จัดระเบียบ ‘เครื่อง X-RAY ฟัน’ ทันตเเพทย์รุกต้าน ข้อเสียมากกว่าดี
ทันตแพทย์ต้านหนัก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ กระทบวิชาชีพทันตกรรม จี้ปลดล๊อก ‘เครื่อง X-RAY ฟัน’ ยันรังสีไม่อันตราย ให้ทันตเเพทยสภาเป็นผู้ควบคุมเอง
“พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ไม่เป็นไปตามข้อตกลงของภาคีระหว่างประเทศ และไม่เหมือนกับนานาอารยประเทศทำกัน จึงทำให้กฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพทางการแพทย์ที่มีการใช้เครื่องเอกซเรย์ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานและอัตราโทษที่สูงเกินความจำเป็น”
นี่เป็นข้อห่วงกังวลของ ผศ. (พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา หลังจากยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้าน เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2560 โดยยืนยันว่า เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติดี แต่ขั้นตอนกลับมิได้สอบถามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ทำให้กลายเป็นความเดือดร้อนของทันตแพทย์ทั่วประเทศ
ด้วยโทษที่มีรุนแรงมาก หากไม่มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี และบุคคลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนมาใช้เครื่องเอกซเรย์จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท นอกจากนี้กฎหมายยังบังคับให้ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อออกใบอนุญาต (License) จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มีอายุ 5 ปี
นายกทันตแพทยสภา จึงเห็นว่า กฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเพิ่มภาระให้แก่ผู้ใช้เครื่องมือทางทันตกรรม มิหนำซ้ำยังอาจเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในระบบมากขึ้น ตลอดจนสร้างผลกระทบต่อมาตรฐานวิชาชีพด้วย
ทันตแพทยสภา จึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งดำเนินการ 3 ข้อ คือ
1. พิจารณาให้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมที่มีหลอดกำเนิดรังสีทำงานด้วยความต่างศักย์ไฟฟ้าสูงสุด 60-95 kVb ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมายนี้
2. ให้เครื่องกำเนิดรังสีอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลมาตรฐานของเครื่องและความปลอดภัยในการติดตั้งและใช้งานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
3. ให้ทันตแพทยสภาเป็นผู้ควบคุมกำกับมาตรฐานการใช้เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตแพทย์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ผู้ใช้เครื่องกำเนินรังสี และประชาชน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทันตแพทยสภาได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ชี้แจงและยืนยันเรื่อยมาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติว่า มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย แต่เป็นการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี พิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ คุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์สากล
เอกซเรย์ฟัน (ที่มา:http://www.vcharkarn.com)
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อกฎหมายพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติบังคับใช้แล้ว จะมีคนเดือดร้อนหรือปฏิบัติตามได้หรือไม่ ซึ่งทุกคนเห็นด้วยที่ให้มีการควบคุมเครื่องเอกซเรย์ เพราะมีผลกระทบต่อคนให้บริการและผู้รับบริการ โดยเฉพาะบุคลากรที่มีหน้าที่ฉายรังสีจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นประจำ ส่วนผู้รับบริการจะใช้บริการเพียงครั้งคราว ฉะนั้นจึงต้องบังคับใช้กฎหมายให้มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด
ด้าน ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์องค์กร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระบุถึงความคืบหน้า ปส.กำลังจัดทำระบบ License เพื่อจะได้ดำเนินการเบ็ดเสร็จที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยไม่ต้องส่งข้อมูลผ่านทาง ปส. เพียงแค่ส่งข้อมูลมาทางระบบออนไลน์ได้เลย เพื่อความสะดวกมากขึ้น
ส่วนเรื่องบทลงโทษค่อนข้างรุนแรง รองผู้อำนวยการฯ ยอมรับว่า กำลังเป็นปัญหาและความกังวลของวงการทันตแพทย์ เพราะไม่มีการแบ่งระดับบทลงโทษอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ ข้อมูล ปส. ระบุตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิม คือ พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 เกิดกรณีฟ้องร้องน้อยมาก และส่วนใหญ่มีบทลงโทษเบา เพียงการกล่าวตักเตือน ส่วนบทลงโทษปรับมีเพียง 4 กรณี กรณีละ 5,000 บาท และไม่มีจำคุก
ขณะที่ทันตแพทย์หญิงเฉพาะทางศัลยศาสตร์ช่องปาก,ทั่วไป คลินิกทันตกรรม เขตดุสิต กรุงเทพฯ กังวลอย่างยิ่งว่า การบังคับให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (Radiation Safety Officer:RSO) มาดูแลเครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม และขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย จะยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย และเมื่อต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ภาระทั้งหมดจะถูกผลักไปตกอยู่กับผู้ป่วย นั่นจะทำให้ไม่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
“เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในคลินิกมีขนาดเล็ก ดังนั้น คงไม่คุ้ม หากต้องจ่ายค่าปรับในอัตราสูง เพียงเพราะไม่มีเจ้าหน้าที่ RSO”
จึงเห็นว่า ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยรวม และทำให้เกิดความยุ่งยากกับวงการทันตแพทย์ทั่วประเทศ
เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม (ที่มา:http://www.armydent.com)
ส่วนผู้ช่วยทันตแพทย์ รพ.ยะลา บอกว่า แต่ละวันจะต้องใช้เครื่องเอกซเรย์อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และในแต่ละครั้งจะต้องฉายแสงนาน 20-40 วินาที โดยจะใช้ในกรณีการรักษารากฟันเป็นส่วนมาก ซึ่งตลอดเวลาการทำงานมา 2 ปี ยังไม่มีใครได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรม เพราะโรงพยาบาลมีระบบรักษาความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานอย่างดี
“ก่อนเอกซเรย์ทุกครั้ง จะให้ผู้ป่วยใส่เสื้อตะกั่วเพื่อป้องกันรังสีที่ฉายออกมา จากนั้นผู้ช่วยทันตแพทย์จะปิดประตู และออกมากดเครื่องเอกซเรย์ด้านนอก” ผู้ช่วยทันตแพทย์ รพ.ยะลา กล่าว และว่ายกเว้นผู้ป่วยเป็นเด็ก ผู้ช่วยทันตแพทย์จึงจะอยู่ด้านใน แต่ยืนยันว่า เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ทางทันตกรรมมีรังสีน้อยที่สุดในจำพวกเครื่องเอกซเรย์ทั้งหมด
สุดท้าย ผู้ใช้บริการทางด้านทันตกรรมรายหนึ่ง เชื่อว่า เครื่องเอกซเรย์ทางทันตกรรมไม่มีอันตรายต่อผู้รับบริการ เพราะตลอดเวลา 4 ปี ที่เข้ารับบริการทางทันตกรรม ไม่เคยได้รับผลกระทบจากรังสีที่มากับอุปกรณ์ทางทันตกรรมนี้
“การเอกซเรย์ทุกครั้ง หมอจะมีระบบรักษาความปลอดภัย โดยใส่ชุดคลุม ถุงมือ และผ้าปิดปาก และใช้เวลาในการฉาย 3-5 นาที ซึ่งขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้บริการของผู้ป่วยนั่นเอง” เธอระบุ
คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว ข้อเรียกร้องและข้อกังวลที่มีต่อ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 จะได้รับการดำเนินการแก้ไข ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อวิชาชีพในวงกว้าง หากสอดคล้องกับสากลจริง ไฉนทันตแพทย์จึงต่อต้านหนัก!!! .
อ่านประกอบ:พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559