เครือข่ายที่ดินเผย 4 ข้อเสนอยื่นรัฐ ยุติคดีชาวบ้าน-เร่งโฉนดชุมชน-ดัน กม.ภาษี-ธนาคารที่ดิน
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเตรียม 4 ข้อเสนอยื่นเวทีสมัชชาที่นายกฯนั่งหัวโต๊ะ 24-25 มิ.ย.นี้ ชี้ระยะเร่งด่วนรัฐต้องผ่อนปรนหรือยุติคดีความกับชาวบ้าน ย้ำหากขัดแย้งอยู่ปรองดองไม่ได้ ส่วนโฉนดชุมชนต้องทำทั่วประเทศและแก้ปมหน่วยงานไม่ทำตามสั่ง เสนอกฎหมายตั้งกองทุนธนาคาร-ภาษีที่ดิน เพื่อกระจายเงินคนรวยมาจัดสรรที่ดินคนจนอย่างเป็นธรรม เชื่อรูปธรรมเกิดขึ้นได้ แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ชาวบ้าน ไม่ใช่แค่สัมมาในห้องสี่เหลี่ยม
ตามที่รัฐบาล โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมจัดโครงการเสวนาประชาชน“การจัดการที่ดินเพื่อการทำกิน :ปัญหาและทางออก” เพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนและเครือข่ายต่างๆนำไปสู่การหามาตรการแก้ไขปัญหาที่ดิน วันนี้(23 มิ.ย.) นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนถึงข้อเสนอหลักที่จะยื่นต่อที่ประชุมซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 24-25 มิ.ย.นี้ว่า เบื้องต้นมี 4 เรื่องหลักคือ 1.ระยะเร่งด่วน รัฐต้องหาแนวทางหรือมาตรการผ่อนปรนหรือยุติคดีคดีที่ชาวบ้านถูกฟ้องทางแพ่งซึ่งต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูง โดยออกนโยบายไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับชาวบ้าน หากยังไม่มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดโดยกระบวนการที่เป็นอิสระร่วมกันระหว่างรัฐและเครือข่าย
“กระบวนการปรองดองที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ต้องเริ่มจากการปลดล๊อคหนี้ชีวิตให้ชาวบ้านที่ถูกคดี คล้ายนิรโทษกรรมแต่ต่างกันตรงที่ชาวบ้านไม่ได้กระทำผิด หากทำตรงนี้ไม่ได้ ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ จะปรองดองได้อย่างไร”
2.เร่งเดินหน้าโฉนดชุมชนให้เห็นผลในทางปฏิบัติทั่วประเทศ โดยเริ่มจาก 39 พื้นที่ซึ่งเครือข่ายที่เสนอไปแล้ว และสั่งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งดูแลกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ ให้คุ้มครองและหยุดคุกคามพื้นที่ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของรัฐบาลกับชาวบ้าน 3.สำรวจที่ดินรกร้างหรือที่สาธารณะประโยชน์เพื่อจัดสรรให้คนไร้ที่ทำกิน ผ่านสถาบันกองทุนธนาคารที่ดิน ซึ่งเบื้องต้นภาคประชาชนได้จัดทำร่างดังกล่าวเพื่อให้รัฐพิจารณาและผลักดันเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) พร้อมขอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณ 5,000 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อที่ดินให้ชุมชน และ 4.รัฐต้องผลักดันกฎหมายภาษีที่ดินให้เป็นจริง และสร้างหลักการหักภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือน 2% มาสมทบกับกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อให้ภาษีจากคนรวยมาสู่การจัดสรรที่ดินของคนจน
“ที่ดินทำกินเป็นปัญหาระดับชาติที่ผูกโยงกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คือถ้าชาวบ้านไม่มีที่ดินก็ลืมตาอ้าปากไม่ได้ ภาษีที่ดินจะลดปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม และแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเอาจริง”
ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ยังกล่าวว่า ขั้นแรกรัฐต้องทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ถูกเบียดเบียนโดนรังแก หลังจากนั้นคือกระจายอำนาจให้ประชาชน สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นได้ปฏิรูปหรือจัดการที่ดินทำกิน สุดท้ายคือการวางแผนระยะยาวโดยปฏิรูประบบกฎหมาย ระบบราชการ ไม่ให้ริดรอนสิทธิประชาชน
นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าวอีกว่า ในกระบวนการปฏิรูปประเทศ ประชาชนต้องถ่วงดุลและตรวจสอบรัฐ ที่ผ่านมายังไม่เห็นความหวังหรือความตั้งใจจริงของรัฐในการแก้ปัญหาที่ดินที่มากพอ ดังนั้นการปฏิรูปต้องอาศัยการรวมตัวประชาชนที่มีประสบการณ์น้ำตาตกเลือดบวกกับกระบวนที่เป็นอิสระ ลำพังเพียงสัมมนาในห้องทำให้เกิดรูปธรรมไม่ได้ แต่ถ้าใช้พลังการมีส่วนร่วมเป็นแรงกดดัน อาจเป็นจริงได้
“การจัดการที่ดินที่เป็นธรรมคือการแก้ไขปัญหาที่ตั้งยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงของสังคมหรือชนบท นั่นคือการรับรองสิทธิตามจารีตวัฒนธรรมวิถีดั้งเดิมของท้องถิ่นที่เดินเข้าออกใช้ชิวิตอยู่กับป่าอย่างผาสุก โดยรัฐต้องทบทวนตัวเอง คุ้มครองสิทธิและโอบอุ้มแทนกฎหมายหรือนโยบายที่ไม่ธรรมกับชาวบ้าน” ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย กล่าว .