คุ้ยมติ ครม. เจาะสัมพันธ์ลึกกองทัพไทย-จีน จัดซื้อ 'เรือดำน้ำ-เครื่องบิน-รถถัง'
"..จากการตรวจสอบฐานข้อมูลการสืบค้นมติครม.ย้อนหลัง ของรัฐบาล นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำและอาวุธยุทโธปกรณ์ ของกองทัพเรือ พบว่า มีการจัดซื้อจำนวน 2 ครั้ง ที่ปรากฎข้อมูลยืนยันชัดเจน คือ ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อปี 2534 และ ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. .."
"ไม่ใช่แค่เสนอในยุคนี้ กองทัพเรือเสนอความต้องการเรือดำน้ำในรัฐบาลทุกสมัยมานานกว่าศตวรรษ และการดำเนินการในครั้งนี้ เหมือนที่ผ่านมา กระบวนการไม่ต่างกัน อยากให้การกล่าวหาว่าไม่โปร่งใส ไม่ทำอะไร ข้อเท็จจริงจะปรากฏในการชี้แจงวันนี้ กองทัพเรือเข้าใจดีว่า การจัดซื้อจัดหาต่าง ๆ ทั้งบุคคล บริษัทห้างร้าน หรือราชการก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งของมีมูลค่าสูงย่อมมีข้อพิจารณาแตกต่างออกไป อย่างไรก็ดี หลักการหนึ่งที่ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าซื้อมาทำอะไร ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ ตรงตามความต้องการของเราหรือไม่"
คือ ประโยคยืนยันจาก พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ที่กล่าวระหว่างชี้แจงต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ที่เรือหลวงจักรีนฤเบศวร ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี กรณีกองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับประเทศจีน รุ่น S26T ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 จำนวน 3 ลำ วงเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท (อ่านประกอบ : ปัดผล ปย.แอบแฝง! ทร.แจงปมซื้อเรือดำน้ำจีน 3.6 หมื่นล.-ลั่นไม่เบียดบังงบอื่น)
พล.ร.อ.ลือชัย ยังกล่าวย้ำด้วยว่า “บางคนซื้อของญี่ปุ่นมาใช้ บางคนใช้ของค่ายยุโรป แตกต่างกัน วัตถุประสงค์แตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ากองทัพเรือไม่มีหลักการในการจัดหา บางคนบอกว่า จะซื้อมาปีก่อนนูั้นจะซื้อเรือดำน้ำเก่าจากเยอรมัน หรือว่ากองทัพเรือจัดหาไปตามกระแส หรือว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงจึงทำเช่นนี้ แต่ว่ากองทัพเรือได้พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ลึกซึ้ง กว้างไกล ยึดยุทธศาสตร์กองทัพเรือเป็นหลัก มีกระบวนการคัดเลือกแบบ จัดหาโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรวจสอบได้ ยึดประโยชน์เป็นหลัก”
ไม่ว่าสาธารณชน จะมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ คำชี้แจงของ พล.ร.อ.ลือชัย ดังกล่าว
แต่ข้อเท็จจริงที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบฐานข้อมูลการสืบค้นมติครม.ย้อนหลัง ของรัฐบาล นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำและอาวุธยุทโธปกรณ์ ของกองทัพเรือ พบว่า มีการจัดซื้อจำนวน 2 ครั้ง ที่ปรากฎข้อมูลยืนยันชัดเจน คือ ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อปี 2534 และ ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.เอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.
โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2534 ที่ประชุม ครม. ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มีพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้กองทัพเรือผูกพันงบประมาณ เพื่อการจัดซื้อระบบอาวุธ เพื่อติดตั้งในเรือฟริเกต 2 ลำ ได้แก่ ปืน 5 นิ้ว จำนวน 2 แท่น ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีฮาร์พูน จำนวน 2 ระบบ และท่อตอร์ปิโดปราบ เรือดำน้ำ จำนวน 4 แท่น พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล โดย วิธี FMS โดยจ่ายจากงบประมาณปี 2534 ของกองทัพเรือ และผูกพันงบประมาณปี 2535 งบประมาณ ปี 2536 และงบประมาณปี 2537 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ
จากนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาซื้อขายเรือดำน้ำระหว่างรัฐบาล จีนกับไทย ก็ปรากฎข้อมูลให้เห็นอีกครั้ง ในช่วงปี 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
โดยพบว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2551 ครม.ได้มีมติรับทราบผลการเดินทางไปเยือนจีนของนายสมัคร นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2551 ซึ่งในการหารือเรื่องความร่วมมือด้านการทหาร ได้มีการหารือเกี่ยวกับการจัดหาเรือดำน้ำ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้จีนช่วยเหลือในการจัดหาเรือดำน้ำของจีนที่ปลดประจำการแล้ว 2 ลำ และใหม่อีก 2 ลำ
จากนั้นไม่ปรากฎข้อมูลเรื่องการเจรจาซื้อขายเรือดำน้ำระหว่าง รัฐบาล จีนกับไทย ในฐานข้อมูลข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)อีก
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ รุ่น S26T จากประเทศจีน ปรากฎข้อมูลให้เห็นชัดเจน ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
โดย เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2558 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติรับทราบรายงานผลการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของมนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2558 ตามที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอ สรุปได้ ดังนี้
1. การเข้าเยี่ยมคำนับนายกรัฐมนตรี มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีนขอให้ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เช่น การฝึกผสมระหว่างเหล่าทัพ การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บังคับบัญชาระดับสูง รวมทั้งความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และเห็นพ้องที่จะร่วมกันต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมหารือในประเด็นอื่น ๆ เช่น ความคืบหน้าการพัฒนาระบบรถไฟ ความร่วมมือด้านผลผลิตทางการเกษตร และการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน
2. การเข้าเยี่ยมคำนับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน เสนอให้มีการฝึกผสมระหว่างกองทัพอากาศ และเพิ่มการฝึกระหว่างนาวิกโยธินให้มากยิ่งขึ้น โดยเน้นการฝึกทางทะเลและการยกพลขึ้นบก พร้อมทั้งยกระดับการฝึกจากการฝึกผสมเป็นการฝึกร่วม/ผสม และเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ในห้วงเวลาที่เหมาะสม และเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน ในห้วงเดือนตุลาคม 2558 และการประชุมเชียงซานฟอรั่ม
นอกจากนี้ ได้เสนอความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น S-26T ให้กับกองทัพเรือ และพร้อมให้การสนับสนุนโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของฝ่ายไทยในราคาที่เหมาะสม เช่น เครื่องบินและรถถัง เป็นต้น
โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กล่าวถึงปัญหาด้านความมั่นคงที่สำคัญ อาทิ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติและปัญหายาเสพติด ที่จำเป็นจะต้องร่วมมือกัน โดยไทยสนับสนุนกลไกของอาเซียนในการแสวงหาความมั่นคงในภูมิภาค พร้อมทั้งแสดงความเห็นด้วยกับการฝึกผสมระหว่างกองทัพอากาศ กองทัพเรือ และการฝึกร่วม/ผสม โดยขอให้มีการหารือกันในรายละเอียดและชื่นชมกลไกการประชุมคณะกรรมการนโยบายดำเนินงานความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมไทยกับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน (Sino-Thai Defence and Security) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในห้วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2558 และขอให้กระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีนหาคู่เจรจา (Counterpart) ให้กับกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การแลกเปลี่ยนข่าวกรองระหว่างกองทัพของทั้งสองประเทศอย่างต่อเนื่อง การเข้าร่วมการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ รวมทั้งด้านการแพทย์ทหารในปี 2559 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศอื่น ๆ และสนับสนุนการจัดตั้งคณะผู้แทนกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นที่ปรึกษาทางทหาร (Military Advisor) ประจำอาเซียน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือและอาวุธ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการ ในฐานข้อมูลสืบค้นมติครม.ย้อนหลัง คือ ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มีพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อปี 2534 และในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพล.เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.
โดยล่าสุดการจัดซื้อเรือดำน้ำ รุ่น S26T จากจีน จำนวน 3 ลำ วงเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากครม. ไปแล้ว เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560
ส่วนเครื่องบิน รถถัง ที่ทางฝ่ายจีนเคยเสนอไว้ จะได้รับการอนุมัติจากครม.ตามมาอีกหรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อไป