการฟอกไตได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายใหม่ที่จำเป็นต้องฟอกไตสามารถอุทธรณ์ได้
เมื่อเปรียบเทียบวิธีการบำบัดทดแทนไต ด้วยการฟอกไตที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยี ศูนย์ฟอกไตส่วนใหญ่จึงอยู่ในเขตเมือง ซึ่งผู้ป่วยต้องบำบัด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลมีความลำบากในการเข้าถึง ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้องผู้ป่วยสามารถทำเองได้ และเมื่อดูอัตราเสียชีวิตในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง ตามเกณฑ์ของสมาคมโรคไตฯ กำหนดให้ศูนย์ล้างไตผ่านช่องท้องต้องมีอัตราผู้ป่วยรอดชีวิตใน 1 ปีแรก มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งปี 2560 นี้ มีจำนวนศูนย์ล้างไตผ่านช่องท้องผ่านเกณฑ์ร้อยละ 57 เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีจำนวนร้อยละ 45 สะท้อนถึงการพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยดีขึ้น และเมื่อดูข้อมูลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องใน 1 ปีแรกมีอัตรารอดชีวิตร้อยละ 80 และปีที่ 5 มีอัตรารอดชีวิตร้อยละ 35 เป็นอัตราใกล้เคียงกับสหรัฐฯ ส่วนการติดเชื้อในช่องท้องมีอัตราลดลงต่อเนื่อง ตามเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 0.5 ครั้งต่อคนต่อปี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.38 ครั้งต่อคนต่อปี
นพ.สกานต์ กล่าวว่า ในการวางนโยบายเหมาะสมเพื่อดูแลผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้คำนวณเพื่อคาดการสถานการณ์และค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยโรคไตในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยทุกสิทธิที่ขึ้นทะเบียนรับบำบัดทดแทนไตย้อนหลัง 5 ปีของสมาคมโรคไตฯ ซึ่งเฉลี่ยมีผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้าสู่การบำบัดทดแทนไตร้อยละ 18 ต่อปี ดังนั้นเมื่อนำอัตราดังกล่าวมาคำนวณในอีก 5 ปีจากนี้ คือปี 2565 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตทุกสิทธิถึง 310,806 คน โดยต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 54,231 ล้านบาท
นพ.สกานต์ กล่าวต่อว่า ส่วนการเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ทั้งในผู้ป่วยฟอกไตและล้างไตผ่านช่องท้อง ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อม อาทิ ค่าเดินทาง ค่าเรียกเก็บจากโรงพยาบาล ค่าที่พักและอาหาร โดยจากข้อมูลของ นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบว่ากรณีผู้ป่วยฟอกไตจะมีภาระมากกว่าเนื่องจากต้องเดินทางเพื่อรับบริการที่ศูนย์ฟอกไตต่อเนื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 56,992-85,488 บาทต่อปี และผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องอยู่ที่ 7,092 บาทต่อปี ขณะที่ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตอยู่ที่ 23,424 บาทต่อปี
ด้าน นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่า ชัดเจนว่า 10 ปีที่ผ่านมา คุณภาพการล้างไตผ่านช่องท้องดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลการรักษาไม่ต่างจากการฟอกไต ส่วนเรื่องราคาเมื่อดูค่าใช้จ่ายทางตรงไม่ต่างกัน แต่มีค่าใช้จ่ายทางอ้อมที่แตกต่าง ซึ่งการจะยกเลิกการล้างไตผ่านช่องท้องคงเป็นไปไม่ได้ แต่ปัญหาคือยังมีคนไข้เข้าไม่ถึงบริการ โจทย์ใหญ่ 5 ปีข้างหน้า คือจะมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 แสนคนและงบต้องใช้เพิ่มเป็นเท่าตัว รวมถึงบุคลากรที่ต้องเพิ่มเติม ซึ่งมติ ครม.ปี 2550 ที่ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ระบุวรรคสุดท้ายให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณที่ประเทศจำกัด อาจไม่เพียงพอดูแลผู้ป่วยภาพรวมทั้งหมด ควรกำหนดแนวทางให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่ระบุว่าจากสิทธิประโยชน์นี้จะเป็นภาระทางการเงินอย่างมากในอนาคต ดังนั้นโจทย์ใหญ่วันนี้ไม่ใช่การยกเลิกการล้างไตผ่านช่องท้อง แต่เราจะรองรับภาระผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ป่วยในการรับการรับบริการฟอกไตหรือล้างไตผ่านช่องท้องตามข้อบ่งชี้ที่แท้จริง
พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การล้างไตผ่านช่องท้องมีการดูแลผู้ป่วยมาเป็น 10 ปีแล้ว ซึ่งคุณภาพล้างไตช่องท้องวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีแล้ว แต่ผู้ป่วยยังติดอยู่ที่ภาพเดิม เรื่องนี้จึงต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ถูกจุด ทั้งไม่อยากให้คิดถึงการร่วมจ่ายเนื่องจากสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยไม่ล้มละลายและสามารถเข้าถึงการรักษาได้ ดังนั้นไม่ควรทำให้ผู้ป่วยต้องช๊อคซ้ำว่าต้องร่วมจ่ายอีก แต่ควรเดินทางสายกลางทำให้ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องอย่างมีความสุขมากกว่า ขณะนี้มีการล้างไตผ่านช่องท้องแบบใหม่ที่ใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติทำตอนกลางคืนได้ นับเป็นทางเลือกที่ตรงกับ CAPD First และหากประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องนี้เองได้ จะเป็นการช่วยคนไข้โรคไตมหาศาล
ทั้งนี้ที่อยากฝากไว้คือที่ผ่านมาเราพูดถึงแต่นโยบาย CAPD First แต่ความจริงเป็นนโยบาย HD Second โดยให้เป็นการวินิจฉัยของแพทย์ เพียงแต่หลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ต้องมีการอุทธรณ์โดยมีคณะกรรมการตัดสิน ทำให้สังคมเข้าใจว่าเป็นการบังคับทั้งที่เราให้สิทธิผู้ป่วยในการฟอกไตเท่ากับการล้างไตผ่านช่องท้อง จึงควรนำข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตมาแสดงให้สังคมรับทราบ นอกจากนี้ในการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายการฟอกไตและล้างไตผ่านช่องท้อง เรามุ่งไปที่ค่าใช้จ่ายทางตรงทั้งที่ค่าใช้จ่ายทางอ้อมมีความสำคัญกว่า ข้อมูลเหล่านี้ต้องประชาสัมพันธ์ แต่ตอนนี้ สปสช.เป็นกระโถนท้องพระโรงไปแล้ว ดังนั้นสมามคมโรคไตฯ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกโรงเรื่องนี้
ขณะที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานนี้เป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง การจะเดินไปข้างหน้าต้องใช้ข้อมูลเชื่อถือได้และดูว่าจะรับมืออย่างไร คงต้องมีการวางแผเพื่อปรับระบบให้ยั่งยืน โดยเราจะเลือกวิธีที่ดีที่สุดให้กับคนในประเทศได้อย่างไร รวมถึงเหมาะสมกับสภาวะของประเทศไทย สำหรับเครื่องล้างไตอัตโนมัตินั้น ค่าใช้จ่ายเครื่องล้างไตบวกกับน้ำยาอยู่ที่ 60,000-70,000 บาทต่อคน ขณะนี้ได้ประสาน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เพื่อช่วยวิจัยและผลิตเครื่องดังกล่าวเพื่อใช้กับผู้ป่วยในประเทศ