ข้อมูลใหม่ บ.ซอฟท์แวร์ รับจ้างขนสินค้า 52 ล. ผู้ถือหุ้นโดนแจ้งชื่อทิ้งงาน ก.ยุติธรรม10ล.
พบข้อมูลใหม่ ผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 2 บ.ขายซอฟท์แวร์ รับจ้างขนสินค้าท่าเรือแหลมฉบัง ชั่วคราว 7 เดือน 52 ล. โดน ก.คลัง แจ้งหนังสือเวียนชื่อทิ้งงานประกวดราคาซื้อโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบอีเมล์ ก.ยุติธรรม 10 ล้าน
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในช่วงเดือน มี.ค.2560 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เหตุใดท่าเรือแหลมฉบัง จึงต้องดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยวิธีพิเศษ เข้ามารับจ้างงานบริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟเป็นการชั่วคราว ระยะเวลา 7 เดือน วงเงินกว่า 52 ล้านบาท โดยปรากฎชื่อ บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจซื้อขายซอฟท์แวร์ และมีรายได้ในปี 2558 เพียงแค่ 3 แสนบาท เป็นผู้รับจ้าง
ทั้งที่ ในปัจจุบัน บริษัทเอกชนที่มีประสบการณ์ในการให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟในประเทศไทย มีจำนวนกว่า 6 ราย
เบื้องต้น เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ว่า การว่าจ้างงานโครงการนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ใช้วิธีพิเศษ มีการตั้งคณะกรรมการจัดจ้างขึ้นมาดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบการท่าเรือแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2543 โดยมีการเชิญเอกชน 3 ราย เข้าเป็นผู้ร่วมเสนอราคา ได้แก่ บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด บริษัท เอส ซี จี โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ทีไลน์ ทรานสปอร์ต จำกัด
อย่างไรก็ตาม บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด แจ้งว่า ได้ทำการจดทะเบียนกิจการร่วมค้าใหม่ และขอเข้าร่วมดำเนินการในนามกิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด และบริษัท โกลบอล อินเตอร์ จำกัด โดย บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการหลัก ส่วนบริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ให้การสนับสนุนในด้านการจัดทำระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ซึ่งคณะกรรมการจัดจ้างฯ ได้พิจารณาราคาของ กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล พบว่าเสนอราคาต่ำสุด และได้ลงนามว่าจ้าง กิจการร่วมค้า บูรพา เทอร์มินอล ส่วนเหตุผลที่ปรากฎชื่อ บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เข้ามาร่วมรับงานด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ทำธุรกิจขนส่งสินค้าโดยตรงก็ตาม เป็นเพราะงานนี้ต้องใช้ระบบซอฟท์แวร์ ร่วมด้วย
(อ่านประกอบ : ลุยสอบท่าเรือแหลมฉบัง ใช้วิธีพิเศษจ้าง บ.ขายซอฟท์แวร์ รับงานขนสินค้า7เดือน52 ล.,เทียบชัดๆ6เอกชนvs.บ.ขายซอฟท์แวร์ ก่อนท่าเรือแหลมฉบังใช้วิธีพิเศษจ้างขนสินค้า 52 ล.)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า นาง อัญชลีพร อภิศิตสวัสดิ์ กรรมการผู้มีอำนาจและผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด เคยใช้นามสกุลเดิมว่า 'หรูสกุล' ซึ่งเป็นนามสกุลเดียวกับ 'นาวาเอก เบญจพล หรูสกุล เลขานุการของ พลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
โดยจากการสืบค้นข้อมูลในทะเบียนราษฎร พบว่า บุคคลทั้ง 2 มีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องกัน นางอัญชลีพร มีสถานะเป็นพี่สาว ส่วน นาวาเอก เบญจพล เป็นน้องชาย
(อ่านประกอบ : ใช้นามสกุลเดียวเลขาฯปธ.กทท.!เปิดตัวเจ้าของบ.ซอฟท์แวร์ ได้งานวิธีพิเศษขนสินค้า52ล., ค้นทะเบียนราษฎรไขสัมพันธ์ลึก'นามสกุล'เลขาฯปธ.กทท.-เจ้าของบ.ซอฟท์แวร์ ที่แท้พี่น้องกัน!)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ นายพลวศุตม์ มหาเอี่ยมศิริ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด รองจาก นางอัญชลีพร พบว่า นายพลวศุตม์ มหาเอี่ยมศิริ พร้อมด้วย นายวิสูตร ทัศน์เอี่ยม และบริษัท โอจีเอ ซีนคอม จำกัด เคยถูกกระทรวงการคลัง ทำหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานราชการ ว่า เป็นผู้ทิ้งงานหน่วยงานรัฐ จากการประกวดราคาซื้อโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบอีเมล์ กระทรวงยุติธรรม ระยะที่1 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ วงเงิน10 ล้านบาท ของสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ในช่วงปลายเดือนต.ค.2557ที่ผ่านมา (ดูหนังสือแจ้งเวียนประกอบ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือกระทรวงการคลังแจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานฉบับนี้ สืบค้นได้จากเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง ขณะที่ในหนังสือฉบับนี้ ระบุที่อยู่ของ นาย พลวศุตม์ มหาเอี่ยมศิริ คือ 548 ถนนสุคนธสวัสดิ์ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่อยู่ใกล้เคียงกับที่อยู่ของ นาง อัญชลีพร คือ เลขที่ 546 ถนนสุคนธสวัสดิ์ แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ และถูกใช้เป็นที่ตั้ง บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ตามที่นำเสนอข้อมูลไปก่อนหน้านี้
ขณะที่จากการตรวจสอบเอกสารจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด พบว่า นาย พลวศุตม์ มหาเอี่ยมศิริ เคยใช้ชื่อเดิมว่า นายวิศรุต ทัศน์เอี่ยม ก่อนจะแจ้งเปลี่ยนชื่อและนามสกุลมาเป็น นาย พลวศุตม์ มหาเอี่ยมศิริ และเคยแจ้งใช้ที่อยู่เดียวกับนาง อัญชลีพร และนายวิสูตร ทัศน์เอี่ยม (ถูกกระทรวงการคลังแจ้งชื่อว่าเป็นผู้ทิ้งงานด้วย) คือ เลขที่ 17/154 หมู่ที่ 1 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ขณะที่ในเอกสารแจ้งเปลี่ยนชื่อ และนามสกุลของ นาย พลวศุตม์ มหาเอี่ยมศิริ ระบุว่า นายวิสูตร ทัศน์เอี่ยม มีความสัมพันธ์เป็นบิดา ของ นาย พลวศุตม์
ส่วนมารดา คือ นาง อัญชลีพร นั่นเอง (ดูเอกสารประกอบ)
ส่วนข้อมูลนี้ จะมีผลอะไรต่อการที่บริษัท บูรพา เทอร์มินอล จำกัด ปรากฎชื่อเข้าไปรับงานขนส่งสินค้า 52 ล้านบาท ของท่าเรือแหลมฉบังหรือโดยวิธีพิเศษ หรือไม่นั้น
คงเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และกระทรวงคมนาคมในหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแล กทท. ที่จะต้องเป็นผู้พิจารณา?
อ่านประกอบ :
ลุยสอบท่าเรือแหลมฉบัง ใช้วิธีพิเศษจ้าง บ.ขายซอฟท์แวร์ รับงานขนสินค้า7เดือน52 ล.
เทียบชัดๆ6เอกชนvs.บ.ขายซอฟท์แวร์ ก่อนท่าเรือแหลมฉบังใช้วิธีพิเศษจ้างขนสินค้า 52 ล.
ใช้นามสกุลเดียวเลขาฯปธ.กทท.!เปิดตัวเจ้าของบ.ซอฟท์แวร์ ได้งานวิธีพิเศษขนสินค้า52ล.
ค้นทะเบียนราษฎรไขสัมพันธ์ลึก'นามสกุล'เลขาฯปธ.กทท.-เจ้าของบ.ซอฟท์แวร์ ที่แท้พี่น้องกัน!