รามาฯหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองสำเร็จแห่งแรกเอเชีย
รพ.รามาฯใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองสำเร็จแห่งแรกในเอเชีย เข้าถึงจุดขนาดเล็กในสมอง กำหนดเป้าหมายแม่นยำสูง ผิดพลาดน้อย ลดภาวะแทรกซ้อน
การผ่าตัดก้อนเนื้อขนาดเล็กในร่างกายเป็นสิ่งยากยิ่ง การผ่าตัดสมองยิ่งมีความยากยิ่งขึ้น และยิ่งเป็นการผ่าตัดจุดขนาดเล็กในสมองที่เปรียบเสมือนการหยิบเม็ดถั่วเขียวที่ล่องลอยอยู่ในน้ำวุ่นยิ่งเพิ่มความยุ่งแก่ศัลยแพทย์มากยิ่งขึ้น รพ.รามาธิบดีจึงได้นำหุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดสมอง เพื่อกำหนดจุดเป้าหมายขนาดเล็กในสมองที่ต้องการผ่าตัด จนสามารถผ่าตัดคนไข้ได้สำเร็จเป็นรายแรกของเอเชีย
ผศ.นท.นพ.สรยุทธ ชำนาญเวช สาขาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการแถลงข่าว “รามาธิบดีกับความสำเร็จ :หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองแห่งแรกในเอเชีย” ว่า การผ่าตัดสมอง โดยเฉพาะการผ่าตัดผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองที่มีขนาดเส้นผ่าตัดศูนย์กลางเล็กกว่า 3 เซนติเมตร และมีความจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อออกมา โดยขนาดของชิ้นเนื้อที่ตัดมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 3 เซนติเมตร การจะใช้ประสาทศัลยแพทย์เข้าไปผ่าตัดก้อนเนื้อที่มีขนาดเล็กๆในสมองก็ยากที่จะเข้าถึง ซึ่งปกติทางการแพทย์จะยอมรับโอกาสในการพลาดเป้าหมายจุดที่ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดได้ที่ 3-5 มิลลิเมตร
เมื่อนำหุ่นยนต์มาช่วยในการกำหนดเป้าหมายก้อนขนาดเล็กในสมองที่ต้องการผ่าจะมีโอกาสพลาดเป้าหมายเพียง 1 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดสมองนับว่าให้ความปลอดภัยได้สูงในผู้ป่วยที่ประสาทศัลยแพทย์จำเป็นต้องการเข้าสู่เป้าหมายในสมองที่ขนาดเล็กมาก ๆ เพื่อรักษาภาวะความผิดปกติบางอย่าง เช่น เนื้องอกในสมอง ภาวะลมชักในสมอง ภาวะพาร์กินสันที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้แล้ว และการผ่าตัดรักษาโรคจิตผิดปกติบางประเภทในสมอง ทั้งนี้ หุ่นยนต์มีราคาราว 40 ล้านบาท
“การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดสมองนี้ทำให้มีความแม่นยำสูงในการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการผ่าซึ่งมีขนาดเล็กในสมอง ความผิดพลาดเกิดขึ้นน้อย ลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดสมอง ซึ่งการผ่าตัดสมองโดยทั่วไปอาจเกิดกรณี การตัดโดนเส้นประสาทหรือหลอดเลือด ทำให้เป็นอัมพาต หรือพิการอื่นๆ พูดไม่ได้ ตามองไม่เห็น นอกจากนี้ การใช้หุ่นยนต์ช่วยยังทำให้แผลมีขนาดเล็กโดยแผลที่ผิวหนังขนาด 1 เซนติเมตร และแผลที่กะโหลก 3 มิลลิเมตร ทำให้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดลดลง และเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดเร็วขึ้นจากเดิมใช้เวลาในส่วนของการผ่าตัดในสมองราว 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 30 นาที” ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าว
ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าวอีกว่า ขั้นตอนประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ทำการวางแผนเข้าสู่เป้าหมายโดยอาศัยภาพ MRI ของสมองผู้ป่วย ประสาทศัลยแพทย์สามารถกำหนดทางเข้าและเป้าหมายปลายทางได้อย่างง่ายดาย เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดต่อหลอดเลือดหรือ อวัยวะสำคัญ ๆ ในสมอง 2.ประสาทศัลยแพทย์ติดตั้งอุปกรณ์อ้างอิงบนศีรษะของผู้ป่วย เพื่อทำการลงทะเบียนสมองของผู้ป่วยจากเครื่องซีที( CT) ในห้องผ่าตัดกับภาพเอ็มอาร์ไอ(MRI) สมองของผู้ป่วย 3.ลงทะเบียนระหว่างซีที สมองของผู้ป่วยแล้วกับภาพถ่าย เอ็มอาร์ไอ ของสมอง และ4.หลังจากที่ประสาทศัลยแพทย์กำหนดทิศทางเป้าหมายการผ่าตัดและลงทะเบียนผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์จะขยับแขนของหุ่นยนต์ไปยังเป้าหมายที่ประสาทศัลยแพทย์วางแผนไว้จากนั้นประสาทศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดตามขั้นตอนอย่างปลอดภัย
“สำหรับคนไข้รายแรกที่รพ.รามาฯใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัดสำเร็จรายแรกเป็นแห่งแรกของเอเชีย เป็นชาย อายุ 77 ปี มีอาการหลงลืม สับสน ซึ่งพบว่ามีก้อนในสมองส่วนหน้าขนาดไม่ถึง 2 เซนติเมตร และก่อนหน้าคนไข้เคยมีภาวะเนื้องอกในสมองและทำการผ่าตัดรักษาหายมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นโอกาสคลาดเคลื่อนในการผ่าตัดครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นได้สูง จึงได้นำหุ่นยนต์มาใช้ ซึ่งมีการผิดเป้าไปเพียง 0.04 มิลลิเมตรเท่านั้น หลังการผ่าตัดได้ผลดีสามารถตื่นมาพูดคุยรู้เรื่องมากขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง แพทย์ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่เนื่องจากคนไข้รายนี้จำเป็นต้องเข้ารับเคมีบำบัดต่อจึงยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล” ผศ.นท.นพ.สรยุทธ กล่าว
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จของวงการแพทย์ไทยและเอเชีย ที่ทีมแพทย์จากภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งสมอง ด้วยนวัตกรรมเต็มประสิทธิภาพในเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้การผ่าตัดสมองในผู้ป่วยมีความปลอดภัยสูง ลดอัตราเสี่ยง รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัดลงได้มาก อีกทั้งยังมีความแม่นยำในการผ่าตัดสูงสุดอีกด้วย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยและของเอเชียที่สามารถทำได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีส่วนที่เพิ่มเติมจากค่าผ่าตัดปกติอีก 1 แสนบาทและยังไม่สามารถใช้สิทธิในระบบหลักประกันภาครัฐได้
ศ.นพ.วชิร คชการ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การผ่าตัดด้วยการบาดเจ็บน้อย(Minimally Invasive Surgery ) นับว่ามีบทบาทสำคัญและเป็นรูปแบบการผ่าตัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการผ่าตัดรักษาได้ หากแต่มีแผลจากการผ่าตัดขนาดเล็กลง หากเปรียบเทียบกับการผ่าตัดในสมัยก่อน ๆ และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดลดลง อันเนื่องมาจากการบาดเจ็บจากการผ่าตัด ซึ่งหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นสิ่งที่เสริมประสิทธิภาพของการผ่าตัดแบบบาดเจ็บน้อยได้เป็นอย่าง เป็นบทบาทสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีต่อการผ่าตัดอย่างแท้จริง