ต่อลมหายใจกังหัน...ปั้นน้ำให้เป็น...“เกลือ”
เปิดผลสำเร็จโครงการปลุกพลัง...ฅนรักนาเกลือ จ.สมุทรสงคราม ภายใต้หลักการเรียนเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หวังต่อยอดภูมิปัญญาไม่ให้หายสาบสูญ
หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับ “การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ที่ให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ขณะที่ผู้สอนมีหน้าที่เป็น “โคช” คอยชี้แนะ อำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กจดจำบทเรียนได้ดี สิ่งที่ดียิ่งกว่าคือ “ทักษะชีวิตจากการลงมือทำ” ที่จะเป็นทุนชีวิตให้เด็กเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งกายและใจ แต่ความยากอย่างหนึ่งของรูปแบบดังกล่าวคือ จะพาเด็กให้ “ออกแบบกระบวนการเรียนรู้” ในเรื่องที่ตัวเองอยากรู้ได้อย่างไร
และนี่คือหนึ่งตัวอย่างของ “กระบวนการสร้างความรู้และความรัก” หลังจากที่ จิมมี่-ธีรเมธ เสือภูมี บิ๊ก-กิตติวุฒิ อ่อนอุระ เกมส์-กฤษฎาพงศ์ วงศ์แป้น เกน- ภาณุพงศ์ เกิดน้อย คัง-วุฒิชัย คชสาร และต๊ะ-พิคเนศ เทียมแสงอรุณ ได้เข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยการชักชวนของ อาจารย์พยอม ยุวสุต
จิมมี่ที่ครอบครัวประกอบอาชีพนาเกลือและเห็นความเปลี่ยนแปลงของนาเกลือมาโดยตลอด จึงลองเสนอไอเดียให้ทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์นาเกลือ อีกหนึ่งภูมิปัญญาที่กำลังจะเลือนหายไปจากจังหวัดสมุทรสงคราม เพราะความเปลี่ยนแปลงในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของผู้คนที่เปลี่ยนไป ซึ่งเพื่อน ๆ ก็ตอบตกลง จนเกิดเป็น โครงการปลุกพลัง...ฅนรักนาเกลือ
แม้จะมีเป้าหมายอยู่ในใจว่าอยากทำเรื่องนาเกลือ แต่ทีมงานกลับไม่มีความชัดเจนว่า ต้องทำกิจกรรมอย่างไร ที่ไหน กับใคร จึงจะ “ปลุกพลังให้คนรักนาเกลือได้” ทีมพี่เลี้ยงในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ มองเห็นความคลุมเครือดังกล่าว จึงใช้ “กระบวนการตรวจสอบความคิด” ด้วยการดาหน้าเข้ามาตั้งคำถามว่า ทำไมต้องทำโครงการนี้ บริบทของพื้นที่เป็นอย่างไร และศักยภาพของทีมงานพร้อมไหม เพื่อกระตุ้นทีมงานให้ย้อนคิดและวิเคราะห์โจทย์โครงการของตัวเองอย่างชัดเจน ทว่าการต้องคิดและวิเคราะห์หลายต่อหลายรอบ ทำให้ทีมงานเริ่มสับสนและท้อแท้ใจ
เมื่อ พวงทอง เม้งเกร็ด หนึ่งในทีมพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เห็นอาการท้อแท้ใจ จึงพาทีมงานเรียนรู้ “กระบวนการวางแผนพัฒนาโครงการ” สำรวจทุกข์และทุนของชุมชนทีละขั้นตอน เพื่อให้น้องค่อยๆ คิดและเชื่อมโยงเป็นภาพรวมโครงการ จนทีมงานมองเห็นว่า กระบวนการเรียนรู้ที่พวกเขาออกแบบไว้ยังขาด “ความเป็นไปได้จริง” เพราะคิดแค่อยากทำ แต่ไม่ได้คิดให้ไปสุดทางว่าจะทำในทิศทางไหน และต้องมีเงื่อนไข 3 อย่างประกอบด้วย นั่นคือ ระยะเวลา งบประมาณ และศักยภาพของตัวเอง
“สิ่งที่พี่พวงพาคิดพาทำ ทำให้รู้ว่าการทำโครงการจะประสบผลสำเร็จได้ ประเด็นต้องไม่กว้างจนเกินไป โดยระบุไปเลยว่า ปัญหาคืออะไร แล้วเราจะแก้ไขอย่างไร จะทำกิจกรรมอะไร ทำกับใคร ที่ไหน คิดไปทีละขั้นๆ เพื่อทำให้โจทย์และแผนงานแคบลง” จิมมี่ เล่า
หลังผ่านการขัดเกลาจากพี่เลี้ยงโครงการ และการย้อนคิดทบทวนถึงเป้าหมายโครงการ ในที่สุดแผนงานของโครงการปลุกพลัง...ฅนรักนาเกลือจึงมีความชัดเจนมากขึ้น นั่นคือปลุกจิตสำนึกเยาวชนให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการทำนาเกลือ เพราะคิดว่าต้องปลูกฝังกับเด็กๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป ทีมงานจึงออกแบบกิจกรรมด้วยการลงไปเรียนรู้กับคนทำนาเกลือตัวจริงเสียงจริง ในตำบลลาดใหญ่ ซึ่งเป็นบ้านของจิมมี่ที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม 8 กิโลเมตร
“การทำงานเริ่มจากการเดินหน้าประชาสัมพันธ์หาผู้เข้าร่วมกิจกรรม จนได้ผู้สนใจทั้งหมด 23 คน จากนั้น “เตรียมความพร้อมภายนอก” ด้วยการประสานงานกับผู้รู้ในชุมชนลาดใหญ่ และ “เตรียมความพร้อมภายใน” ด้วยการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับนาเกลือเพื่อเพิ่มความรู้ให้ตัวเอง” จิมมี่ เล่า
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นชื่อว่า “ปั้นน้ำเป็นเกลือ” ที่พาผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟจากสถานีแม่กลองถึงสถานีลาดใหญ่ ไปเรียนรู้การทำนาเกลือ ซึ่งระหว่างทางผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เห็นทิวทัศน์ 2 ข้างทาง แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดที่สะท้อนความรู้สึกต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพของสมุทรสงคราม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ใคร่ครวญถึงการหายไปของนาเกลือด้วยตัวเองก่อน จากนั้นจะได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตการทำนาเกลือจากปราชญ์ชาวบ้านผ่านการลงมือทำจริง
เมื่อกิจกรรมเสร็จสิ้น ทีมงานพาผู้เข้าร่วมสรุปผลการทำกิจกรรมด้วยคำถามง่ายๆ 6 ข้อ ได้แก่ ตาได้เห็นอะไร ปากได้ถามอะไร สมองได้อะไร หูได้ยินอะไร จมูกได้กลิ่นอะไร และได้สัมผัสอะไร ซึ่งผู้เข้าร่วมต่างบอกคล้ายกันว่า ประทับใจที่ได้สัมผัสกับชีวิตชาวนาเกลือ และอยากให้นาเกลือที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดคงอยู่ต่อไป
ความสำเร็จของกิจกรรมดังกล่าวคือ ภาพสะท้อนถึงความสำคัญของกระบวนการออกแบบโครงการ ที่พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ได้พาทีมงาน ”คลี่โจทย์” ที่ “อยากทำ” ให้เห็นสิ่งที่ “ต้องทำ” อย่างชัดเจน กระทั่งทีมงานสามารถนำมาวางแผนการดำเนินกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายได้ และผลจากการลงมือทำครั้งนั้นยังทำให้ทีมงานเกิด “ความรู้” ควบคู่กับ “ความรัก” จนนาเกลือที่เคยมองผ่านเลยด้วยความรู้สึกเฉยชา กลับถูกรับรู้ด้วยมุมมองใหม่ที่ตระหนักและซาบซึ้งถึงคุณค่าอย่างเต็มหัวใจ และกลายเป็นอีกความหวังที่ยืนหยัดรักษาไม่ให้ภูมิปัญญาการทำนาเกลือหายไป.