เยี่ยมชมบ้านปลายเนิน...ตำหนักประทับ ‘กรมพระยานริศราฯ’
วันที่ 29 เม.ย. 60 วันนริศรฯ ทายาทราชสกุล จิตรพงศ์ เปิดบ้านปลายเนิน...ตำหนักประทับ ‘กรมพระยานริศราฯ’ ให้ ปชช.เข้าเยี่ยมชม ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีผู้สนใจเข้าร่วมเกือบ 1 พันคน รำลึกคุณูปการนายช่างใหญ่กรุงสยาม เก่งด้านงานศิลปทุกเเขนง
‘บ้านปลายเนิน’ หมู่อาคารเรือนไทยทรงศาลาการเปรียญตั้งอยู่ใจกลางคลองเตย กรุงเทพฯ คือ ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก จากองค์การยูเนสโก ด้วยทรงมีคุณูปการต่อประเทศ โดยเฉพาะทรงเชี่ยวชาญศิลปะแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านวิจิตรศิลป์ สถาปัตยศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณศิลป์ จึงเปรียบได้กับครูช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม
โดยทุกวันที่ 29 เมษายน ของทุกปี ทายาทในสกุล จิตรพงศ์ จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม ‘บ้านปลายเนิน’ แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องในวันนริศฯ ซึ่งปีนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก มีประชาชนเดินทางมาเกือบ 1 พันคน ภายในงานเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย ทั้งดนตรีบรรเลง อาหารสูตรชาววัง รวมถึงผลงานของพระองค์ที่ควรค่าแก่การศึกษา
ตำหนักแห่งนี้เมื่อแรกเริ่มสร้าง มุงหลังคาจากทุกหลัง และบางหลัง เช่น ตำหนักโถง ฝาจะทำด้วยแผงไม้ไผ่สาน มีไม้ประกับเป็นกรอบ ค้ำเปิดขึ้นได้ ครั้นเมื่อเปิดขึ้นออก จะกลายเป็นห้องโถงจริง ๆ มีเพียงลูกกรงระเบียงเตี้ย ๆ กั้นไว้โดยรอบ แต่ไม่ค่อยสะดวกมากนัก เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เวลามีลมพายุแรงจะปิดยาก
มีบันทึกไว้ในหนังสือ ‘บ้านปลายเนิน คลองเตย’ ซึ่งมูลนิธิ นริศรานุวัดติวงศ์ จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ 28 เมษายน 2537 ว่า “ยามมีลมพายุแรงจะปิดฝายาก ถ้าปิดไม่ทันเคยถูกลมตีฝาแผงด้านใต้หลุดข้ามหลังคาไปตกอยู่สนามหน้าตำหนักด้านเหนือ ทั้งเกือบจะหอบตัวมหาดเล็ก ผู้มีหน้าที่ปิดปลิวตามแผงไปด้วย”
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นฝาไม้มีหน้าต่างกว้าง ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีผู้ใดทำ จึงถือเป็นของใหม่ และเปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้องไม้สัก ซึ่งกรมพระยานริศราฯ ทรงซื้อเลหลังมาในราคาถูก เนื่องจากหลังคามุงด้วยจากต้องเปลี่ยนทุก 2-3 ปี ทำให้เสียค่าใช้จ่ายอยู่เรื่อย และต้องทำพิธีเปลี่ยนอีก
อีกเรื่องน่าขันสมัยนั้น คงหนีไม่พ้น เมื่อถึงฤดูเปลี่ยนหลังคามุงจาก พวกเด็ก ๆ จะสนุกสนานกันมาก ด้วยต้องหาฤกษ์ช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเมื่อรื้อของเก่าหมด ยังไม่ทันมุงใหม่ เด็ก ๆ จะได้นอนชมหมู่ดาวบนท้องฟ้าอย่างเพลิดเพลิน และพากันร้องเพลงขอฝน ให้ผู้ใหญ่ร้อน ๆ หนาว ๆ กลัวฝนจะตกจริง กันเสียงดังว่า “นางแมวเอยท่านให้ขอฝน ขอน้ำมนต์รดหัวแมว”
ส่วนที่เรียกว่า ‘ปลายเนิน’ นั้น เพราะในอดีตพื้นถนนพระราม 4 ต่ำกว่าปัจจุบัน เมื่อตัดผ่านกับทางรถไฟ จึงต้องถมดินให้ลาดสูงขึ้น จึงเปรียบเสมือนกับขึ้นลงเนินเขานั้นเอง จากที่กรมพระยานริศราฯ เคยประทับอยู่วังท่าพระ (มหาวิทยาลัยศิลปากร) ก็มาประทับที่ตำหนักนี้ถาวร เพราะชื่นชอบอากาศปลอดโปร่ง ยกเว้นในฤดูหนาว จะเสด็จกลับ เนื่องจากย่านคลองเตยมีอากาศหนาวมาก
ตลอดเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ที่ตำหนักแห่งนี้ จนสิ้นพระชนม์ ทรงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย บรรทมบนเตียงเหล็กที่ขายกันดื่นในตลาด ประทับทำงานบนเตียงไม้ไผ่ เพราะทรงเน้นความประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่มีรั้วกำแพงกั้นเหมือนตำหนักของเจ้านายองค์อื่น ๆ แต่ทรงปลูกต้นไม้เป็นรั้วพอให้รู้แนวเขตเท่านั้น
แม้จะมีข้าราชการบริพารทักท้วงกลัวโจรจะเข้ามาทำอันตราย แต่กรมพระยานริศราฯ กลับรับสั่งว่า “ไม่จำเป็น ใช้เมตตาเป็นรั้ว”
จนกระทั่ง ในปี 2507 เมื่อพระองค์จากไป 17 ปีแล้ว ตำหนักทรุดโทรมมาก จำเป็นต้องซ่อมแซมครั้งใหญ่ เพราะเสาผุ เนื่องจากพื้นต่ำ ทำให้น้ำท่วมขังง่าย ประกอบกับต้องแบ่งปันที่ดินให้โอรสธิดา จึงได้ย้ายตำหนักที่ประทับร่นเข้ามาในพื้นที่ปัจจุบัน และกลายเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของมีค่าชั้นครูทางศิลปที่พระองค์ทรงหวงแหน
โดยตำหนักโถงด้านตะวันออก ซึ่งทรงใช้เป็นที่รับแขก จัดเหมือนขณะเมื่อทรงบำเพ็ญพระกุศล, ตำหนักโถงด้านตะวันตก ซึ่งเดิมเป็นที่เสวย ปัจจุบันตั้งเป็นบุษบกและเครื่องลายรดน้ำ ใช้เป็นที่ไหว้ครูประจำปีในงานวันนริศฯ, ห้องในตำหนักโถงด้านเหนือ เดิมใช้เป็นห้องมหาดเล็กอยู่เวร ปัจจุบันใช้เก็บตู้หัวโขนและเครื่องไม้สลัก, ห้องทรงเขียนมีภาพฝีพระหัตถ์และโต๊ะประทับทรงอักษร
ส่วนห้องที่ใช้บรรทม ตั้งพระแท่นสลักลายโปร่งปิดทองของพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย (พระมารดา) และบนแท่นมีพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ด้วยมาตั้งแทนเตียงเหล็ก ซึ่งพระแท่นบรรทมสลักลายนี้ เคยตรัสเล่าว่า “แม่เกณฑ์ให้ขึ้นไปนอนบนเตียงนี้เมื่อเด็ก ๆ นอนไม่หลับ กลัวผีเกือบตาย”
จึงกล่าวได้ว่า ตำหนักปลายเนิน หรือตำหนักคลองเตย หรือตำหนักพระนริศราฯ มิใช่เป็นเพียงที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เท่านั้น หากยังเป็นสถานที่บันทึกประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราวในอดีตในชนรุ่นหลังสืบไป .
กรมพระยานริศราฯ ประทับในสวนหลังตำหนัก ให้ลูกหลานเฝ้า เมื่อวันประสูติพระชันษา 72 ปี พ.ศ.2478
ประชาชนต่อเเถวรอเข้าตำหนักปลายเนินยาวเหยียดจนล้นประตู
รูปปั้นตีนบันได
วงดนตรีไทยบรรเลงเพลงเเสนไพเราะขับกล่อมผู้มาเยี่ยมชม
ประชาชนกำลังเลือกซื้อผลงานเขียนของกรมพระยานริศราฯ