เจาะโครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์พันล้าน! ชาวบ้านร้องติดๆ ดับๆ
ประชาชนและผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้พากันร้องเรียนถึงประสิทธิภาพของโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ หรือโคมไฟที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งติดตั้งเรียงรายตามถนนและทางแยกต่างๆ ในพื้นที่ เพราะปรากฏว่าโคมไฟลักษณะนี้ส่วนใหญ่มีปัญหาติดๆ ดับๆ บางส่วนก็ดับไปเลย ทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมืดสนิท
โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์นี้ เป็นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2559 เท่าที่ “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบพบจากเอกสาร มีทั้งสิ้น 6 โครงการด้วยกัน คือ
1.โครงการจัดซื้อพร้อมติดตั้งชุดโคมส่องสว่างถนนแบบโซล่าเซลล์ในพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของประชาชน จำนวน 2,000 ชุด งบประมาณ 126,000,000 บาท
2.โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าพร้อมโคมส่องสว่างโซล่าเซลล์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ เผาศพ จำนวน 3,484 ชุด งบประมาณ 219,492,000 บาท
3.โครงการสนับสนุนการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซล่าเซลล์ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,500 ชุด งบประมาณ 94,500,000 บาท
4.โครงการติดตั้งโคมไฟถนนแอลอีดีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,365 ชุด งบประมาณ 212,000,000 บาท
5.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมหลอดประหยัดพลังงานชนิดแอลอีดี เพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,500 ชุด งบประมาณ 270,000,000 บาท
6.โครงการติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซล่าเซลล์ จำนวน 1,555 ชุด งบประมาณ 89,924,500 บาท
รวมงบประมาณทั้งจัดซื้อและติดตั้งทั้งสิ้น 1,011,916,500 บาท โดยเป็นการติดตั้งโคมไฟฟ้าส่องสว่างด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซล่าเซลล์ 14,849 ชุด ราคาโดยเฉลี่ยชุดละ 63,000 บาท มีศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ และทั้งหมดเป็นการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เน้นไปที่การสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยติดตั้งโคมไฟส่องสว่างในจุดที่ล่อแหลม สองข้างทางมีแสงสว่างไม่เพียงพอ หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น กล้องโทรทัศน์วงจรปิดก็ไม่สามารถบันทึกภาพได้ เพราะแสงสว่างน้อย จุดที่ติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่เป็นถนนสายที่มีสถิติเหตุรุนแรง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมาแล้ว ยังช่วยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งการลาดตระเวน และเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วย
ส่วนการติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ในศาสนสถานและสถานที่ฝังศพ ทั้งกุโบร์ของพี่น้องมุสลิม สุสานจีน และฌาปสถานของคนพุทธนั้น ก็เพื่อเป็นการเพิ่มแสงสว่างให้ครอบคลุมในหมู่บ้านพื้นที่ห่างไกล และเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจและมีส่วนร่วมในพื้นที่ของรัฐ ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ตามหลักศาสนาจำเป็นต้องทำพิธีฝังศพภายใน 24 ชั่วโมงหลังเสียชีวิต ฉะนั้นการประกอบพิธีหลายๆ ครั้งจึงทำในเวลากลางคืน การใช้ไฟส่องสว่างจากโซลาร์เซลล์จะเป็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ จากเอกสารประเมินผลงานของ ศอ.บต. ระบุว่า หลังจากติดตั้งโคมไฟส่องสว่างแบบโซลาร์เซลล์ ปรากฏว่าหลังการติดตั้ง 2 ปี ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ติดตั้งเสาไฟเลย ประชาชนมีความพึงพอใจอย่างมาก กล้าเดินทางสัญจรไปมามากขึ้น จึงถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน พบว่าเสาไฟโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่มีปัญหาไฟไม่สว่าง บ้างก็ติดๆ ดับๆ และมีบางส่วนที่เสาเอียงเหมือนจะล้ม
สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากตัวแทนผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่บอกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะช่วยให้จุดเสี่ยง หรือจุดล่อแหลมต่อการก่อเหตุรุนแรงมีแสงสว่างมากขึ้น นอกจากนั้น หากไฟฟ้าดับ ไม่ว่าจะด้วยฝีมือของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือระบบไฟขัดข้อง แต่โคมไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังทำงานได้ ทว่าปัญหาใหญ่ที่พบก็คือ โคมไฟโซลาร์เซลล์ใช้งานได้จริงแค่ 3 เดือนแรก จากนั้นก็เริ่มเสีย และหลังจาก 3 เดือน ใช้งานได้ไม่ถึงร้อยละ 20 ประกอบกับพื้นที่ชายแดนใต้มีฝนตกชุก มีแดดน้อย โครงการนี้จึงอาจไม่เหมาะสม
“ในพื้นที่ของผมมี 120 ต้น มาจากหลายๆ โครงการรวมกัน สาเหตุที่ติดตั้งเยอะเพราะเป็นพื้นที่ล่อแหลม วัตถุประสงค์ของโครงการถือว่าดีมาก เพราะบางพื้นที่ระบบไฟฟ้าปกติไม่มี ถ้าจะให้ท้องถิ่นขยายเองก็จะใช้งบประมาณเยอะ แต่เมื่อมีโซลาร์เซลล์ แม้ไฟฟ้าปกติไม่มี หรือไฟฟ้าปกติดับ ไฟโซลาร์เซลล์ก็ยังอยู่ได้ เวลามีการก่อเหตุทำลายเสาไฟฟ้าเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ไฟดับหมด แต่โซลาร์เซลล์ยังอยู่”
“ผมยอมรับว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ประสิทธิภาพการใช้งานมันไม่ดีเท่าที่ควร ผ่านไป 3 เดือนไฟก็เริ่มกระพริบ จากนั้นก็ดับหมดเลย ผมขับรถตรวจพื้นที่ทุกวัน ส่วนใหญ่ใช้การไม่ได้ ระบบไฟไม่ชัวร์ ใช้ไป 2-3 เดือน ขี้เกลือขึ้นหรือเปล่า หรือมีปัญหาแบตเตอรี่ จนถึงขณะนี้เสาโซลาร์เซลล์สว่างอยู่ประมาณ 30 ต้น ที่เหลือดับไปเลย”
ตัวแทนผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นชายแดนใต้ บอกอีกว่า ปัญหาสำคัญที่พบ นอกจากไฟไม่สว่างแล้ว ยังมีเรื่องของการซ่อมแซม เพราะโครงการนี้เป็นของ ศอ.บต.ที่ไม่ได้มอบให้ท้องถิ่นดำเนินการ ท้องถิ่นจึงไม่มีอำนาจซ่อมแซมแทนได้ ประกอบกับไม่มีงบประมาณสนับสนุน และไม่มีองค์ความรู้ในการดำเนินการ เพราะช่างขององค์กรปกครองท้องถิ่นซ่อมเป็นแต่ไฟฟ้า ไม่รู้เรื่องโซลาร์เซลล์
นอกจากนั้นชาวบ้านยังไม่รู้ว่าเป็นโครงการของ ศอ.บต. ทำให้เมื่อไฟดับ ก็จะมาร้องเรียนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บ้างก็กล่าวหาว่าท้องถิ่นทุจริต ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างเลยแม้แต่น้อย
“ชาวบ้านร้องเรียนเยอะ คิดว่าเป็นของ อบต.หรือไม่ก็เทศบาล เพราะเขาไม่ได้ติดสติ๊กเกอร์ว่าเป็นของ ศอ.บต. ทำให้ท้องถิ่นเป็นจำเลย ถูกร้องเรียนว่าซื้อของไม่มีคุณภาพมาให้ชาวบ้าน เราก็ไม่รู้เทคโนโลยีว่าเป็นของที่ไหน ที่ผ่านมาเมื่อมันเสีย เขาก็ส่งช่างมาซ่อม แต่ซ่อมแล้วบางตัวก็ดับต่อ และไม่ได้ซ่อมทั้งหมด เลือกซ่อมแค่บางจุด”
“ผมคุยกับเพื่อนๆ ที่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นด้วยกัน บอกได้เลยว่าภาพรวมสามจังหวัดเป็นแบบนี้หมด คือถ้าไม่ดับไปเลย ก็กระพริบสัก 1 เดือน จากนั้นก็ดับ เรื่องของเรื่องคือไม่ได้โอนให้ท้องถิ่น ถ้าคุยกันก่อน ส่งคนมาอบรมเจ้าหน้าที่ ให้เราซ่อมเป็น เรามีรถกระเช้าขึ้นไปดูแลได้ แต่เมื่อ ศอ.บต.ไม่ได้ถ่ายโอนงานมา เราก็ไม่มีอำนาจไปซ่อม ถ้าจะให้ถูกต้อง ศอ.บต.ต้องเรียกท้องถิ่นมาทำเอ็มโอยู และสอนช่างท้องถิ่นได้รับทราบ รวมทั้ง ศอ.บต.ต้องมอบงบประมาณในการดูแลรักษาด้วย”
ล่าสุดจากการตรวจสอบของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่าในปีงบประมาณ 2560 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศอ.บต. ได้ตั้งงบประมาณสำหรับซ่อมแซมเสาไฟโซลาร์เซลล์แล้ว วงเงิน 4,248,000 บาท โดยเบื้องต้นจะมีการซ่อมแซม 531 ต้น ราคาต้นละ 8,200 บาท