13 ปีกรือเซะ...ไฟใต้วนสู่จุดเดิม
วันที่ 28 เมษายนในบริบทของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเรียกขานว่า “เหตุการณ์กรือเซะ”
เพราะวันนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว เป็นวันที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง เมื่อมีกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมซึ่งส่วนใหญ่มีเพียงกริช มีด และของมีคมเป็นอาวุธ กระจายกันบุกเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจของเจ้าหน้าที่รวม 11 จุดในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี และสงขลา
จุดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ “มัสยิดกรือเซะ” มัสยิดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี เฉพาะจุดนี้จุดเดียวมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ศพ และเหตุการณ์ในวันนั้นมีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตมากถึง 109 คน ถือเป็นเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่วันปล้นปืน 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมา
แม้จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์จะไม่ได้เกิดจากฝ่ายรัฐ แต่เมื่อรัฐใช้วิธีการจัดการด้วยความเด็ดขาดรุนแรง โดยเฉพาะการใช้อาวุธหนักยิงเข้าไปในมัสยิดเก่าแก่ ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นอีกหนึ่ง “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ของคนในพื้นที่
มัสยิดกรือเซะในบริบทของปัญหาชายแดนใต้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งโศกนาฏกรรมและความรุนแรงด้วย
บรรยากาศบริเวณมัสยิดกรือเซะในวันครบรอบ 13 ปีของเหตุการณ์ร้าย ยังคงมี ครอบครัวผู้สูญเสียเดินทางไปเยี่ยมเยือนและรำลึกความหลัง หลายคนยังคงร้องไห้ มีความรู้สึกเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ตั้งใจไว้แล้วว่าจะเข้มแข็ง แต่พอหันไปเห็นลูกประคำที่แขวนอยู่บริเวณมัสยิด ภาพเหตุการณ์วันนั้นมันก็หลอนเข้ามา รู้สึกสะเทือนใจ เจ็บปวดในใจ แต่ก็ต้องยอมรับความจริง” เป็นเสียงของ คอรีเยาะ หะหลี หญิงสาวจากบ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งสูญเสียพ่อไปในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน
เธอบอกด้วยว่า เหตุการณ์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องทำใจว่านี่คือความประสงค์ของอัลลอฮ์
“แม้เวลาจะผ่านมา 13 ปี แต่ลึกๆ แล้วทุกคนไม่ลืม มันลืมยาก ก็ขอให้สู้ต่อไป และประคับประคองครอบครัวที่เหลืออยู่ให้มีชีวิตที่ปลอดภัยและดีกว่าเดิม” คอรีเยาะ กล่าว
ผู้สูญเสียในเหตุการณ์กรือเซะ 108 คนจาก 109 คนเป็นพลเรือนและชาวบ้านทั่วไป ทำให้ในยุคหนึ่ง รัฐบาลตัดสินใจเยียวยาด้วยเงินจำนวนมากเป็นพิเศษ แต่ผลจากการเยียวยาในรูปของตัวเงิน หลายๆ ครั้งก็ให้บทเรียนที่ไม่ดีนัก
“หลายคนที่ได้เยียวยา ก็เอาเงินไปซื้อสวนยาง พอราคาตก ความเดือดร้อนเริ่มถามหา ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละวันค่อนข้างสุง ลูกเรียนหนังสือต้องเสียค่าเทอมทุกเทอม ปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ”
การแก้ปัญหาปากท้องควบคู่กันไปด้วย น่าจะเป็นทางออกของสถานการณ์ในมุมมองของคอรีเยาะ
"ทุกวันนี้สิ่งที่ชาวบ้านกังวลมากที่สุดคือเรื่องปากท้อง คนที่มีหน้าที่แก้ปัญหาก็ต้องถือว่ายังสอบตกอยู่ คนในพื้นที่ส่วนมากเขามีอาชีพกรีดยาง ทำนา แต่พอราคายางไม่ดี ทำนาไม่ได้ ไม่มีน้ำ ปัญหาก็เริ่มเกิด รัฐก็ยังหาวิธีแก้ไม่ได้"
ส่วนปัญหาความไม่สงบที่ดูจะซ้ำเติมปัญหาด้านอื่นๆ ที่ผู้คนต้องเผชิญอยู่แล้ว คอรีเยาะ บอกว่า ชาวบ้านเริ่มชินกับเหตุการณ์ วันไหนเกิดเหตุมองว่าปกติ แต่ถ้าวันไหนไม่มีเหตุ กลับมองเป็นเรื่องไม่ปกติ
เหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน เมื่อ 13 ปีที่แล้ว มีคนที่ไม่เสียชีวิตและถูกจับกุมดำเนินคดี 1 คน คือ นายอับดุลรอนิง เจ๊ะเลาะ และถูกศาลสูงสั่งลงโทษ ท่ามกลางการคัดค้านและเรียกร้องความเป็นธรรมจากครอบครัว
ซีตีนอร์ เจ๊ะเลาะ ภรรยาของนายอับดุลรอนิง บอกว่า 13 ปีที่สามีสูญเสียอิสรภาพ ครอบครัวขาดเสาหลัก ตอนนี้ไม่คิดอะไรมากแล้ว แค่รอวันที่สามีจะพ้นโทษออกมา คาดว่าใช้เวลาอีกไม่นาน เนื่องจากเป็นนักโทษชั้นดี
บรรยากาศที่มัสยิดกรือเซะ นอกจากจะมีครอบครัวของผู้สูญเสียไปรำลึกอดีตกันแล้ว ยังมีประชาชนที่พักอาศัยอยู่รอบๆ เดินทางไปประกอบพิธีละหมาดตามปกติ ประชาชนชนบางส่วนให้ความสนใจกับรอยกระสุนที่ป้ายชื่อและตัวมัสยิด
ด.ช.อัสมิง (สงวนนามสกุล) นักเรียนตาดีกาในพื่นที่ จ.นราธิวาส บอกว่า “วันนี้ครบรอบ 13 ปี หตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ครูอุสตาซพามาเยี่ยมมัสยิด มาดูรอยกระสุนที่สยามยิงชาวบ้าน นอกจากนั้นสยามยังเอาปืนใหญ่ปลอมของปัตตานีมาไว้ที่นีด้วย แต่ถูกคนที่นี่ระเบิดใส่เพราะไม่ต้องการปืนปลอม"
ดูเหมือนปัญหาชายแดนใต้จะยังคงหมุนวนอยู่บนหนทางคดเคี้ยวสายเดิมๆ...
-------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1,3 บรรยากาศที่มัสยิดกรือเซะ
2 กลุ่มสตรีผู้สูญเสียไปรวมตัวรำลึกความหลัง