ถอดบทเรียนกรุงโซล ใช้ข้อมูลติดตามบริการรัฐ ตัดปัญหาคอร์รัปชั่น
"...ธรรมาภิบาลในระดับเมืองคือพื้นที่ฐานของระดับประเทศเพราะใกล้ตัวประชาชนถ้าเราทำเรื่องระดับประเทศเราจะรู้สึกไกลตัวแต่หากทำเรื่องที่เล็กลงมาเราทุกคนจะรู้สึกใกล้..."ดร.เดือนเด่น
เชื่อว่าทุกคนคงเคยชินกับคำว่า "คอร์รัปชั่น" และหลายครั้งเราก็ตั้งคำถามว่าถ้าจะแก้ปัญหาที่ดูเหมือนจะฝังลึกนี้จะเริ่มยังไงก่อนดี จะฝากไว้ในมือใคร ระบบกฎหมายแบบไหน
ในเวที "ติดตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์" จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ ได้เปิดประเด็นการติดตามตรวจสอบการบริการภาครัฐโดยเฉพาะในระดับเมือง โดยเห็นว่า คือพื้นฐานสำคัญ
ก่อนที่เข้าไปจุดนั้น ดร.เดือนเด่น ชวนมองไปยัง พื้นเพการเมืองโลกจะพบว่า ในเวทีการเมืองระดับท้องถิ่นมักจะเป็นตัวนำไปสู่เวทีระดับชาติเห็นได้
จากคนดังหลายคน อย่างประธานาธิบดี อินโดนีเซีย โจโก วีโดโด (Joko Widodo) เคยเป็นผู้นำในระดับเมืองมาก่อน
แม้กระทั่ง ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ อย่าง โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต (Rodrigo Roa Duterte) ก็ได้รับความนิยมจากระดับเมือง
และหากดูสถิติในสหรัฐฯ ผู้ที่เป็นประธานาธิบดี หลายคน ผ่านการเป็นผู้ว่าการรัฐมาก่อนทั้งสิ้น เช่นจอร์จ วอล์กเกอร์ บุช (George Walker Bush) เคยเป็นผู้ว่าการรัฐเทกซัส หรือ บิล คลินตัน (Bill Clinton) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอาร์คันซอ เป็นต้น
ดร.เดือนเด่น จึงมองว่า เวทีท้องถิ่น เป็นเวทีที่ดีที่สุดในการแสดงคุณภาพในการจัดการ เพื่อการก้าวไปสู่ในระดับประเทศได้
“แต่ประเทศไทยจะแปลก เพราะเรามักเริ่มจากการเมืองระดับประเทศเเล้วค่อยลงไปสู่ท้องถิ่น”
มีกรณีตัวอย่างที่จะฉายภาพว่าการเมืองระดับท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างไรต่อการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และใช้วิธีการไหนในการสร้างธรรมภิบาลในการบริหารขึ้นมา
ดร.เดือนเด่น ยกกรณีกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผ่านร้อนร้อนหนาวผ่านการทุจริตในระดับต่างๆ มาเยอะหากย้อนกลับไปสมัยที่ยังปกครองด้วยเผด็จการทหารสมัย Rhee Syng Man (2489-2504) มีการทุจริตเงินที่รัฐบาลได้รับจากการช่วยเหลือจากสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ต่อมายุคของ Park Chung Hee (2505-2522) ที่มีการทุจริตเรียกเงินจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ (Chaebol) [1] แลกกับการสนับสนุนทางการเงิน
ในยุคของ Chun Doo Wan (2523-2531) มีการบังคับให้ธุรกิจบริจาคเงินเข้ากองทุน และยักยอกเงินกองทุน และคนสุดท้ายก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย คือนาย Roh Tae Woo ( 2531-2536) ก็มีการบังคับให้ Chaebol บริจาคเงินเข้า กองทุนสำหรับให้สินบนเจ้าหน้าที่ (Slush Fund) ที่ภรรยาตัวเองเป็นผู้บริหาร และเอาเงินไปซื้อข้าราชการระดับสูงที่เกษียณโดยใช้ Slush fund แจกรางวัล
จะเห็นว่าเกาหลีใต้มีปัญหาเรื่องการทุจริตมาก แต่พอพลิกจากระบบเผด็จการเป็นประชาธิปไตย ดัชนีการคอร์รัปชั่น(CPI Index) ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการปฏิรูปตั้งแต่ 2538 สมัยประธานาธิบดี Kim Young-sam (ปธน. คนแรก) จนกระทั่งประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่เพิ่งลาออกไปดัชนี CPI ดีขึ้นมาโดยตลอด
"แต่แปลกมาว่า ประธานาธิบดีทุกคนกลับมีคดีพัวพันการคอร์รัปชั่น แต่เป็นเรื่องที่มาจากคนใกล้ตัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ เพื่อนฝูงซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกมาก" ดร.เดือนเด่น ให้ข้อสังเกต พร้อมกับตั้งไว้เป็นคำถามว่า ในขณะที่การเมืองในระดับประเทศของเกาหลีพัฒนาไปข้างหน้า กรุงโซล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ กลับกลายเป็นผู้นำในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ถามว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ที่ผ่านมา กรุงโซล เจอปัญหาหนักมาก จนประชาชนทนไม่ได้ เช่น กรณีสะพาน Seongsu ถล่มเมื่อปี 2537 หรือกรณีห้างสรรพสินค้าSampoong ถล่ม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นโศกนาฏกรรมของประเทศก็ว่าได้
ทั้งหมดเกิดจากการทุจริตในการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน
ต่อมาในปี 2538 หลังเผด็จการ กรุงโซลก็มีนายกเทศมนตรีจากการเลือกตั้งคนแรก ซึ่งเข้ามาปฏิรูปครั้งใหญ่ จนทำให้โซลเปลี่ยนโฉมจากยุคเดิม
ล่าสุดในดัชนีเมืองของโลก (Global Cities Index, GCI ) เป็นการประเมินคุณภาพเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก 125 เมือง ทั่วโลก กรุงโซลอยู่ในอันดับที่ 11 ประเมินตัวชี้วัดตั้งแต่เรื่องการเมือง เรื่องการให้ข้อมูล วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทักษะแรงงาน เป็นต้น
ขณะที่ การประเมินของหน่วยงานด้านความเป็นเลิศทางเศรษฐกิจ หรือEconomist Intelligence Unit (EIU) โดยในรายงานชื่อว่า Hot Spots 2025 ซึ่งดูเรื่องอนาคตของเมือง การแข่งขัน ตั้งแต่ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเงิน คุณภาพมนุษย์ เป็นต้น กรุงโซลอยู่ในอับดับที่ 15 จาก 120 ประเทศ
อะไรที่ทำให้กรุงโซลกลายเป็นเมืองที่สามารถป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่นได้ ใช้มาตรการอะไร ?
ดร.เดือนเด่น วิเคราะห์ย้อนกลับไปเริ่มตั้งแต่ปี 2541 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปรากฏว่า กรุงโซลได้มีการทบทวนกฎหมายและสั่งยกเลิกในเรื่องการออกใบอนุญาตโดยใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ 462 ฉบับ และสั่งปรับปรุง 372 ฉบับ
ปี 2542 กรุงโซลจัดทำดัชนีการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยจ้างองค์กรอิสระมาทำการประเมิน ทั้งยังทำการสำรวจความพึงพอใจของคนในกรุงโซลราว 6.7 แสนคน โดยแจกใบประเมินการคอร์รัปชั่น (Citizen Satisfication Survey, CSS) เพื่อดูว่าคิดเห็นอย่างไร กับเรื่องคุณภาพโรงเรียน ไฟฟ้า ถนน โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น
รวมไปถึงมีการแข่งขันกันระหว่างเขตว่า เขตไหนมีคะแนนดีที่สุด
นอกจากนี้ การยื่นขอใบอนุญาตต่างๆ ก็ทำผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อตัดปัญหาการคอร์รัปชั่น การให้สินบน ดังนั้นระบบการยื่นข้อมูลจึงทำผ่านการไม่ต้องเห็นหน้าทั้งผู้ยื่นและผู้ให้ พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกอย่างให้คนเข้าถึงได้
ระบบเปิดเผย(OPEN)ที่ว่านั้นคนกรุงโซลสามารถที่ทำธุรกรรมกับรัฐได้โดยการยื่นออนไลน์ ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล ขอใบอนุญาตต่างๆ ทั้งยังสามารถติดตามว่าเรื่องถึงขั้นตอนไหนแล้ว ระบบดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของโลก ที่ต่อมาพัฒนาจนกลายเป็น Seoul Open Data ส่งผลให้ดัชนีการคอร์รัปชั่นของโซลน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
แล้วกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร เราอยู่ในจุดไหนของโลก
คำถามใหญ่ที่ ดร.เดือนเด่น ตอบผ่านงานวิจัย พบว่า ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ก็มีความพยายามในการทำงานเรื่องนี้แต่อาจไม่ถึงจุดนั้น ยิ่งหากไปดูใน Global City Index (GCI) จะพบว่า กรุงเทพฯอยู่ในอันดับที่ 41 จาก 125 เมือง และในการประเมิน Hot Spots 2025 กรุงเทพฯอยู่ในอันดับ 62 จาก120 เมืองทั่วโลก
ในมิติต่างๆ หากเทียบกับกรุงโซลจะเห็นว่า เราต่ำกว่าในทุกด้าน
แต่เรื่องที่แย่ที่สุดของเราคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ(Equity)
มาดูในเรื่องการข้อมูล ดร.เดือนเด่น ชี้ชัดว่า ตอนนี้กรุงเทพฯก็ยังไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ได้ แต่มีคำว่า ใบอนุญาตยิ้ม คือ หากยื่นคำขอไปแล้ว แล้วอยากรู้ว่าอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว เราก็สามารถใส่รหัสเพื่อเปิดดูได้ แต่เปิดไปแล้วก็พบแค่เพียง ข้อความที่ระบุว่า อยู่ระหว่างกำลังดำเนินการ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอยู่ส่วนไหน ขั้นไหน
ส่วนเรื่องข้อมูลเชิงสถิติ กรุงเทพฯมีน้อยมาก มีแต่สถิติผู้ค้าหาบเร่ รายได้จากภาษีต่างๆ เป็นต้น เทียบของกรุงโซลจากพบว่า มีข้อมูลแบ่งชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับงานประเภทไหน รายละเอียดข้อมูลระบุไว้ชัด รู้หมดว่ามีธุรกิจจดทะเบียนกี่ราย มีการจ้างงานเท่าไหร่ พื้นที่เกษตรมีเท่าไหร่
"ของกรุงเทพฯสถิติรายละเอียดหากเข้าไปดูในเว็ปไซต์ก็ไม่มี"
แม้แต่ในการประเมินความพึงพอใจของบริการสาธารณะของกรุงเทพฯ ดร.เดือนเด่น พบสิ่งที่น่าสนใจคือในส่วนของด้านบริการประชาชนไม่ได้ทำการประเมินผ่านประชาชนแต่เป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาและก็ประเมินกันเอง มีการประกวดเรื่องความพึงพอใจระดับเขต เขตไหนได้คะแนนสูงสุดก็รับไป 1 แสนบาท และหากหน่วยงานส่วนราชการไหนได้คะแนนสูงสุดก็รับไป 3 ล้านบาท
กลายเป็นว่า ไม่ค่อยมีความเป็นเอกภาพในการทำงาน ส่วนราชการก็อาจเอาตัวรอดไปก่อนเพราะเงินจูงใจเยอะกว่า
ส่วนว่าระดับความพึงพอใจของประชาชนแค่ไหน เราก็ไม่รู้เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้
การตรวจสอบการบริหารจัดการโดยใช้ Big Data การจัดซื้อจัดจ้างกรณีของงานก่อสร้างของกรุงเทพฯในยุค Big Data ภายใต้การจัดเก็บข้อมูลของศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐหรือ Data.go.th
ดร.เดือนเด่น ระบุว่าจากข้อมูลก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ จะเห็นได้ว่าบริษัทที่รับจ้างก่อสร้างในกรุงเทพฯเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในประเทศเเล้ว พบว่ากรุงเทพฯมีการผูกขาดน้อยกว่า ขณะที่หากมองลึกในระดับเขตของกรุงเทพฯจะพบว่า โครงการก่อสร้างมูลค่าตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป มีการกระจุกตัวในบางเขต(สีเข้ม)
ขณะที่โครงการก่อสร้างมูลค่าน้อยกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งที่แรกคาดว่าจะมีการกระจายตัวได้มากกว่าเนื่องจากมีบริษัทเล็กๆ แต่ก็พบว่ามีหลายเขตที่มีการผูกขาดของบริษัทก่อสร้าง
นี่คือตัวอย่างที่ว่า หากเราจะตรวจสอบจริงๆ เราสามารถดึงข้อมูลเหล่านี้มาใช้ได้เลย
“เอาเข้าจริง เราสามารถดูได้ถึงขั้นที่ว่าใช้วิธีอะไรในการจัดซื้อจัดจ้าง” ดร.เดือนเด่น ยืนยัน และอธิบายต่อถึงการจะใช้ Big Data ในการเข้ามาตรวจสอบแล้ว เรายังสามารถใช้ข้อมูลที่เรียกว่า Open Source เป็นการใช้ข้อมูลจากภายนอก เช่น You Pin ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไป สามารถปักหมุด คือถ่ายรูปแจ้งมาทางออนไลน์ถึงปัญหาในระดับพื้นที่ สามารถระบุได้อย่างชัดเจน ซึ่งประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถนำเอาข้อมูลเหล่านี้มาใช้ เราจะสามารถรู้ได้ทันทีว่า ถนนที่มีปัญหา ทางเท้าตรงนั้นใครรับผิดชอบ หมดสัญญา เงื่อนไขอย่างไร
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างการนำเอาข้อมูลต่างๆ มาทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคม เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งสามารถทำได้ในระดับเมือง อย่างเช่นตัวอย่างของกรุงโซล แล้วถ้าวันนี้กรุงเทพฯของเราจะเดินหน้าไปจุดนั้น ต้องทำอย่างไร
ดร. เดือนเด่น กล่าวทิ้งท้าย ขั้นต้นแรกต้องให้ความสำคัญแก่การเปิดเผยผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ใช้ Big Data และ ระบบออนไลน์(Platform On-line) ในการตรวจสอบผลงานและในการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นในระดับท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ เหมือนที่กรุงโซลได้ทำมา จนสามารถสร้างความโปร่งใสขึ้นมาได้
"ธรรมภิบาลในระดับเมืองคือพื้นที่ฐานของระดับประเทศ เพราะใกล้ตัวประชาชน ถ้าเราทำเรื่องระดับประเทศ เราจะรู้สึกไกลตัว แต่หากทำเรื่องที่เล็กลงมา เราทุกคนจะรู้สึกใกล้"
[1] Chaebol คือ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1920 และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1960 ถึงทศวรรษ 1990 ตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่ม Chaebol มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ และเป็นจักรกลสำคัญที่เกื้อหนุนให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ก้าวข้ามจากการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แห่งเอเชีย (Newly Industrialized Economies : NIEs) เป็นประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) จากการจัดอันดับของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เมื่อเดือนพฤษภาคม 1997 อย่างไรก็ตาม ในปี 1997 นี้เองวิกฤตการณ์ค่าเงินเอเชียที่เกิดขึ้น ส่งผลให้กลุ่ม Chaebol ในเกาหลีใต้จำนวนมากประสบปัญหาทางการเงิน กลุ่ม Chaebol จึงเริ่มลดบทบาทและความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ลง(อ้างอิงจาก: http://www.ryt9.com/s/ryt9/267796)
หมายเหตุ: ภาพประกอบ
ภาพกรุงโซลจาก http://www.chillpainai.com/
ภาพกราฟฟิกจาก TDRI