ป.ป.ช.ถกร่วมออสเตรเลียแก้ปัญหาทุจริตค้ามนุษย์-สอบเอาทรัพย์สินคืนด้วย
หน่วยงานภาครัฐไทย-ป.ป.ช. ถกร่วมสำนักงานอัยการออสเตรเลีย แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ หลังพบมีการทุจริตเข้าไปเกี่ยวข้อง เหตุ จนท.รัฐ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ เสนอให้ไล่บี้เอาทรัพย์สินกลับคืนสู่แผ่นดินด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2560 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ ถ.สุขุมวิท สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสำนักงานอัยการแห่งสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย จัดงานประชุมต่อต้านการทุจริตและอาชญากรรมระหว่างประเทศ เรื่อง ‘การต่อต้านการทุจริต : ปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์’ โดยมีตัวแทนหน่วยงานรัฐเข้าร่วม เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) สำนักงาน ป.ป.ช. และตัวแทนจากสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และนายพอล โรบิลลิอาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย
สำหรับวัตถุประสงค์ในการประชุมดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการทุจริตในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมการค้ามนุษย์ รวมถึงเพื่อตรวจสอบความเสี่ยงในการทุจริตในภาคส่วนความยุติธรรมทางอาญา และพิจารณาเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเปิดโอกาสให้หน่วยงานผู้เข้าร่วมได้พิจารณาประเด็นทางกฎหมายที่ต้องปฏิรูป
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง สรุปได้ว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศที่มีการทุจริตเข้าไปเกี่ยวข้อง รัฐบาลไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว รวมทั้งกำหนดระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์ส่วนของ ป.ป.ช.พร้อมจะสนับสนุนการดำเนินคดีทุจริตที่มีความเชื่อมโยง ทั้งนี้การสัมมนาครั้งนี้เป็นการทำให้เห็นว่าปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์เกี่ยวข้องกับการทุจริต เพราะจะมีข้าราชดารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการนำคนเหล่านี้เข้ามาภายในประเทศ ซึ่งทางออสเตรเลียได้จัดสัมมนาในเรื่องนี้กับทุกประเทศในอาเซียน นอกจากนั้นทางออสเตรเลียยังเสนอให้มีการติดตามทรัพย์สินที่ได้มาจากการค้ามนุษย์คืนเช่นเดียวกับกรณีของการทุจริตข้ามชาติอื่น ๆ ด้วย
ส่วนนายพอล โรบิลลิอาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างยั่งยืนจะต้องจัดการกับสิ่งที่ทำให้ก่อความผิด เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มีเจ้าน้าที่ของรัฐเป็นกลไกสำคัญที่ลักลอบนำคนเข้ามาและการฟอกเงิน จะต้องมีการสอบสวนและติดตามเหล่านั้นกลับคืนมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดการปัญหาที่เป็นต้นตอเหล่านี้ออกไปให้ได้ นอกจากนี้ต้องทำให้แน่ใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะได้รับความคุ้มครอง เพื่อให้นำไปสู่การติดตามเอาผิดตัวการใหญ่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงสัมมนาเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปร่วมฟังแต่อย่างใด