กก.หลักประกันสุขภาพภาค ปชช.ค้าน สธ.จัดซื้อยาแทน สปสช.
กรรมการหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนค้าน สธ.คุมจัดซื้อยาทั้งหมดแทน สปสช. ชี้กระทรวงฯ ไม่มี Volume ซื้อที่ชัดเจน ทำให้ต่อรองราคาลงได้ไม่มาก ย้ำหากกฎหมายไม่ให้ สปสช.จัดซื้อ ก็แค่ไปแก้ไขกฎหมายเปิดช่องให้ซื้อได้
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงการเตรียมปรับระบบจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์รวมระดับประเทศ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้จัดซื้อยาแทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2561 ว่า ที่ผ่านมา สปสช.มีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ประมาณ 7,000 ล้านบาท/ปี จากมูลค่าการจัดซื้อยาของทั้งประเทศ 1.45 แสนล้านบาท/ปี หรือเป็นสัดส่วนเพียง 4.9% โดยเป็นการซื้อยาที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องเข้าถึง ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดบัญชี จ.2 หรือกลุ่มยาที่มีราคาแพง เช่น ยามะเร็ง รวมถึงเวชภัณฑ์ที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เช่น น้ำยาล้างไต วัคซีน ยาต้านไวรัส HIV รวมถึงยากำพร้าหรือยาต้านพิษ และกระบวนการจัดซื้อของ สปสช.มีการต่อรองราคาอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถต่อรองให้ผู้ผลิตลดราคาลงได้มาก ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เคยเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อและสรุปว่าไม่พบการทุจริตใดๆ แต่มีข้อท้วงติงว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ สปสช.ในการจัดซื้อยา รวมทั้งมีข้อแนะนำว่าหากมีความจำเป็นต้องจัดซื้อก็ให้ไปแก้ไขกฎหมายให้ สปสช.จัดซื้อได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการปรับระบบการจัดซื้อยาโดยให้ สธ. เป็นผู้จัดซื้อแทน สปสช.
อย่างไรก็ดี ในฐานะเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ยา ไม่เห็นด้วยกับการย้ายการจัดซื้อทั้งหมดไปไว้ที่ สธ. การสร้างระบบจัดซื้อใหม่หรือตั้งหน่วยงานใหม่มาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากสาเหตุที่ สปสช.สามารถต่อรองราคาได้มากในช่วงที่ผ่านมาก็เพราะมีจำนวนการซื้อ (Volume) ที่ชัดเจนแน่นอน จึงมีการต่อรองราคาจริงๆ เกิดขึ้น แต่หากให้ สธ.เป็นผู้จัดซื้อทั้งหมด สธ.ไม่มี Volume ของจริงไปใช้ต่อรองกับบริษัทยา เปรียบเสมือนการ “ต่อลม” ไม่ใช่ “ต่อรอง” ซึ่งผลที่ได้อาจจะทำได้เพียงช่วยลดราคายาลงมาได้เพียงเล็กน้อย สร้างความกังวลในภาคประชาชนว่าอาจทำให้ได้ราคายาที่แพง และทำให้การกระจายของยา หรือการเข้าถึงยาขาดตอนลง และในระยะยาวหากภาระค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้นจนระบบรับไม่ไหว จะเกิดการบังคับให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ณ จุดบริการหรือไม่
น.ส.กรรณิการ์ เสนอแนวทางการจัดการว่า มี 2 ส่วนคือ 1.เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ สปสช.จัดซื้อยา ก็ควรมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้ สปสช.สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้ในบางรายการที่จำเป็นต่อการเข้าถึงของประชาชน
2.ในระหว่างที่รอการแก้ไขกฎหมาย ควรมีการนำระบบการจัดซื้อยาที่ สปสช.ทำไว้ดีแล้วมาพัฒนาต่อยอดกล่าวคือนำราคายาที่ สปสช.ต่อรองได้ ไปใช้อ้างอิงในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับอีก 2 ระบบสุขภาพ คือ ประกันสังคม และ สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ สปสช.สามารถต่อรองราคาได้ต่ำแล้ว แต่อีก 2 ระบบไม่ได้ใช้ราคานั้นๆ ไปใช้อ้างอิงในการจ่ายด้วย
“ยกตัวอย่างยาโดซีแทกเซล (docetaxel) สำหรับรักษามะเร็งเต้านม สปสช.ต่อรองราคาได้ 4,000 บาท แต่กรมบัญชีกลางยังไปจ่ายให้หน่วยบริการในราคา 30,000 บาท คำถามคือต่อรองราคามาแล้ว ทำไมกรมบัญชีกลางยอมจ่ายราคาที่แพงกว่าให้หน่วยบริการ ดังนั้นถ้าจะพัฒนาระบบให้ดีขึ้นก็คือ สปสช.ต่อรองราคาโดยเอาVolume ของอีก 2 ระบบเข้าไปรวมด้วย และเมื่อต่อรองราคาได้แล้ว ทั้ง 2 ระบบก็ต้องใช้ราคานี้อ้างอิงในการจ่ายค่ายา แบบนี้ก็จะทำให้การต่อรองราคาเป็นผลมากขึ้นและมีความยั่งยืนในระยะยาว ส่วนเงื่อนไขทางกฎหมายที่ห้าม สปสช.จัดซื้อนั้น ก็ใช้วิธีการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. สปสช. รวมทั้งองค์การเภสัชกรรม และเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรีเป็นรายปี จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายแล้วเสร็จ” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว