นายกฯหยุดถนนเขาใหญ่ กม.11-23 เดินหน้าต่อ กม.2-10 ชาวบ้านเตรียมฟ้องศาล
โครงการขยายถนนเขาใหญ่ นายกฯสั่งหยุด กม.11-23 แต่เดินหน้าต่อ 4 เลน กม.2-10 ก.คมนาคมยังยืนยันทำเพื่อประโยชน์ชาวบ้าน-แก้จราจร หาก ทส.ไม่พอใจให้ไปแก้ กม. กรมป่าไม้จี้ต้องมีคนรับผิดชอบต้นไม้ที่ถูกตัด ยื่นฟ้องคดีแพ่งกรมทางหลวง คณะกรรมาธิการทรัพยากรฯ เสนอรัฐบาลทบทวนทั้งโครงการ ชาวบ้านกลุ่มรักษ์เขาใหญ่เตรียมฟ้องศาลปกครอง ภาค ประชาชนทำหนังสือร้อง 2 สภาตรวจสอบความโปร่งใสและผลกระทบชุมชน-สิ่งแวดล้อม
วันนี้(9มิย.) ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา“การขยายถนนในพื้นที่ ป่า กรณีเขาใหญ่” ที่สมาคมนักข่าวฯ จากกรณีโครงการขยายถนนธนะรัชต์ ทางหลวง 2090 ช่วงรอยต่ออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ที่เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ คัดค้านว่าทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่สมเหตุ นายสุจริต ทิพยเกษร ผู้อำนวยการกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม กรมทางหลวง กล่าวว่าถนนดังกล่าวก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2504 ก่อนประกาศเขตอุทยานฯปี 2505 ระยะทาง 23.7 กม. ซึ่งโครงการที่เป็นปัญหาขณะนี้เป็นการขยายถนนออกไปข้างละ 3.5 เมตร เพื่อให้เป็น 4 เลน อำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน เพื่อลดอุบัติเหตุและแก้ปัญหาการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 8,000 คันต่อวัน
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่าพื้นที่อนุรักษ์ อยู่รอบอุทยาน 2-3 กม. ซึ่งถนนดังกล่าวอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ กรมป่าไม้ไม่ได้คัดค้านสร้างถนน แต่ถนนเส้นดังกล่าวเป็นประตูเข้าสู่มรดกโลกคือป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่จึงต้อง ตรวจสอบ และกรมทางหลวงต้องอธิบายให้ได้ว่าการตัดต้นไม้สำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะไม้ที่มีราคาทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นสัก ประดู่ มะค่า ไปไหน ต้องเร่งหาผู้รับผิดชอบต้นไม้ที่สูญเสียไป
นายนริศ ขำนุรักษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ไม้มีค่าหลายชนิดมีข้อกำหนดว่าหากจะตัดต้องผ่านการอนุญาตทั้งสิ้น เช่น ประดู่ มะค่า พะยูง สัก แต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(อ.อ.ป.) ยืนยันว่าการไถที่ดินดังกล่าวบริษัทรับเหมาเป็นผู้ทำ ซึ่งกรมทางหลวงยังไม่ได้อนุญาตให้ดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นด้วยที่กรมป่าไม้จะแจ้งความคดีแพ่งกรมทางหลวง เพราะทั้งสองกรมต่างรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ แต่วันตัดไม่ได้บอกกล่าวแต่อย่างใด
นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ถนนไม่เพียงแบ่งแยกป่าออกจากความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ แต่ยังเป็นปัจจัยให้มนุษย์เข้าไปในพื้นที่ได้ง่ายขึ้น เกิดสิ่งก่อสร้างและความเจริญตามมา ที่ผ่านมากรมอุทยานฯทำการวิจัย “ปิดป่าตอนกลางคืน” พบว่า มีผลกระทบต่อรถเพียง 16 % แต่สามารถช่วยชีวิตสัตว์ได้ถึง 59.71%
ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการส่วนศึกษาและวิจัยอุทยาน แห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทส. กล่าวว่า การสร้างถนนในพื้นที่อุทยานฯและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีมาตรการกำหนดไว้ชัดเจนคือ 1.ห้ามมิให้ตัดถนนสัญจรสาธารณะขึ้นใหม่ 2.ไม่ให้ขยายเส้นทางสาธารณะเดิมที่มีอยู่แล้ว 3.การปรับปรุงผิวจราจรให้ทำเพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก 4.การพัฒนาถนนเพื่อประโยชน์คุ้มครองรักษาพื้นที่ วิจัย ท่องเที่ยว การศึกษา ให้ทำเท่าที่จำเป็นและคำนึงถึงผลกระทบและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ แต่กรณีที่เกิดขึ้นอยู่นอกเขตอุทยานฯ จึงต้องใช้ดุลยพินิจว่าเป็นพื้นที่แบบไหน
นายเกรียง ฤทธิเจริญ หัวหน้ากลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า วันนี้ชาวบ้านแบ่ง เป็น 2 ฝ่าย กลุ่มหนึ่งอยากให้ขยายถนนเพราะมองว่าจะนำความเจริญเข้าหมู่บ้าน ขณะที่ชาวบ้านอีกกลุ่ม รวมทั้งชาวเมืองโคราช คนนอกและนักท่องเที่ยวไม่ต้องการให้ขยายถนน เพราะมองว่ากระทบสิ่งแวดล้อม คืออยากรักษาสภาพป่ามรดกโลกเขาใหญ่ไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด กลุ่มหลังนี้ได้รวมตัวกันและทำหนังสือยื่นวุฒิสภา และกำลังหาแนวทางฟ้องดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อไป
“กำลังคุยว่าจะฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่ ความจริงแล้วการขยายถนนธนะรัชต์ไม่จำเป็น เพราะทำไปก็แก้ปัญหารถติดไม่ได้ ขยายตรงนี้เป็น 4 เลน ก็ต้องไปเป็นคอขวดที่ทางเข้าอุทยานฯอยู่ดี กรมทางหลวงน่าจะเอางบไปประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวไปขึ้นเขาใหญ่ด้าน ปราจีนฯดีกว่า เพราะถนนมันดีอยู่แล้ว”
ในวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงกิโลเมตร(กม.)ที่ 2-10 ซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานฯ ไกลจากด่านประมาณ 13 กม. และเริ่มดำเนินการไปแล้ว ให้กระทรวงคมนาคมและ ทส.ไปตกลงกันเรื่องรูปแบบถนนซึ่งในเบื้องต้น ทส.ก็ไม่ขัดข้องที่จะเป็น 4 เลน นอกจากนี้ต้องมีแผนฟื้นฟูข้างทางที่ชัดเจน ไม้ที่ตัดมาแล้วห้ามนำไปใช้ประโยชน์อื่นนอกจากอุทยานฯ แต่ในส่วนของโครงการต่อเนื่อง กม.ที่ 11-23 ให้ยกเลิก และจะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้กำหนดพื้นที่เขาใหญ่เป็นเขตควบ คุมสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการตัดต้นไม้ที่ผ่านมา ส่วนการขยายถนนในลักษณะเดียวกันให้ ทส.ไปดูว่าจะปรับปรุงแนวทางอย่างไร และที่กลุ่มอนุรักษ์เรียกร้องให้หยุดขยายถนนทั้งหมดซึ่งน่าจะกระทำได้เพราะ ยังไม่มีการลาดยาง นายกฯกล่าวว่าได้ให้ทั้ง 2 กระทรวงรับฟังเหตุผลของกลุ่มต่างๆและไปดูความเหมาะสม เพราะมีโครงการลักษณะเดียวกันค่อนข้างเยอะ แต่ที่ละเอียดอ่อนเพราะคนรู้สึกว่าที่นี่เป็นเขาใหญ่ ซึ่งกระทรวงคมนาคมพยายามบอกว่าจริงๆแล้วมันห่างจากแนวกันชนอุทยานฯ แต่เมื่อมองว่ายังเป็นปัญหาจึงกำลังประกาศเขตควบคุมให้ใกล้เข้ามาอีก
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ามติ ค.ร.ม.ล่าสุดยังคงให้กรมทางหลวงดำเนินการต่อในช่วง กม.2-10 ซึ่งกระทรวงยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดระเบียบใด หาก ทส.เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ต้องไปแก้ระเบียบ ส่วนปัญหาระหว่างชาวบ้านที่มีความเห็นต่างกัน 2 ฝ่าย ก็จะลงไปทำความเข้าใจ และเชื่อว่าชาวบ้านจะยอมรับได้เพราะทำเพื่อประโยชน์ชาวบ้าน
และที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการขยายถนนเพราะกระทบมรดกโลก และทำให้ปริมาณรถขึ้นเขาใหญ่เพิ่มขึ้นจนเกินขีดความสามารถรองรับ สวนทางกับนโยบายจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยงในอุทยานฯ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนโครงการทั้งหมด ซึ่งหมายถึงช่วง กม.ที่ 2-10 ด้วย เพราะช่วง กม. 7.5 มีการระเบิดภูเขาเพื่อขยายเส้นทาง ในอนาคตอาจมีปัญหาเรื่องดินถล่ม ขณะที่นาย เกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม กล่าวว่าช่วง กม.ที่ 10-23 ไม่ควรทำเพราะเป็นต้นทางขึ้นเขาใหญ่มีต้นไม้มาก แต่ช่วง กม.2-10 ควรเร่งให้เสร็จเพื่อแก้ปัญหาจราจร ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าชาวบ้านไม่ได้คัดค้านแต่ต้องการ และทุกขั้นตอนก่อนดำเนินโครงการได้เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน
ทั้งนี้เมื่อวานนี้ เครือข่ายประชาชนอนุรักษ์มรดกโลกเขาใหญ่ ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ วุฒิสภา และ ขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสและผลกระทบของโครงการ โดยระบุว่าข้ออ้างขยายถนนเป็น 4 เลนเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดวันหยุดนั้นไม่สมเหตุผล แต่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมรดกโลกเขาใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของวิถี ชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้บริเวณ กม.2-8 มีการตัดต้นไม้ใหญ่สองข้างทางที่มีทั้งต้นไม้ใหญ่อายุร่วมร้อยปี ต้นไม้หายาก และอุโมงค์ต้นไม้ซึ่งมีระยะทางกว่า 1 กม. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์เขาใหญ่ทั้งตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ความเจริญที่เข้ามาพร้อมกับการขยายถนนจะทำให้นักลงทุนและระบบทุน เข้ามารุกไล่ชุมชนจนยากจะรักษาวิถีชีวิตและฐานทรัพยากรท้องถิ่นไว้ได้.
ภาพประกอบจาก www.facebook.com/หยุดขยายถนนบนเขาใหญ่