มติ กบง.ลดราคาขายปลีกก๊าซ LPG ลง 7 บ./ถัง มีผล 2 พ.ค.นี้
มติที่ประชุม กบง. ปรับลดราคาขายปลีกก๊าซ LPG ลง 7 บาท/ถัง 15 กก. มีผลบังคับใช้ 2 พ.ค.เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม กบง. ซึ่งมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนพฤษภาคม 2560 โดยสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนพฤษภาคม 2560 ได้ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 72.50เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 387.50เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนเมษายน 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.4546 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 34.6130 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับลดลง 2.5630 บาท/กก. จาก 17.6648บาท/กก. เป็น 15.1018 บาท/กก. ดังนั้น เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุน และลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้ปรับลดราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนพฤษภาคม 2560 ลง 0.47 บาท/กก. จากเดิม 20.96 บาท/กก. เป็น 20.49 บาท/กก. (หรือปรับลดราคาขายปลีกก๊าซ LPG ลง 7 บาท/ถัง 15 กก.) โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 2.1201 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 3.7197 บาท/กก. เป็นชดเชยที่ 1.5996 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายรับและรายจ่ายสุทธิเป็นศูนย์ทั้งนี้ ฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 อยู่ที่ 40,015 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,422 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,593 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ประชุม กบง. จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ไปจัดทำรายละเอียดการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA) ตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตราพระราชบัญญัติ (Checklist) พร้อมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันฯ ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา และเผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นฯ สู่สาธารณชน ตลอดจนจัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ครม. และ สนช. ตามลำดับต่อไป