เสียงครวญของ “ชุมชนสละที่สร้างเขื่อน” เจอน้ำท่วมซ้ำซาก-เป็นพื้นที่ถูกลืม
หนึ่งในแผนแม่บทบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการ 3 ปี 3.5 แสนล้านบาท ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.) คือสร้าง 5 เขื่อน
กำหนดระยะเวลาศึกษาเพื่อสรุปแนวทางก่อสร้างโครงการ 1-2 ปี มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ
สำหรับเขื่อนใหม่ทั้ง 5 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำรวม 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้แก่ 1.เขื่อนแม่วงก์ จ.อุทัยธานี 2.เขื่อนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ 3.เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ 4.เขื่อนน้ำตาด จ.น่าน 5.อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็ก 6-7 แห่ง ในจ.เพชรบูรณ์ โดยผลเลิศที่วางไว้คือหากบริหารจัดการน้ำด้วย 5 เขื่อนใหม่ได้มีประสิทธิภาพ จะป้องกันน้ำท่วม กทม. และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
“เขื่อนใหญ่” ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ยังมีทางออกอื่น??...
เสียงคัดค้านของเอ็นจีโอ-ชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ แว่วขึ้นมาพร้อมๆกับเสียงประกาศก้องที่จะสร้าง 5 เขื่อนใหม่ อะไรคือเหตุผลในการต่อต้านที่พวกเขาอยากจะบอกชาวกรุงที่อยู่ปลายน้ำ!...
ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี เครือข่ายลุ่มน้ำยม มั่นใจว่าไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่ม ถ้ารื้อฟื้นวิถีชาวบ้านมาจัดการลำน้ำขนาดใหญ่ ก็จะสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่าสร้างเขื่อน โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งมีลำน้ำใหญ่ประมาณ 77 ลำน้ำ หากสามารถพัฒนาให้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางได้ทั้งหมด ก็จะกักเก็บน้ำได้ถึง 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า
เขาคัดค้านแนวคิดสร้างเขื่อนว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) ควรต้องทบทวนข้อเสนอของ กยน.เพราะประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่มากจนเกินความพอดีแล้ว เห็นได้ว่าทั้งเขื่อนภูมิพลในลุ่มน้ำปิง เขื่อนกิ่วลมเขื่อนกิ่วคอหมาลุ่มแม่น้ำวัง และเขื่อนสิริกิติ์ในลุ่มน้ำน่าน เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ดังนั้นเขื่อนขนาดใหญ่จึงไม่ใช่การตอบโจทย์ปัญหาน้ำท่วม
“ทำไมต้องทำตามข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น การสร้างเขื่อนเป็นการรวมศูนย์อำนาจโดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ทั้งๆที่เข้าใจปัญหาและพื้นที่ที่สุด ภาครัฐควรเลือกแนวทางการจัดการน้ำขนาดเล็กแต่กระจายทั่วประเทศ ฝนตกที่ไหนน้ำก็จะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ทุกพื้นที่ กระจายความเสี่ยงมากกว่าสร้างเขื่อนเพิ่ม”
ไม่ใช่แค่ท้ายเขื่อน แต่ “เหนือเขื่อน น้ำท่วมได้”…
ในขณะที่ภาครัฐมีแนวคิดสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ใหม่อีก 5 แห่ง “ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” มีโอกาสลงพื้นที่ร่วมกับโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ บริเวณ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และได้พบว่า “เขื่อน” ที่มีอยู่เดิม ยังคงสร้างปัญหาแสนสาหัสให้กับชาวบ้าน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตให้ดิ่งลงเหว
บ้านดงมะกอก-บ้านดงดำ ต.ฮอด อ.ฮอด อยู่เหนือเขื่อนภูมิพล ชาวบ้านประมาณ 3,400 คน ร่วม 1,000 ครอบครัว เดือดร้อนจากน้ำท่วมซ้ำซาก ท่วมอย่างไร้ทิศทางและไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไร ซึ่งจงกล โนจา รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ฮอด สะท้อนปัญหาว่าทุกๆ ปีช่วงน้ำหลากประมาณ มิ.ย.-ม.ค. น้ำท่วมรุนแรงอยู่เสมอ หากปีใดปริมาณฝนมาก ต.ฮอด ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนจะท่วมขังนานกว่า 6 เดือน
สำหรับสาเหตุเป็นเพราะเขื่อนภูมิพลเต็มความจุ แต่น้ำฝนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขื่อนก็จำเป็นต้องเร่งปล่อยน้ำเพื่อรองรับน้ำที่จะเพิ่มเข้ามาใหม่ ชาวบ้านที่อยู่เหนือเขื่อนก็จะได้รับผลกระทบเป็นลำดับแรก นั่นเพราะน้ำจะกระจายออกทั่วพื้นที่ ส่วนหนึ่งจะตลบขังอยู่บริเวณเหนือเขื่อน
เสียงครวญของ “คนสละที่สร้างเขื่อน”…
ย้อนไปก่อนปี 2507 ชาวบ้านในบริเวณนี้ ถูกเวียนคืนที่ดินเพื่อสร้างเขื่อน โดยต้องอพยพขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลออกไปซึ่งไม่เหมาะที่จะทำการเกษตรทั้งที่เป็นวิถีอาชีพหลัก และเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะเจ้าของโครงการสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จ ก็ได้เกิดอุทกภัยใหญ่ครั้งแรกในปี 2507 แต่ปีถัดมา คือปี 2508 ระดับน้ำกลับลดลงแห้งสนิท ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อพยพออกไปจากพื้นที่ก็ลักลอบเข้ามาทำการเกษตรในพื้นที่เดิมเหนือเขื่อน เพราะพื้นที่ใหม่ที่รัฐจัดสรรไม่เหมาะแก่การทำมาหากิน ชาวบ้านจึงค่อยๆกลับมาทำนาทำสวนทำไร่ มีการปลูกข่าว ปลูกลำไย ปลูกละหุ่ง เช่นเดิม
จงกล เล่าต่อว่าชาวบ้านเริ่มลงหลักปักฐานมากขึ้น กระทั่งเข้าสู่ปี 2518 เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอีกครั้ง ระดับน้ำสูง 3 เมตรขังนานกว่า 6 เดือน ผลผลิตของชาวบ้านเสียหายจนบางรายหมดเนื้อหมดตัว จากนั้นในปี 2518 ปี2538 ปี2545 ปี2549 และปี 2554 ก็เกิดสถานการณ์เดียวกันอย่างซ้ำซาก
เมื่อชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากเขื่อนภูมิพล และ กฟผ. ก็ได้รับคำอธิบายว่าตามกฎหมายแล้วรัฐได้จ่ายเงินค่าเวียนคืนที่ดินให้กับชาวบ้านประมาณไร่ละ 400-700 บาทแล้ว ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร ทางเขื่อนและกฟผ.ได้ช่วยเหลือชาวบ้านด้วยการให้ถุงยังชีพบ้าง
รองนายกฯ อบต. เล่าต่อว่าปัญหาของชาวบ้านยังไม่จบแค่นั้น เพราะเข้าสู่ปี 2534 พื้นที่ที่อพยพขึ้นไปอยู่เนื่องจากที่อยู่เดิมถูกเวียนคืนไป กลับถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ นั่นหมายความว่าชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกทันที “ตอนนี้ชาวบ้านไม่มีทั้งที่อยู่ที่ทำกิน ที่แห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ที่ถูกลืม”
แน่นอนว่าในแง่กฎหมาย ชาวบ้านไม่มีโอกาสต่อสู้ เพราะถูกเวนคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินไปแล้ว แต่หากมองในแง่มนุษยธรรมซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 ที่ระบุว่า บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
มาตรา 67 ระบุไว้อีกว่าสิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม ที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
นั่นหมายความว่า ชาวบ้านยังไม่ความชอบธรรมในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่เคยคิดจะต่อสู้ มีแต่ก้มหน้ารับชะตากรรมเพราะคิดว่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของรัฐจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องรับสภาพให้ได้ ที่สำคัญไม่รู้ว่ามีช่องทางการต่อสู้อย่างไรได้บ้าง กระทั่งปี 2549 เริ่มเกิดกระบวนการชุมชน มีการประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา มีการทำข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อให้รู้จักรากเหง้า และเป็นเครื่องยืนยันว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่แห่งนี้ ไม่ได้เป็นผู้บุกรุก
“ตอนนี้ชาวบ้านสัก 50-60% เริ่มตื่นตัวรู้จักสิทธิมากขึ้นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดต้องมาจากชาวบ้าน ต้องค่อยๆทำเพื่อให้รากฐานแข็งแกร่ง หัวใจคือใช้ปัจจัยการถือครองที่ดินหลอมรวมชาวบ้าน” จงกล กล่าว
ขอเรียกร้องสิทธิชุมชน จากความเสียสละ ได้ไหม??…
นายมัย นวะโต อายุ 74 ผู้อาวุโสบ้านดงดำ เล่าว่า เข้ามาทำกินและอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่อายุ 20 ปี ยังไม่มีเขื่อน โดยมีที่ทำกินประมาณ 6 ไร่ ใช้ทำนาได้ผลผลิตดีมาก แต่เมื่อเขื่อนเข้ามา ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงผลกระทบ และไม่มีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูล ได้แค่ค่าชดเชยน้ำท่วม 3,000 บาท
นายมัย เล่าอีกว่า เมื่อถูกเวียนคืนที่ดินก็อพยพไปบุกเบิกที่ใหม่ ห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้ปลูกถั่วลิสงและละหุ่ง ได้ผลผลิตไม่ดี ดังนั้นเมื่อชาวบ้านเห็นว่าหลังปี 2508 น้ำก็ไม่ได้ท่วมพื้นที่เดิมรุนแรง จึงพากัตนอพยพกลับมาทำนาในพื้นที่เดิม
“ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าจะเกิดผลอย่างไร ถ้าเป็นตอนนี้เขื่อนมาเราจะต้านแน่นอน” นายมัย กล่าว
นิพันธ์ ทองคำ นายก อบต.ฮอด บอกว่าตั้งแต่เข้ามาบริหารพื้นที่ งบประมาณหมดไปกับการการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจนไม่เหลือไปพัฒนาในด้านอื่นๆ เมื่อน้ำท่วมจบก็แก้ปัญหาภัยแล้งต่อ ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาเยียวยาหรือช่วยเหลืออย่างจริงจัง ชาวบ้านเคยรวมตัวกันเรียกร้องเพราะทนความยากลำบากไม่ไหว สิ่งที่ได้กลับมาคือถุงยังชีพเท่านั้น
“คุณสร้างเขื่อนแล้วเอาน้ำมาท่วมเรา แต่ไม่เคยมาสนใจเยียวยาเรา ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่ต่างไปจากสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ต้องคอยลุ้นว่าน้ำมาตอนไหนแล้วก็หนี” นายกอบต.ฮอด กล่าว
นิพันธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนต้องการคือ 1.อยากให้ช่วยยกระดับพื้นที่ถนนที่ถูกน้ำท่วมให้สูงขึ้น เนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมสูงถึง 3 เมตร ทำให้ถนนถูกตัดขาดทั้งหมด 2.อยากให้คืนโฉนดที่ดินบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงแต่ถูกเวียนคืนไปก่อนหน้านี้ เพราะเวลานี้ กฟผ.ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านั้น
“ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก พอบุกรุกก็ถูกจับ เราก็ต้องไปช่วยวิ่งประกันตัว อยากให้ กฟผ.เอาที่ที่น้ำไม่ท่วมและไม่ได้ใช้ประโยชน์มาออกโฉนดให้ชาวบ้านได้ใช้ทำมาหากินได้” นายกฯ นิพันธ์ระบุ
สงบ กันฑแก้ว สจ.อำเภอฮอต ยืนกรานว่าการเยียวยาในพื้นที่ก็จ่ายแค่ตามมติ ครม. แต่พื้นที่แห่งนี้น้ำท่วมทีละเกิน 6 เดือน และท่วมเพราะเขื่อนไม่ใช่เพราะอุทกภัย เยียวยาแค่นี้ไม่เพียงพอต่อความเดือดร้อน
………………
ข้อเสนอสร้าง 5 เขื่อนใหญ่ ยังเป็นเพียงยุทธศาสตร์ในแผนแม่บท กยน. ซึ่งรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.
เสียงครวญของชุมชนที่เสียสละพื้นที่สร้างเขื่อนใหญ่ และ น้ำท่วมเหนือเขื่อน คงเป็นประเด็นที่ต้องโยนกลับไปให้สังคมช่วยกันพิจารณา รวมถึงผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ .