"จม.จากชาวบ้านมอร์แกนถึงนายกฯ" ปัญหาคนชายขอบที่รัฐต้องตอบโจทย์ปฏิรูป
หญิงชาวบ้านมอร์แกนเกาะพระทอง เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ขอความเป็นธรรมโดนนายทุนบุกรุกที่-เจ้าหน้าที่ไม่ช่วยยังจับกุม เรียกร้องเอกสารสิทธิ์ที่บรรพบุรุษอยู่กันมา 200 ปี ให้ดำเนินคดีนายทุน-เจ้าหน้าที่ สมัชชาประชาชนปฏิรูปฯ ชี้เป็นตัวอย่างปัญหาคนชายขอบที่มีมากมายรอรัฐบาลใส่ใจจริงจังแก้เป็นระบบ เสนอปฏิรูปราชการที่ล้มเหลว การปฏิรูปประเทศจึงมีหวัง
นางกิ้มติ่น กล้าทะเล ชาวมอร์แกนวัย 59 ปี บ้านเลขที่ 29 บ้านเกาะระ ม.3 ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เขียนจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 4 มิ.ย.53 ขอความเป็นธรรมกรณีถูกนายทุนบุกรุกที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ใจความว่าตนมีที่ดินตกทอดจากปู่ย่าตายายประมาณ 3 ไร่ แต่เมื่อปลายปี 2551 มีนายทุนชื่อนายฉุย คำแก้ว เข้ามาบุกรุกแผ้วถางตัดโค่นต้นไม้เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ และปี 2552 ได้ขยายพื้นที่บุกรุกเพิ่มอีกประมาณ 15 ไร่ ปี 2553 ขยายพื้นที่บุกรุกเพิ่มอีกรวมทั้งหมด 40 ไร่ โดยว่าจ้างชาวพม่า และทุกวันนี้ชาวพม่าได้ตัดโค่นทำลายป่าทุกวัน และได้บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ของตนประมาณ 2 ไร่ ทำให้ตนสูญเสียที่ดินและมีที่เหลือแค่ประมาณ 1 ไร่
นางกิ้มติ่น กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.52 ได้ไปแจ้งความที่ ส.ภ.คุระบุรี ร้อยเวรไม่รับแจ้งความและแนะนำให้ไปหากำนัน วันที่ 7 ธ.ค.52 กำนันได้พาไปขอพบนายอำเภอแต่ไม่อยู่ ตนจึงได้ร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพังงาซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ ป่าไม้หน่วยที่ พง.5 กะปง ชื่อนายสิริโรจน์ นายตำรวจ สภ.คุระบุรี ชื่อเอกนันท์ และหัวหน้าว่าที่อุทยานเกาะระ-เกาะพระทอง ชื่อนายสัญญา มาลงพื้นที่วันที่ 15 พ.ค.53
“ข้าพเจ้าบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าพื้นที่ที่ถูกบุกรุกอยู่จุดไหนและจะนำไปดู คณะเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ต้อง วันหลังจะมาตรวจวัดตรวจสอบใหม่ แต่วันนี้มาเพื่อพูดให้หยุดร้องเรียน ข้าพเจ้าบอกจะไม่หยุดร้องเรียนจนกว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตรวจ สอบจับกุมนายทุนที่บุกรุกตัดโค่นทำลายป่า คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ข่มขู่ข้าพเจ้า ถ้าไม่หยุดร้องเรียนจะกลับมาจับข้อหาบุกรุกป่าสงวนฯ”
นางกิ้มติ่น กล่าวว่าวันที่ 21 พ.ค.เจ้าหน้าที่ชุดเดิมได้มาจับกุมตนในข้อหาบุกรุกป่าสงวนฯในพื้นที่ที่ เหลือจากนายทุนบุกรุกประมาณ 1 ไร่ และวันที่ 29-30 พ.ค. นายตำรวจเอกนันท์ เรียกตนไปสอบสวน 2 วัน
“ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าร้องเรียนเพื่อให้จับกุมผู้บุกรุกตัดโค่นทำลายป่า แต่เจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุม แต่มาหาเรื่องจับกุมชาวมอร์แกนที่รักษ์และหวงแหนผืนป่า เรียนท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดช่วยเหลือข้าพเจ้า 4 เรื่อง”
ข้อเรียกร้องขอความช่วยเหลือได้แก่ 1.ให้ยับยั้งการจับกุมตนในข้อกล่าวหาบุกรุกป่าสงวนฯ ที่ได้รับตกทอดมาจากปู่ย่าตายาย 2.ให้ตรวจสอบดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 3.ให้ดำเนินคดีจับกุมนายทุน นายฉุย คำแก้ว พร้อมพวกชาวพม่าที่บุกรุกแผ้วถางตัดโค่นทำลายป่า 4.ขอเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินที่ตนอยู่อาศัย
“ข้าพเจ้าอายุ 59 ปี ส่วนแม่ของข้าพเจ้าอายุ 82 ปี ปู่ ย่า ตา ยาย ชาวมอร์แกนของข้าพเจ้ามาอยู่อาศัย ครอบครองเกือบ 200 ปี ข้าพเจ้าบุกรุกป่า หรือป่าสงวนฯบุกรุกข้าพเจ้า จึงเรียนมาเพื่อทราบและได้โปรดพิจารณาดำเนินการสั่งการ” นางกิ้มติ่น กล่าว
นางสมลักษณ์ หุตานุวัตร สมาชิกสมัชชาประชาชนปฎิรูปประเทศไทย และอนุกรรมการส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จดหมายฉบับนี้เป็นตัวอย่างปัญหาคนชายขอบที่รอรัฐบาลใส่ใจอย่างจริงจังและ แก้ไขอย่างเป็นระบบ การที่ประชาชนต้องร้องตรงที่นายกรัฐมนตรี เพราะกลไกราชการล้มเหลว
“ไม่ใช่แก้ทีละรายแบบกรณียายไฮ ซึ่งจบแค่นั้นทั้งที่คนที่อยู่ในสภาพนี้มีจำนวนมากแทบทุกพื้นที่ที่มีการ สร้างเขื่อนหรือทำโครงการของรัฐ และชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิ หากมีความจริงใจ รัฐบาลควรเอาเรื่องทำนองเดียวกันมาหามาตรการจัดการให้เกิดระบบที่ดีและใช้ ได้ตลอดไป ปัญหาร้อนๆจะลดลงไปมาก”
นางสมลักษณ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลนี้กล้าแตะระบบราชการ ปฎิรูประบบราชการที่อ่อนแอเพื่อประโยชน์ของประชาชน เชื่อว่าการปฏิรูปประเทศจะเป็นไปได้จริงขึ้นบ้าง มิเช่นนั้นแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระปฏิรูปประเทศ เมื่อพบปมปัญหาและเสนอทางออกให้รัฐบาลนำไปกำหนดนโยบาย แต่ข้าราชการระดับปฏิบัติไม่เอาด้วยอย่างจริงจัง ย่อมไม่เกิดผล เป็นแค่คำสั่งและแผนที่สวยงามแต่ไม่เคยแก้ปัญหาได้จริงเหมือนที่ผ่านมา
“และหากไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นอิสระ การปฏิรูปประเทศครั้งนี้จะช่วยฟื้นฟูความแยกร้าวที่ระบาดในเชิงลึกตาม ชุมชนบทและชุมชนเมืองในตอนนี้ได้เพียงไหน รัฐบาลจึงควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ทุกภาคส่วนในการ ประสานความร่วมมือกับรัฐ และเป็นอิสระจากการใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาและการเมือง มีอิสระในการนำประเด็นปัญหาออกมาแก้จนจบในแต่ละกลุ่มปัญหา” นางสมลักษณ์ กล่าว.