การค้าที่เป็นธรรม จ้างงานที่ยุติธรรม คราบเหงื่อ และน้ำตา
การค้าที่เป็นธรรม การจ้างงานที่ยุติธรรม คราบเหงื่อ คราบน้ำตา จากอดีตแรงงานในโรงงานตัดเย็บ สู่ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โมเดลแฟร์เทรด ความท้าทายของไทย
“ให้ทำงานล่วงเวลามากกว่า 8 ชั่วโมง บางคนทำงาน 20ชั่วโมง บางคนทำงานเต็มที่ 2 วัน 2 คืน ก็มี การหักเงินไม่มีเหตุผลของนายจ้าง อย่างกินมะนาวลูกหนึ่ง(เพราะง่วงนอน)ก็ถูกปรับเงิน 2000 บาท การหาวครั้งหนึ่งปรับ500 บาท”
นี่คือเรื่องจริง ชีวิตจริง จากคำบอกเล่าของ มานพ แก้วผกา ผู้ประสานงานกลุ่มคนงานสมานฉันท์ เล่าถึงชีวิตในช่วงที่ยังคงทำงานในโรงงาน เขาบอกว่า สำหรับตัวเองและเพื่อนคิดว่าการทำงานนบริษัทใหญ่โต จะช่วยสร้างความมั่นคงเพิ่มขึ้น เพราะบริษัทใหญ่มาก มีพนักงานเป็นพันคน แต่ข้างในบริษัทเองกลับมีการเอาเปรียบ บางครั้ง เจ้าของบริษัทจะผสมยาเสพติดให้พนักงานดื่ม เพื่อให้ทำงานล่วงเวลา
“เขามองว่าเขามีอำนาจในการจัดการภายในโรงงาน เรามองว่าแย่มาก และเราก็ไม่มีสหภาพแรงงานในตอนนั้น”
มานพ เป็นเด็กหนุ่มจากอีสาน อดีตพนักงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดัง วันหนึ่งชีวิตก็เจอจุกผลิกผัน เมื่อโรงงานปิดตัวลง เพื่อย้ายฐานการผลิตไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน
เขาเล่าว่า ราวปี 2546 ตอนนั้นเราทำงานให้กับแบรนด์ ไนกี้ อาดิดาส อัมโบร ฮาเลย์ เดวิดสัน ซึ่งเป็นแบรนด์กีฬา แต่สุดท้ายนายจ้างปิดกิจการ เพื่อย้ายไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แม่สอด เพราะค่าเเรงที่นั่นถูกกว่า เราเลยรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิของเรา ตามสิทธิของแรงงานตอนนั้นไม่ได้รับการใส่ใจมากนัก เพราะกฎหมายยังไม่คุ้มครองมาก เรารวมตัวเรียกร้องกันกว่า 3 เดือนเต็มใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เพื่อพิสูจน์ความเป็นธรรมให้เป็นประจักษ์
มานพและเพื่อนร่วมชะตากรรม ลงขันเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าในนามกลุ่ม คนงานสมานฉันท์
“เรารณรงค์เรื่องการค้าที่เป็นธรรมมาตลอด เพราะว่า เมื่อก่อนเมืองไทยยังไม่รู้จักการค้าที่เป็นธรรม” มานพ บอก และเล่าแนวคิดช่วงที่ลุกขึ้นมาจัดการตัวเองร่วมกับเพื่อนๆ เขาบอกว่าเรารณรงค์ผ่านคำว่า แฟร์เทรดซึ่งแฟร์เทรดไม่ได้มองแค่เรื่องเสื้อผ้าอย่างเดียว แต่มองเรื่องของอาหารด้วย แต่ก่อน มีการรณรงค์เสื้อผ้าสะอาดของอเมริกา เรารณรงค์คู่ผ่านกับทางต่างประเทศด้วย
มานพ บอกว่า เรารณรงค์ช่วงนั้นเป็นเรื่องที่แปลกว่า การค้าที่เป็นธรรมเป็นไปได้หรือ เพราะตลาดมีการแข่งขันสูงมาก เสื้อโบ๊เบ๊ตัวละ 40 บาทแต่คุณมาขายเสื้อตัวละ 80-100 บาท ห่างกันเยอะมาก แต่ทำไมเราต้องรณรงค์ว่า ตัว100 บาทกับ ตัว 40 บาทมีความต่างอย่างไร
"ตัว 40 บาทเราไม่รู้ว่าใครผลิต แรงงานข้ามชาติโดนกดขี่หรือเปล่า ใช้แรงงานเด็กหรือเปล่า แรงงานเหล่านั้นได้พักผ่อนตรงเวลาไหม มีสวัสดิการต่างๆ ดีไหม เสื้อผ้าเรา 100 บาท เราบอกเลยว่า เสื้อผ้าเรามาจากไหน มากจากแรงงานจริงๆ ได้รับค่าตอบแทนเป็นธรรม มีเวลาพักผ่อน มีเวลาให้กับครอบครัว และวัตถุดิบที่ได้มาเราคัดสรรมาอย่างดี และทุกฝีเข็มคือความใส่ใจในการทำงาน ไม่มีคราบเลือด คราบน้ำตา ของคนงาน มีแต่รอยยิ้มเเละความสุข แม้กระทั่งคนงานเองและครอบครัวคนงานเอง"
แต่อุปสรรคของวันนี้อีกอย่าง ที่มานพเล่าให้ฟังว่า ตามมาตรฐานแฟร์เทรด มีกฎอยู่สิบข้อ อย่างเช่นเรื่องการไม่เหยียดผิว การทำงานตามเวลา เราทำได้ทั้งหมดเเล้ว เราแค่ไม่มีใบการันตีว่า เราแฟร์เทรดหรือเปล่า เพราะการจดใบการันตียังไม่มีมาตรฐานในประเทศต้องจดกับองค์กรต่างประเทศที่มีต้นทุนในการขอใบรับรองสูงมาก
ด้าน จักรชัย โฉมทองดี องค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย หนึ่งในองค์กรที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันมาตรฐานแฟร์แทรดในไทย บอกว่า แฟร์เทรดเป็นเครื่องที่ให้อำนาจผู้บริโภค ให้อำนาจกับคนที่เดินเข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าผู้ซื้อมีตัวเลือกมากขึ้นสามารถเลือกได้ระหว่างสินค้าที่ผลิตมาอย่างยั่งยืนเป็นธรรม แรงงานได้สวัสดิการที่ดี เกษตรกรได้ราคาที่ดี หรือ ซื้อสินค้าทั่วไปในตลาดที่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เกษตรกรถูกเอาเปรียบหรือเปล่า แรงงานถูกเอาเปรียบหรือเปล่า
ในต่างประเทศมีเครื่องมือให้เลือกแบบนี้ ที่เรียกว่า ตราสินค้าแฟร์เทรด หรือตรามาตรฐานแฟร์เทรด เมื่อเห็นตรามาตรฐานนี้ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณ ทางการตลาดไปให้เห็นว่า สินค้านี้มีความต้องการ กระตุ้นให้เกิดการผลิต และส่งทิศทางการเป็นผลิตที่ยั่งยืน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีกับสังคมโดยรวม
เมื่อเทียบของสองชนิด คุณภาพเบื้องต้นเหมือนกัน หน้าตาเหมือนกัน ความสดเหมือนกันแต่ตัวหนึ่งผลิตอย่างเป็นธรรม ผู้ผลิตมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะที่อีกตัวผลิตแบบขูดรีด ผู้บริโภคจะใส่ใจกับสินค้าที่ผลิตมาแบบยั่งยืน
จักรชัย เล่าต่อว่า ในต่างประเทศเราจะเห็น ยกตัวอย่างสินค้าประมง ถ้าสินค้านี้มาจากประเทศไทย ผลิตโดยแรงงานทาส ฉันจะไม่ซื้อ จะไปซื้อจากคนอื่น เป็นพลังของผู้บริโภค อย่างที่เรียนข้างต้นว่านี่คือ อำนาจของผู้บริโภค ผ่านการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้ออะไร สามารถพลิกระบบเศรษฐกิจได้ แม้แต่กลุ่มเกษตรผลิตสินค้าอินทรีย์ สินค้ายั่งยืน กลุ่มเหล่านี้ต้องได้รับโอกาส ตัวสินค้าแฟร์เทรด เป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับกลุ่มที่ผลิตดีๆ
"ทุกวันนี้ผู้บริโภค แยกแยะไม่ออกสินค้าไหนดีในเชิงความยั่งยืน สินค้าไหนไม่ดีในเชิงความยั่งยืน เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้เป็นโอกาสให้คนที่ทำดี ดังนั้นถ้ามีตราสินค้าแฟร์เทรดให้กับกลุ่มเหล่านี้ บางกลุ่มอยู่ในชุมชนเขาต้องได้รับโอกาส"
แล้วทำไมเราจะต้องมีตรามาตรฐานของไทยเอง จักรชัย ยกตัวอย่างอีกว่า ตรามาตรฐานระหว่างประเทศ ต้นทุนเบื้องต้นหลายแสนบาท ถามว่ากลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่ตั้งใจทำดี จะมีศักยภาพจดหรือไม่ สุดท้ายอาจจะตกอยู่ในมือบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นเอง ฉะนั้นคำถามสำคัญคือว่า ประเทศไทยเอง เราพร้อมที่จะมีเครื่องมือนี้หรือยังเพราะเราไม่เคยทำ ลองไม่เคยลองดู หรือส่งเสริมจริงๆ ว่า มีสินค้าแบบนี้ ผู้บริโภคพร้อมหรือยังที่จะบริโภคสินค้าที่เสริมคุณค่า เสริมความยั่งยืนของสังคม โดยที่คุณภาพสินค้า ก็ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป